ไทยเร่งปิดดีลภาษีสหรัฐฯ-USTR พึงพอใจข้อเสนอไทยล่าสุด
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.39 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 18 ก.ค. – “ฉันทวิชญ์” รมช.พาณิชย์ เผย USTR พึงพอใจข้อเสนอฉบับล่าสุดของไทย แต่ยังเสนอให้ไทยเพิ่ม Market Access ลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ ย้ำไทยต้องเร่งตัดสินใจก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.68
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) คืบหน้าไปในทิศทางที่ดี ทั้งสองฝ่ายมีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอที่ยังตกค้าง การเจรจาครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เสนอให้ไทยพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มรายการสินค้าที่เปิด Market Access 2.การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers – NTB) และ 3. การสนับสนุนการลงทุนของภาคธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยต้องประเมินอย่างรอบคอบว่า จะตอบรับข้อเสนอของสหรัฐมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะรายละเอียดของสินค้ากว่า 10,000 รายการ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ยังเจรจาไม่จบ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อรองรับการเจรจา เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB), การพิจารณาปรับเกณฑ์ Local Content หรือ “สัดส่วนการผลิตในประเทศ” ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า จะต้องสรุปผลการเจรจาให้ได้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2568
นายฉันทวิชญ์ ยอมรับว่า ประเด็นเรื่อง Local Content เป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะเกี่ยวข้องกับสัดส่วนวัตถุดิบจากประเทศที่สาม ซึ่งอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะเดียวกันฝ่ายไทยได้เสนอแผนการลงทุนเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งได้รับความสนใจในเบื้องต้น แต่ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดต่อไป
นายฉันทวิชญ์ กล่าวว่า ระยะเวลาในการเจรจามีจำกัด ทุกประเทศต่างเร่งหารือกับ USTR เพื่อให้ทันเส้นตาย 1 สิงหาคมนี้ หากสหรัฐส่งข้อเสนอเพิ่มเติมมา ทีมไทยแลนด์พร้อมพิจารณาและส่งกลับโดยเร็ว เพราะข้อเสนอของสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โครงสร้าง Local Content ของไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำว่า การแข่งขันในระดับโลกควรเป็นโอกาสให้ไทยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ใช่มองว่ามีแต่ฝ่ายสหรัฐที่ได้ประโยชน์
สำหรับการเจรจาจะสำเร็จได้ ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ ความคืบหน้าของการหารือระหว่าง USTR กับฝ่ายไทย รวมทั้งการสื่อสารและปรึกษาหารือกับภาคเอกชนในประเทศ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากในแต่ละวัน
ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นายฉันทวิชญ์ ระบุว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าทุกฝ่ายจะมองเห็นประโยชน์ร่วมของประเทศเป็นหลัก และเดินหน้าเจรจาต่อไปด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในระยะยาว. -512 – สำนักข่าวไทย