เรียนรู้นอกห้องเรียน
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การพัฒนาทักษะและศักยภาพของเยาวชนไทยไม่อาจอาศัยการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวอีกต่อไป แนวคิดเรื่องการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) การเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) สหกิจศึกษา (Cooperative Education หรือ Co-op) การทำงานภาคสนาม (Field Work) และการสนับสนุนช่วงเวลา "Gap Year" ล้วนเป็นแนวทางสำคัญการพัฒนา "คน" อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้เสนอไว้ในการปาฐกถาพิเศษศิโรจน์ผลพันธิน ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศึกษาระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่มีการออกแบบระบบการศึกษาที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้ค้นหาตนเองผ่านประสบการณ์จริงก่อนการตัดสินใจเรียนต่อในระดับสูง การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ช่วงเวลา Gap Year ไปทำงานอาสาสมัคร ฝึกงานในองค์กร ลงพื้นที่ในชุมชน หรือแม้แต่เดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเทศ เป็นการปลูกฝังทักษะชีวิต (Life Skill) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการแก้ปัญหา (Problem Solving) ผ่านสถานการณ์จริง ซึ่งไม่อาจเรียนรู้ได้จากตำรา เมื่อเยาวชนกลับมาเรียนต่อหลังจากได้รับประสบการณ์เหล่านี้ จะมีความเข้าใจตนเอง รู้จักสิ่งที่ตนเองสนใจและมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้มากขึ้น นักเรียนที่ผ่าน Gap Year มีแนวโน้มเลือกวิชาเรียนที่ตรงกับความสนใจอย่างแท้จริง และมีผลการเรียนที่ดีกว่าเนื่องจากเกิดแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation)
กลับมามองที่ประเทศไทยกัน พบว่ายังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบต่อกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน เยาวชนจำนวนมากถูกกดดันให้เดินตามเส้นทางการศึกษาที่เป็นเส้นตรง เช่น จบมัธยมแล้วต้องเข้ามหาวิทยาลัยทันที ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการเรียนรู้อะไร หรือจะประกอบอาชีพใดในอนาคต ส่งผลให้เกิดภาวะ "เรียนไปเพื่อให้จบ" มากกว่าการเรียนรู้เพื่อเติบโตและพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้น มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาของไทยต้องเร่งปรับตัว เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากโลกจริง ควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน เพื่อให้การพัฒนา "คน" เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นทั้งผู้รู้ ผู้คิด และผู้ลงมือทำที่สามารถแข่งขันและเติบโตในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง
ประเทศที่มีการพัฒนาการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีการออกแบบระบบ Gap Year ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนเยาวชนให้ออกไปเรียนรู้โลกกว้าง เช่น การทำงานกับองค์กร NGO หรือการไปทำงานในฟาร์มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ซึ่งทำให้เยาวชนกลับมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วยความพร้อมและความเข้าใจตนเองมากขึ้น เช่นกันในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard University สนับสนุนให้เด็กพักการเรียนหนึ่งปีเพื่อออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโลกจริงก่อนเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเชื่อว่าประสบการณ์เช่นนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการเติบโตทางจิตใจ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ องค์ปาฐกปาฐกถาพิเศษศิโรจน์ผลพันธิน เน้นย้ำว่า "การศึกษา" เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเตรียมคนให้พร้อมต่อโลกที่ไม่แน่นอน การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียนไม่เพียงแต่ช่วยสร้างทักษะที่จำเป็นในโลกสมัยใหม่ เช่น การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง "ทุนชีวิต" (Life Capital) ให้กับเยาวชนไทยในการเผชิญกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การนำแนวคิดและแนวทางข้างต้นไปสู่การปฏิบัติ สถาบันการศึกษาไทยอาจเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำงานภาคสนามอย่างมีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องการการสนับสนุนจากนโยบายระดับชาติที่ให้ความยืดหยุ่นในระบบการศึกษา เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบการรับเข้ามหาวิทยาลัยให้รองรับผู้สมัครที่มีประสบการณ์ Gap Year หรือการสร้างระบบการวัดผลและประเมินผลที่ให้ความสำคัญกับทักษะจากประสบการณ์จริงควบคู่กับความรู้ทางวิชาการ นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเยาวชนสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงระหว่างเยาวชนกับองค์กรที่ต้องการรับอาสาสมัครหรือฝึกงาน
การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมไทยที่ยังคงมองว่า "การเรียนต่อตรง" เป็นเส้นทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้าง ให้เห็นคุณค่าของประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เยาวชนไทยในอนาคตจะต้องเป็น "นักเรียนรู้ตลอดชีวิต" (Lifelong Learners) ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง การเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจโลกและตนเองผ่านประสบการณ์ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
เราจะต้องไม่ปล่อยให้เยาวชนไทยและประเทศไทยแพ้ต่อเนื่องในเวทีโลก เพราะไม่กล้าก้าวออกจากกรอบเดิม ต้องเริ่มสร้างระบบที่ให้เด็กไทยได้เรียนรู้จากโลกจริงและกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่าปล่อยเยาวชนไทยไม่ว่าคนใดคนหนึ่งต้องสูญเสียโอกาสการค้นพบศักยภาพของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นวันนี้ !!! เพื่ออนาคตของเด็กไทยและความยั่งยืนของประเทศครับ