ส่งออกข้าวไทยปีนี้ส่อวืดเป้า ทรัมป์เอฟเฟ็กต์แถมเจอเงินบาทแข็งค่า
ข้าวไทยปีนี้เหนื่อย สารพัดปัจจัยฉุดเป้าส่งออกปีนี้ไปไม่ถึง 7.5 ล้านตัน คาดจะได้แค่ 7 ล้านตัน พิษภาษีทรัมป์ แถมเจอบาทแข็งค่า ผสมด้วยผลผลิตโลกล้น อินโดฯลดคำสั่งซื้อ “ชูเกียรติ” ห่วงอนาคตโดนทิ้งห่าง จี้หน่วยงานรัฐเร่งยกระดับพัฒนาข้าวไทย ไม่งั้นอีก 10 ปีไม่มีที่ยืนในตลาดโลก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีการเก็บภาษีอัตรานำเข้าสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐ ซึ่งมีการประกาศตัวเลขไว้ที่ 36% และขณะนี้ ทีมไทยแลนด์อยู่ระหว่างการเดินหน้าเจรจาเพื่อปรับลดอัตราภาษีให้กับประเทศไทย ให้สามารถเทียบและแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ สหรัฐไม่มีการปรับลดอัตราภาษี ไม่ขยายเวลาออกไปให้ มองว่าการส่งออกสินค้าข้าวของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะว่าราคาข้าวของไทยถ้าเทียบคู่แข่งจะสูงขึ้นทันที 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐ
“มองว่าผู้ซื้อในตลาดคงจะรับในอัตราราคาดังกล่าวไม่ไหว และหากดูยอดการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก มีการขยายตัวเนื่องจากตลาดสหรัฐมีการเร่งนำเข้าเพราะกังวลเรื่องของอัตราภาษีที่จะมีการปรับขึ้น แม้จะถูกเก็บอัตราภาษีที่ 10% ผู้นำเข้าและผู้บริโภคก็ยังพอรับในอัตราดังกล่าวได้ และถึงแม้ไทยจะถูกเก็บอัตราภาษีที่ 20% จากการพูดคุยกับผู้ส่งออก แม้อัตราภาษีของไทยจะเทียบเท่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม การแข่งขันก็ถือว่าลำบากอยู่”
ทั้งนี้ เมื่อดูอัตราภาษีและเทียบราคาที่มีการปรับขึ้น หากไทยถูกเก็บอัตราภาษีที่ 20% ราคาข้าวของไทยก็ยังสูงขึ้น 200-300 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งมีโอกาสที่ผู้นำเข้าจะหันไปซื้อจากเวียดนามที่ราคาถูกกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระทบน้อยหากเทียบกับ 36% ซึ่งการส่งออกข้าวของไทยจะเดี้ยงได้ นอกจากนี้ ระหว่างการรอติดตามผลการเจรจาอัตราภาษี ประเมินว่าการส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ ไปยังตลาดสหรัฐมีโอกาสที่จะลดลง ส่วนไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตข้าวออกสู่ตลาด มีโอกาสที่สหรัฐจะกลับมาซื้อข้าวไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นข้าวใหม่
“ในช่วงไตรมาส 3 สหรัฐจะสั่งซื้อข้าวไทยลดลงประมาณ 30% ถ้าเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสหรัฐคงใช้สต๊อกเดิมที่มีการเร่งนำเข้าก่อนหน้านี้ให้หมดก่อน ส่วนภาพรวมของการส่งออกเข้าไปในตลาดสหรัฐเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 830,000 ตัน เป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 650,000 ตัน ส่วนการส่งออกเข้าไปในตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในปีนี้จะเท่ากับปีที่ผ่านมาหรือไม่ คงจะต้องรอประเมินครึ่งปีหลังอีกครั้ง”
นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนการประเมินผลผลิตข้าวนาปี 2568/2569 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตมากขึ้น เพราะดิน ฟ้า อากาศดี ทำให้ชาวนาปลูกข้าวได้ผลผลิตเยอะขึ้น คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวนาปรัง 10 ล้านตัน นาปีอยู่ที่ 24 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนผลผลิตข้าวในปีหน้าคาดว่าจะลดลง เพราะราคาข้าวเปลือกภายในประเทศในปีนี้ลดต่ำลง อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจปลูกข้าวของชาวนาเพราะปลูกแล้วอาจจะขาดทุนได้ ขณะที่ผลผลิตข้าวในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม เมียนมา ปีนี้ผลผลิตดีขึ้น เช่นเดียวกันกับอินโดนีเซีย ปีนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านตัน ทำให้อินโดนีเซียไม่มีคำสั่งซื้อนำเข้าข้าวขาวในปีนี้เลย จะมีบ้างในกรณีนำเข้าปลายข้าว ข้าวเหนียว ประมาณ 40,000 ตัน ประกอบกับสต๊อกข้าวของอินโดนีเซียในปีที่ผ่านมายังคงมีปริมาณคงเหลือเพียงพอ ซึ่งอินโดนีเซียจะมีโอกาสนำเข้าข้าวหรือไม่นั้น อาจจะต้องรอประเมินในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง
“หากอินโดนีเซียจะมีคำสั่งซื้อข้าว ก็เชื่อว่าจะมีปริมาณลดลง คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัน ถ้าเทียบจากปกติซึ่งอินโดนีเซียนำเข้าต่อปีเฉลี่ย 4 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าอินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งไทยจะต้องแข่งขันกับอินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม เมียนมา”
ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ไทยตั้งเป้าหมายไว้ทั้งปีอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เมื่อดูปริมาณการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณอยู่ที่ 3.6 ล้านตัน จากการประชุมหารือของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังคงรอประเมินการส่งออกข้าวภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อน เนื่องจากว่าราคาข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวขาว ถ้าเทียบจากคู่แข่งราคาใกล้เคียงกัน เช่น ข้าวขาวไทยที่ 380 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามอยู่ที่ 380-385 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนอินเดียเฉลี่ยอยู่ที่ 380 เหรียญสหรัฐต่อตัน อย่างไรก็ดี จากการประเมินส่วนตัว การส่งออกข้าวของไทยในปี 2568 มีโอกาสจะปรับลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ โดยทั้งปีการส่งออกมีโอกาสส่งออกได้ที่ 7 ล้านตัน เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องของทรัมป์ 2.0 ยังมีเรื่องของค่าเงินบาทแข็งค่าที่กระทบต่อการแข่งขัน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างหดตัว
อีกทั้งยังพบว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยยังไม่มีการพัฒนา หากเทียบหลายประเทศที่มีการพัฒนาผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจีน อินเดีย มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะจีนสามารถวิจัยได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ถึง 2,000 กิโลกรัม เวียดนามมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ใช้เวลาเพาะปลูกสั้น ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 900 กิโลกรัม ส่วนไทยยังติดเรื่องนโยบายอุดหนุน แม้จะมีการวิจัยพันธุ์ข้าว แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ นอกจากนี้ ยังพบว่าไทยมีต้นทุนสูง ผลผลิตต่อไร่ยังคงต่ำกว่า ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมข้าวอย่างจริงจัง หวั่นว่าอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า การส่งออกข้าวไทยอาจลดลง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส่งออกข้าวไทยปีนี้ส่อวืดเป้า ทรัมป์เอฟเฟ็กต์แถมเจอเงินบาทแข็งค่า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net