“รัศม์” แจงปมเขมรรบไทย “จักรภพ” เคลียร์ใจ บู๊ “น็อต”
รายการ โหนกระแส วันที่ 25 ก.ค. “หมวย อริสรา กำธรเจริญ” ดำเนินรายการแทน “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดหมายเลข 33 เกาะติดสถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา หลังจากกัมพูชาเปิดฉากโจมตีประเทศไทย โดยสัมภาษณ์รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ, จักรภพ เพ็ญแข ที่ปรึกษาเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, รศ.ดร.ตุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา / อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
มองความตึงเครียดในช่วงสองวันนี้อย่างไร?
รัศม์ : รัฐบาลก็คงไม่ได้อยากให้ความตึงเครียดมาถึงจุดนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาลไทย เราพยายามแก้ไขทุกอย่างโดยสันติวิธี ยึดตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และบทบาทสหประชาชาติเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วไทยกับกัมพูชาก็มีพันธะกรณีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะต้องตามเอ็มโอยู 43 ที่ได้ลงนามระหว่างกัน แก้ไขข้อพิพาททางเขตแดนร่วมกัน โดยใช้การเจรจาอย่างสันติวิธี เราก็ยึดตรงนี้มาตลอด แต่อย่างที่ทราบ สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จุดที่หนักที่สุดก็ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ทหารไทยเหยียบกับระเบิด และมาเหยียบอีกที 23 จากนั้นก็ถูกโจมตีจากฝ่ายกัมพูชาก่อน ซึ่งต้องได้รับกาประณามเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการโจมตีพลเรือน อย่างไรก็แล้วแต่ สถานการณ์มาถึงจุดนี้แล้ว เราจะทำยังไงต่อไป เราจะเดินหน้าอย่างไรต่อ จะว่าไปจริงๆ ก็ไม่ได้เหนือความคาดคิดว่าฝ่ายกัมพูชาต้องพยายามยกระดับเรื่องเอาเข้ายูเอ็นเอสซี หรือคณะมนตรีแห่งความมั่นคงสหประชาชาติ เราคาดว่าเขาพยายามนำเรื่องนี้เข้าสู่ศาลโลก ถามว่าทำไมเขาถึงต้องทำอย่างนั้น เขาโจมตีเราก่อนเพื่ออะไร ทั้งที่ไทยก็ถือว่ามีศักยภาพทางทหารเหนือกว่ากัมพูชา ทั้งที่ประเทศเราใหญ่กว่า มีอาวุธมากกว่า เขามาโจมตีเราก่อนทำไม จะสู้รบกับเราเพื่ออะไร มีคนสงสัยตรงนี้เยอะ ทำไปเพื่ออะไร แต่ทีนี้ก็ย้อนกลับไปที่ผมอธิบายว่าทั้งสองประเทศมีพันธะกรณีต่อกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ต้องแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดน ทวิภาคีสองประเทศ การที่เขาพยายามไปศาลโลก ก็เป็นการละเมิด ไม่ทำตามข้อตกลงอันนี้ หรือเอาเรื่องเข้าไปยูเอ็นเอสซี มันก็คือการพยายามเดินออกไปจากกรอบการตกลงที่มีอยู่เดิม การที่จะทำอย่างนั้นได้ ในแง่นึงก็ต้องมีสถานการณ์เกิดขึ้น อยู่ดีๆ คุณจะไปไอซีเจ (ศาลโลก) เขาก็คงถามว่ามาทำไมเหรอ แต่ถ้ามีความขัดแย้ง ความรุนแรง การปะทะกันเกิดขึ้น เขาก็อาจเอาเรื่องนี้ไปไอซีเจ อันนี้คือคำตอบว่าทำไมเขาถึงทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ทำไมเขาถึงโจมตี ทั้งที่เขารู้ว่าเมื่อโจมตีแล้วไทยเราก็ต้องป้องกันตัว ป้องกันอธิปไตย ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินประชาชนของเรา เราก็จำเป็นต้องตอบโต้ แต่สิ่งเหล่านี้เราพยายามอดกลั้นมาตลอด มันก็มีทฤษฎีนะ ตอนนี้ก็เถียงกัน เขาอ้างว่าเรายิงก่อน เขาไปบอกประชาคมโลกว่าไทยเรายิงก่อน แต่เราก็มีหลักฐานว่าเขายิงก่อน พูดกันไปพูดกันมา แต่ทฤษฎีหนึ่งในการสืบสวนสอบสวนของตร.สากลที่เขาใช้ หลักการแรกต้องดูว่าใครได้ประโยชน์ สิ่งที่ทำ ทำไปเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไร อันนี้คือการสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่เรื่องอื่นใช่หรือไม่ ถามว่าถ้าไทยเรายิงก่อน เราจะได้อะไร รัฐบาลไทย ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย เราจะไปโจมตีเขมรเพื่ออะไร แต่ถ้าเขาโจมตีเราก่อน เขาก็ต้องบีบให้เราตอบโต้ถูกมั้ย นอกจากหลักฐานที่จะเอาวิดีโอมาพิสูจน์ว่าใครยิงก่อน แต่แรงจูงใจก็เป็นตัวชี้ได้ว่าสิ่งที่ทำ เขาทำไปเพื่ออะไร
มองว่าการโจมตีที่กัมพูชาเปิดฉากกับเราก่อน เขามีเป้าหมายจะไปศาลโลก?
รัศม์ : หนึ่งขาดความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีตามพันธะกรณีตามที่สองประเทศมีไว้ อาจมีบางท่านบอกว่าเห็นเจรจามาตั้งนาน ทำไมไม่มีความคืบหน้า แต่อย่าลืมว่ากลไกที่เราตั้งขึ้นมาตามเอ็มโอยู เรียกว่ากลไกเจบีซี เพื่อแก้ไขปัญหาปักปันเขตแดนร่วมกัน มันก็เป็นโมเดลเดียวกันกับที่เรามีกับประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ลาว พม่า ตัวอย่างกรณีของลาว จริงๆ แล้วก็ใช้พื้นฐานความตกลงเดียวกันสมัยฝรั่งเศส แผนที่ต่างๆ แต่เราสามารถมีความคืบหน้าปักปันเขตแดนกับลาว ทางบกเราทำไป 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ของมาเลเซียก็ทำไป 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว เกินกว่า 95 แล้วมั้งสำหรับมาเลเซีย มันก็พิสูจน์ว่ากลไกลการเจรจาทวิภาคีมันทำได้ ถ้าคุณมีความจริงใจต่อกัน
แต่เขาไม่จริงใจ?
รัศม์ : เขาไม่จริงใจ แต่เขาก็มีพันธะไง ในเมื่อมีพันธะแล้วเขาไม่อยากอยู่ในกรอบนี้ ก็ต้องดิ้นไปหาทางอื่นหรือเปล่า ก็เป็นที่มาที่ไปว่าทำไมสถานการณ์ทั้งหมดถึงเป็นแบบนี้ เราพยายามอดกลั้นมาโดยตลอด จนถึงจุดที่เราไม่สามารถ ต้องปฏิบัติการตอบโต้เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนคนไทย และอธิปไตยของประเทศ
ท่านจักรภพเพิ่งโพสต์ว่าของเราได้เปรียบ เพราะรมต. มาริษ อยู่นิวยอร์ก ล่าสุดคุณภูมิธรรมเรียกรมต.กระทรวงการต่างประเทศกลับมา ทำไมไม่ให้อยู่ชี้แจง ซึ่งจะมีการประชุมกัน เป็นการประชุมฉุกเฉิน?
รัศม์ : จริงๆ เป็นจังหวะดีที่รมต.ต่างประเทศไปประชุมที่สหประชาชาติ เป็นเวทีระดับสูงทางการเมือง ทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เขาจัดเป็นประจำอยู่แล้ว โอกาสนี้รมต.ก็ได้ไปพบคนสำคัญที่เป็นคีย์เรื่องนี้ตลอด หนึ่งในนั้นคือรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ปัจจุบันทำหน้าที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และคนต่อไปคือรมต.ต่างประเทศปานามา ท่านก็ได้ไปพบด้วย พบเลขาธิการสหประชาชาติ จากนั้นก็มีพบกับรมต.ช่วยญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นประเทศที่เป็นประธานภาคีของสนธิสัญญาออตตาวา ซึ่งคือสนธิสัญญาห้ามต่อต้านระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเราเห็นว่าเรื่องนี้ฝ่ายกัมพูชาละเมิดสนธิสัญญาระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเขาเป็นภาคีอยู่ด้วย เขาละเมิดโดยเอาระเบิดมาวางในเขตของไทย ก็ละเมิดทั้งอธิปไตย ละเมิดทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เราก็ไปอธิบายให้นานาประเทศ สังคมโลกได้เข้าใจ แต่ตรงนี้ได้ทำหน้าที่ครบหมดแล้ว อธิบายไปแล้ว ทูตประจำสหประชาชาติของเราที่นิวยอร์ก ก็เตรียมเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติม วันนี้อยากให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม แม้สังคมไทยตั้งคำถามว่าทำไมท่าทีไทยดูอ่อนในช่วงแรก เราตั้งรับตลอดเลย ทำไมไม่รุก มันก็ดูเหมือนเป็นอย่างนั้นจริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าเราเน้นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีมาโดยตลอด พยายามอดกลั้นมาโดยตลอด อยู่ในกรอบกติกาที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าอาจดูอ่อนไปสักนิด แต่เป็นเครื่องยืนยันทุกวันนี้เราเลยสามารถพูดได้เต็มปากกับประชาคมโลก ว่าเราได้พยายามอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกต้องมาตลอด อดกลั้นมาตลอด ผมคิดว่าตรงนี้ประชาคมโลกส่วนใหญ่ก็เข้าใจ มองและเห็นสิ่งเหล่านี้ที่เราทำ ว่าเราไม่ใช่อยู่ดีๆ เป็นฝ่ายไปโจมตี เพราะที่ผ่านมามีโจมตีทั้งทางวาจา จากฝั่งกัมพูชา ที่เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในของไทย ด่าโจมตีไทยทุกวัน หรือแม้แต่การใช้กำลัง เช่นกรณีเอาทุ่มระเบิดมาวาง ทำให้ทหารเราต้องพิการไป ผมว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้ยืนยันอยู่บนความถูกต้อง แม้ว่าอาจไม่ถูกใจบางส่วนของสังคม แต่ทุกวันนี้มันให้ผล ให้เห็นว่าเราไม่ใช่คนที่เริ่มใช้ความรุนแรง หรือไม่ได้อยู่บนกติกาก่อน นอกจากกติกาก่อน อย่างที่บอกมีพันธะกรณีระหว่างกัน
ท่านจักรภพมองเหตุการณ์ตอนนี้อย่างไร เราช้าไปขนาดไหนถึงปล่อยให้สถานการณ์บานปลายมาถึงความตึงเครียดจนถึง ณ วินาทีนี้ที่สถานการณ์ชายแดนยังมีเสียงระเบิดดังต่อเนื่อง?
จักรภพ : ถ้าเราถอนตัวออกมาจากความรู้สึกสักก้าวนึงเพื่อจะได้เข้าใจ เรารู้ว่าพอมีความเสียหายขนาดคนตายประชาชนเดือดร้อนลูกหลานเรากระจองอแงกัน เราก็คิดว่าถึงจุดเดือนที่สุดแล้ว จุดที่เราต้องมีปฏิกิริยาต่างๆ ออกไป แต่ผมอยากถอนตัวออกจากตรงนั้นสักนิดนึง ให้คิดพร้อมๆ กัน ใช้พื้นฐานที่ผู้ช่วยรัศม์ อธิบายอย่างดีมาก เข้าใจได้ชัดเจนเมื่อกี้ ขณะนี้เราเกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนสองกลุ่ม คือผู้นำที่เดินตามกฎเกณฑ์ประเทศ คือประเทศไทย และผู้นำที่ตั้งใจจะออกนอกกฎนั้นเพื่อประโยชน์บางอย่าง คือกัมพูชา ปัญหาคือถ้าไม่มีความผิดเกิดขึ้นเราก็ไม่เห็นถึงความผิดปกติ ระบบวางไว้ดี กฎเกณฑ์ก็ต้องรักษาไว้ ขณะนี้ประเทศไทยที่ช้าไป ผมก็ไม่ได้จะมาแก้ตัวแทน แต่บางครั้งช้าเพราะผลประโยชน์ระยะยาว ช้าเพราะจำเป็นต้องช้า ถ้าหากจุดยืนของประเทศไทยเป็นจุดยืนที่เราต้องการให้สากลชื่นชมว่าเราคือพลเมืองดี เป็นพลโลกที่ดี เพื่อให้กัมพูชาดูเป็นอื่น เราก็ต้องรอให้เหตุการณ์ต่างๆ เข้าถึงจุดนั้น แต่บอกตรงนี้เลยว่าเมื่อมีคนตายขนาดนี้ มีการใช้กำลังขนาดนี้ ทุกอย่างไม่ต้องไปสู่การรอคอยที่เนิ่นนานอีกแล้ว
ขณะนี้ถ้าจะพูดไปประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะใช้กำลังในการตอบโต้ แต่ขณะเดียวกันอยู่ที่ประเทศไทยเองด้วย เราต้องการได้ผลประโยชน์ระยะนี้และระยะหน้าด้วยหรือเปล่า ระยะหน้าคือหลังการหยุดยิงเกิดขึ้น มีการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ตอนนั้นแหละครับพฤติกรรมแต่ละคนจะถูกนำมาเรียงลำดับ ว่าเราเดินตามกฎปฏิบัติสหประชาชาติ ตามอนุสัญญาครบถ้วนหรือไม่ แล้วที่กัมพูชาออกไปนอกกฎไกลถึงขั้นอาจเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศด้วยการมุ่งเป้าหมายพลเรือนจะมีความผิดสถานใด และจะอยู่ในฐานะอะไร พูดง่ายๆ ขณะนี้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม เราต้องชมทหารเรามากนะครับ ทหารเราคือคนถือปืนยืนอยู่ชายแดน รับความกดดันตึงเครียดสูงสุด เขารักษาตัวได้ตามกรอบของการรักษาประเทศไทย ให้เป็นพลโลกที่ดี ผมชื่นชมทหาร นี่คือความเป็นผู้กล้าที่แท้จริง คนกล้าไม่ใช่คนบ้าบิ่น คนกล้าคือคนรู้ว่ามีความเสี่ยงอันตรายแต่ยอมไป และไปอย่างคนมีสติ คิดไปด้วย ใช้ความคิดไม่ได้ใช้กำลังอย่างเดียว
เราโชคดีมากที่มีกองทัพไทยแบบนี้ นี่คืออยากให้เห็นว่าภายใต้ความรู้สึกช้าหรือเร็ว ทันใจหรือไม่ทันใจ เรามีองค์ประกอบหลักๆ โดยเฉพาะกองทัพที่อยู่หน้างาน ที่ผมใช้คำว่ายอดเยี่ยม ไม่ได้ใช้เฉพาะการรบอย่างเดียวนะ ยอดเยี่ยมในการอดกลั้นรอให้เหตุการณ์นั้นแสดงตัวออกมาชัดเจน ถึงจะมีปฏิกิริยาใดๆ ออกไป ทหารไม่ใช่ไม่รู้ว่ามีเหตุนี้ขึ้น กัมพูชายั่วยุมาเป็นร้อยครั้งตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้ และรู้หมด บันทึกหลักฐานไว้หมดในรูปแบบต่างๆ ถ้าจะเอาผิดกัมพูชา หลักฐานมีครบ สมบูรณ์แบบมากเรื่องนี้ แต่ทหารหน้างานมีความจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณ ว่าเมื่อไหร่จะยกเรื่องขึ้นมาให้กลายเป็นประเด็นและพิจารณาต่อในเชิงการเมืองและการต่างๆ เพื่อจะได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง
อย่างเรื่องกฎอัยการศึก หลายท่านอาจไม่ทราบว่ากฎอัยการศึกชายแดนประกาศมา 20 กว่าปีแล้วนะ ประกาศอยู่ตรงนั้นเป็นสถานะถาวร เพียงแต่คนอยู่หน้างานจะเป็นคนตัดสินใจ ว่าเมื่อไหร่จะใช้อำนาจกฎอัยการศึก ถ้าไม่จำเป็นคนก็ไม่ใช่ อย่างที่บอกทหารไม่ได้อยากรบ แต่ทหารพร้อมรบ เมื่อภาพมาถึงเริ่มดูไม่ได้แล้ว เราเริ่มตาย คนเริ่มเดือดร้อน คนเป็นแสนต้องอพยพ ซึ่งรัฐบาลทำอยู่เต็มที่ จากนี้ไปการต่างประเทศย่อมไม่อยู่จุดเดิม ที่อธิบายมาคือก่อนหน้าพายุ แต่จากพายุจะเป็นเฟสต่อไปแล้ว ผมว่าเราคอยดูกันได้ จะมีการโต้ตอบในรูปแบบใดบ้างที่จะเกิดขึ้น สังเกตข้อหนึ่ง แต่ขออนุญาตไม่พูดให้มากจนเกินไป ทำไมเริ่มอพยพตอนนี้ คนไทยในกัมพูชาด้วย มีการเพิ่มเที่ยวบิน ทำไมถึงเพิ่มตอนนี้ ฉะนั้นพูดค้างไว้ตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงคิดต่อได้เองว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
การเร่งอพยพมีนัยยะบางอย่าง?
จักรภพ : ก็ลองดู อาจเป็นการเตรียมพร้อมเฉยๆ เป็นเพียงความห่วงใยพี่น้องของเราที่อยู่ในกัมพูชา อยากให้กลับมาเร็วที่สุดถึงขั้นประสานเพิ่มเที่ยวบิน กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงคมนาคมประสานกันอย่างใกล้ชิด และเริ่มดำเนินการ ขณะที่เราพูดก็เริ่ม ใช้คำว่าลำเลียงก็ได้เป็นระยะๆ แต่เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์หรือความตกใจก่อนหน้า พูดง่ายๆ เราไม่ใช่ประเภทตีปี๊บ ถึงเวลาก็ทำเลย
จากนี้ไปทุกอย่างไม่ต้องรอ เรามีความชอบธรรมแล้ว?
จักรภพ : ก่อนหน้านี้เราอาจจะรอเพื่อให้เห็นชัดๆ ว่ากัมพูชาเป็นคนที่ทำตัวเป็นอันธพาล ถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้มันก็บอกไม่ได้ ถูกมั้ย ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาประชาชนไปเสี่ยงนะ แต่เราต้องยอมให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเราไม่นึกว่าเหตุการณ์จะร้ายแรงถึงขนาดเราจะสูญเสียไปมากกว่า 10 คนตรงนี้ เราก็เสียใจตรงนี้ แต่มันทำให้เราตัดสินใจได้ชัดเจนและเด็ดขาดขึ้นนาทีต่อไป
ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร อาจารย์มองยังไง หลังไทยเหยียบกับระเบิดคืนวันที่ 23 พอเช้าวันที่ 24 กัมพูชาเปิดปฏิบัติการกับเราก่อนจนมาถึง ณ วันนี้ กัมพูชาโจมตีพื้นที่เป้าหมายพลเรือน ขณะที่เราตอบโต้ด้วย F-16 บินสองรอบ เรามุ่งเน้นไปที่เป้าหมายทางทหาร อาจารย์มองยุทธศาสตร์ทางทหารของสองประเทศอย่างไร?
ดร.ตุลยภาค : ก็มีความแตกต่างกันนะครับ เพราะกองทัพไทยเน้นสิทธิในการป้องกันตัวเอง โจมตีเป้าหมายกำลังรบของกัมพูชา สวนทางกับกัมพูชาที่เน้นเป้าหมายพลเรือนเป็นหลักด้วยซ้ำไป จนทำให้ผู้บริสุทธิ์ชาวไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นี่คือความแตกต่าง ถ้าเราย้อนกระบวนการทางประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ ก็จะเห็นพฤติกรรมนี้ของกัมพูชาชัดเจน ว่าเมื่อวานนี้ BM-21 ยิงเข้ามาที่ไทยเป็นห่าฝน ทำให้พลเรือนเสียชีวิต ย้อนกลับไปปี 2554 สิบกว่าปีที่แล้ว ที่มีศึกปราสาทพระวิหาร BM-21 เหมือนกัน โดยคำสั่งของฮุนเซนเหมือนกัน ยิงเข้ามาเป็นห่าฝนและโดนเป้าหมายพลเรือนด้วย ถ้าเอาสองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และทิ้งห่าง 10 กว่าปี แสดงว่ากัมพูชามีพฤติกรรมที่คงเส้นคงวา ในการทำร้ายเป้าหมายพลเรือน ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และผิดมนุษยธรรม หลักการทำสงครามที่ต้องคำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรมคิดว่ากัมพูชาผิดเต็มประตู แต่คราวนี้โจทย์ที่น่าสนใจคือว่าแล้วเมื่อไหร่แสนยานุภาพกองทัพไทยจะหยุดยั้งพฤติกรรมการรุกรานทางทหารของกัมพูชา แล้วทำให้กัมพูชาเปิดช่องในการเจรจา กรุยทางไปสู่สันติวิธีระดับทวิภาคี
ตรงนี้ต้องมาวัดกันว่า F-16 ก็ดี อาวุธยุทธโธอุปกรณ์อื่นๆ เช่นรถถังก็ดี หรือทหารราบที่เข้าตีแนวหน้าในพื้นที่จะเข้าไปพิชิตเป้าหมายทางทหารของกัมพูชาตามแนวชายแดนได้มากน้อยแค่ไหน จนเขาคิดว่าถ้ายื้อต่อไป ทำสงครามปะทะกับไทยต่อเขาน่าจะเสียเปรียบ มีจุดหักเหหลายอย่าง ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็จะกลับมาสู่การบีบให้กัมพูชาเปิดช่องทางในการเจรจา ซึ่งปฏิบัติการปี 54 กัมพูชายิง BM-21 เข้ามา ไทยใช้ปืนใหญ่ซีซ่ายิงสวนกลับ แล้วมันโดนพิกัดเป้าหมาย ทำลายกำลังรบของกัมพูชาได้เยอะ ทำให้เขาร้องขอการเจรจา และนำมาสู่สันติภาพ เอ็มโอยูปี 43 ก็ใช้กันมาเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคี พอมีความขัดแย้งปี 54 การใช้กำลังทหาร เอ๊ะ ทำไมเอ็มโอยูปี 43 ถึงไม่ได้หายไป ทุกวันนี้ก็มีการปฏิบัติตามกรอบตรงนี้อยู่ นั่นแสดงว่าต่อให้กัมพูชาใช้การยุทธ์ที่ฮึกห้าว ละเมิดอธิปไตย แต่ถ้าเราหยุดยั้งพฤติกรรมกัมพูชาได้ กลไกแบบทวิภาคี ก็สามารถนำมาปฏิบัติต่อได้ ไม่ต้องไปถึงศาลโลกหรือยูเอ็นหรอก ที่ท่านทูตพูดมา ผมเห็นด้วยมาก แต่อยู่ที่ว่าเส้นแบ่งเป้าหมายทางการทหารสูงสุดขอฝั่งเรา จะมีปัจจัยอะไรที่เราจะบอกว่าเราหยุดแล้ว และกัมพูชาพร้อมหยุดด้วย ก็อยู่ที่การรบภาคพื้นดินหรือจุดอื่นๆ
ประธานอาเซียน ได้พูดคุยกับทางคุณภูมิธรรม และฮุน มาเนต อยากให้สองประเทศหยุดยิงทันที คุณภูมิธรรมบอกว่า จะหยุดยิงก็ต้องให้กัมพูชาชัดเจนก่อน ตรงนี้จะไปถึงจุดไหน มองยังไงว่าจะไปถึงวันไหนที่เขาบอกว่าเรามาคุยกัน เพราะถึงวันนี้เขาก็เริ่มก่อน ตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง จนถึง ณ วินาทีนี้?
รัศม์ : วันที่จะมาเริ่มเจรจากัน เขาต้องยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเราอย่างสิ้นเชิง ทั้งการสู้รบและการโจมตีโดยวาจา เขาแสดงความจริงใจเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่ต้องแสดงความจริงใจก่อน ไม่ใช่ยิงมาแล้วจะขอเจรจา อย่างนั้นไม่ได้ เรารับไม่ได้ หรือโจมตีเราโดยการใช้วาจาต่างๆ มันก็แสดงถึงความไม่จริงใจ หรือไม่ปรารถนาจริงที่จะมาคุยกันอย่างสันติวิธี หรือมาคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เมื่อขาดเจตนารมณ์ตรงนี้ไป คุยไปก็ไม่มีประโยชน์ คุยกันอยากให้ได้ผลต้องมีความจริงใจต่อกันที่อยากจะมีผลลัพธ์ที่เป็นบวก เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งชั้นนี้มันยังไม่ได้เกิดขึ้น จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะเป็นยังไง สมมติจะกลับไปเรื่องเดิม เขาเรียกร้องความสนใจของประชาคมโลก อยากให้เป็นเรื่องใหญ่โต หาเรื่องให้มันใหญ่เพื่อไปศาลโลกต่างๆ นานา ถ้าคิดตามนี้เขาก็คงยังไม่หยุดยิง เพราะเรื่องยังไม่ใหญ่พอไปศาลโลก หรืออยากให้สหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย เพื่อที่จะไม่ได้ต้องอยู่ในพันธะกรณีตามเอ็มโอยู ก็คิดไปตามสเต็ปนี้
เขาอาจยื้อ?
รัศม์ : ก็เป็นไปได้ สิ่งที่อยากจะยื้อสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร เมื่อกี้ผมบอกว่าไม่ต้องการอยู่ในพันธะกรณีตามที่ตกลง ถามว่าทำไมไม่อยากอยู่ ทำไมไม่มีความจริงใจมาเจรจาทวิภาคีล่ะ ปกติการรับอำนาจศาลโลกเขตดินแดนมันน้อยนะ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเขาไม่รับกัน ประเทศมหาอำนาจ อเมริกา จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส ไม่มีใครเขารับหรอก
จักรภพ : ปัญหาชายแดนมันมีทั่วไปในโลก ไม่ใช่เฉพาะสองประเทศนี้นะ มีเกือบทุกประเทศในโลก
รัศม์ : ในแง่นึงก็ต้องไปแก้ไขกันในระดับทวิภาคี อย่างหลายประเทศในโลก ตอนนี้มีปัญหามากมาย ทั้งยูเครน กาซ่า ตะวัน ออกกลางที่รบกัน โลกก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว ทำไมต้องให้โลกมานั่งแบกภาระสองประเทศที่ถ้ามีอารยะ มีความเป็นผู้ดีมันควรมานั่งแก้ไขกันได้เอง ทำไมคุณต้องไปเป็นภาระของโลก เพื่ออะไร อันนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปทั่วโลกเขาพยายามปฏิบัติกัน ทะเลาะกันก็แก้ไขกันเอง แต่ถามว่าทำไปทั้งหมดเพื่ออะไร ก็ว่ากันตามบทวิเคราะห์ มีหลายท่านติดตามการเคลื่อนไหวในกัมพูชาก็วิเคราะห์ว่าส่วนนึงก็มีปัญหาการเมืองภายในของประเทศเขาเอง ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งกับไทย ย้อนไป 10 ปีหรือก่อนหน้านั้นหรือเอาตั้งแต่เขาพระวิหารครั้งแรก ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการปลุกปั่นกระแสชาตินิยมในประเทศของเขา เพื่อสร้างความนิยมให้ผู้นำในช่วงนั้น เพื่อให้ประชาชนรู้สึกรักชาติ รักประเทศ รักผู้นำขึ้นมา หลายครั้งเมื่อคะแนนความนิยมของผู้นำตกต่ำเริ่มไม่ดี ปัญหาภายในประเทศมีเยอะ แทนที่จะแก้ปัญหาภายในประเทศซึ่งยาก ก็ไปหาเพื่อนบ้านเป็นแพะซะ เบี่ยงเบนปัญหา ซึ่งปัญหาคืออะไร คนวิเคราะห์ต่อ แม้กระทั่งคนกัมพูชาเองที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เขาก็ออกมาแฉผู้นำ ว่าเป็นเรื่องธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ที่เราพยายามเข้าไปปราบ มันกระทบเขามาก ทั้งหมดทั้งปวง พยายามให้เห็นภาพว่าทำไมถึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น แต่รัฐบาลไทยไม่ดำเนินการก็ไม่ได้ เพราะคนไทยตกเป็นเหยื่อไม่รู้เท่าไหร่ เสยหายทางเศรษฐกิจไม่รู้เท่าไหร่ คนไทยที่ถูกล่อลวงฆ่าตัวตายไปก็ไม่รู้เท่าไหร่ ที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้
จักรภพ : และนำไปสู่การฟอกเงินด้วย นี่คือเรื่องใหญ่
รัศม์ : ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยาเสพติด ทุกอย่างสารพัด เราก็ต้องแก้ไขตรงนี้ ขณะเดียวกัน การแก้ไขตรงนี้ คนก็วิเคราะห์ว่าเหมือนไปทุบหม้อข้าวเขา มันเลยมาถึงความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ เราก็คิดต่อกันเอาเอง ผมก็เล่าว่ามันมีคนวิเคราะห์อย่างนี้ ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็สุดแล้วแต่ เพราะมันไม่มีการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการ เราก็ต้องมานั่งวิเคราะห์กันเอง บางส่วนคนกัมพูชาก็พูดเองด้วย ไม่ใช่เรามานั่งพูดเอง
ถ้ายืดเยื้อต่อไป เขาสูญเสียแน่นอน ซึ่งเขาต้องรู้?
จักรภพ : ฮุนเซนรู้ดีเลยว่าจะนำไปสู่การฆ่าคนกัมพูชาอีกเยอะเลย แต่เขาไม่สนใจ ถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์กัมพูชามาถึงจุดนี้ จะรู้ว่าผู้นำแต่ละคนทำให้คนตาย ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่รู้เท่าไหร่ เราพูดถึงเป็นล้านนะ เขมรแดงเกือบ 3 ล้าน แต่ไม่ได้ฆ่าทุกคน ตายเพราะอดอาหาร ทำงานหนัก กระชากชนชั้นสูงมาเป็นชนชั้นล่าง เพื่อแก้ปัญหาชนชั้นแนวคิดของเขาสมัยนั้น คนก็ตายเป็นเบือเลย ฮุนเซนก็อยู่เขมรแดงก่อนแยกออกมา ผมไม่แปลกใจเรื่องความใจร้าย เพียงแต่เราลืม เราเห็นตอนหลังคุณลุงแกแต่งตัวเรียบร้อย หน้าตาใจดีแล้ว ลืมไปว่าแกคิดได้ไปถึงขั้นไหน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ผมต้องใช้คำนี้ ระหว่างคนดีกับคนบ้า คนคิดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และยั้งตัวเอง คิดแบบผู้ใหญ่ กับคนที่ช่างมัน ฉันไม่แคร์ ขอให้ได้ผลตามที่ต้องการ ซึ่งเริ่มชัดขึ้นทุกทีว่าผลตามที่ต้องการคือการรวมอำนาจอย่างสมบูรณ์ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นประเทศ ซึ่งเขาเชื่อว่าเขาทำแบบนี้แล้วจะยกกัมพูชาขึ้นมาเสมอบ่ากับประเทศไทย เสมอไหล่กับเวียดนาม ซึ่งเขามักมองเป็นสองยักษ์ที่เทียบกันอยู่ มอบบัลลังก์ให้ฮุน มาเนตลูกชายเต็มที่ ถึงเป็นนายกฯ อยู่ทุกวันนี้แต่ก็รู้สึกว่ายังพร่องอยู่ ยังไม่เต็มที่ ไม่ได้รับความนับถือเท่าที่ควร ตอนนายกฯ แพทองธารโต้ตอบกับฮุนเซน คำที่ฮุนเซนโกรธที่สุดคือคำว่าไม่เป็นโปรเฟสชั่นแนล โกรธชนิดขาดปรอทแตกเลย ทำไมถึงโกรธเรื่องนี้ แสดงว่าแทงใจดำ ที่เขาต้องการให้เรานับถือเขา กัมพูชาออกจากป่าเต็มตัวเป็นเมืองเต็มขั้น สามารถเป็นสมาชิกในประชาคมระหว่างประเทศ เป็นอารยะประเทศได้เต็มที่ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้เราชี้ว่ามันยังไม่ใช่ ถ้าหากใช่ก็คงไม่ต้องมาถึงขั้นนี้หรอก มันมีกลไกในการแก้ปัญหาแบบคนดีๆ เขาคุยกัน แต่แกต้องการอย่างอื่น
มองว่าแกเตรียมอำนาจให้กับลูกชาย?
จักรภพ : อันนั้นผมมอง จากที่มีประสบการณ์ส่วนตัวด้วย ผมว่าสิ่งที่แกหมกมุ่นมากคือการที่กัมพูชาจะมีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิระหว่างประเทศเท่ากับประเทศอื่นๆ ซึ่งคนไม่รู้นะว่าคุณฮุนเซนยังเยือนหลายประเทศไม่ได้ มีอะไรเป็นบาดแผลในใจแกอยู่เยอะความที่คนทั้งโลกสมัยก่อนมองว่าเป็นทหารป่า เป็นระบอบเถื่อน เวียดนามมายึดกัมพูชา ผมคิดว่าเป็นบาดแผลในใจแกอยู่ ซึ่งก็น่าแปลก ระหว่างรู้จักกันมาไม่เคยหลุดออกมาเลย แต่จะออกมาจากอะไรแปลกๆ เช่นยกตัวอย่างว่าเวลากัมพูชามีอะไรขึ้นมา เหมือนเป็นการพัฒนา แกจะโชว์ให้เห็นชัดเจน ก็สะท้อนให้เห็นปมด้อยก็ว่าได้
พยายามทำให้ทั่วโลกยอมรับกัมพูชาด้วย?
จักรภพ : ต้องการได้รับฐานะที่เท่ากัน ทุกวันนี้หลายอย่างยังไม่เท่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ในรายการแฉกับคุณน็อต สรุปตอบคุณน็อตได้หรือยัง ว่าเขาต้องการอะไร?
จักรภพ : ดูด้วยเหรอ (หัวเราะ) แหม คุณน็อตนี่แกยั่วเก่งมากเลย เราก็ลืมว่าแกเป็นดาราเจ้าบทบาท แกทำถมึงทึงเราก็โมโหตาม เกือบฟิวส์ขาดเหมือนกัน คุณน็อตแกยั่วผม ผมก็ตั้งใจยั่ว ยั่วเองหรือใครตั้งใจให้มายั่วก็ไม่รู้ แต่ตั้งใจยั่วผมว่าขนาดนี้แล้วยังนั่งเฉยอยู่ได้เหรอ คนตายตั้งเยอะแล้ว จะนั่งนรออะไรนี่มันอธิปไตย เราก็อยู่ระหว่างอธิบายแนวคิดต่างๆ ยังปรับตัวไม่ทันที่จะมาตะโกนด่ากัน เพราะแกเสียงดังมากเลย เราก็เลยพยายามตอบว่าประเด็นของเรื่องคือว่าเราต้องการเป็นอะไรในสายตาประชาชนของประเทศล่ะถ้าเป็นประเภทแรมโบ้ก็ชกกลับเลย ฟาดกลับได้เลย มันไม่ยากนะ หลายรัฐบาลใช้สงครามกับประเทศอื่นสร้างความนิยมให้ตัวเอง แล้วนั่นคือทำให้คนตายอย่างไม่รับผิดชอบ ทหารก็ตาย พลเรือนก็ตาย นั่นคือความเลวจริงๆ รัฐบาลที่หยุดคิด ผมคิดว่าควรได้เครดิตบ้างนะ การหยุดคิดตรงนี้มันมาจบตรงที่รบกับคนที่ไม่ได้คิดถึงชีวิตคน ใช้หลักเดิมไม่ได้แล้ว จะมานั่งให้เหตุผลรอไม่ได้แล้ว ฉะนั้นจากนี้ต่อไปจะไม่เหมือนเดิม แต่เผอิญจุดที่เราคุยกันเป็นจุดที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ การปรับนโยบายอยู่ระหว่างการคุยกัน ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นหลักชม.ในการสรุป คุณน็อตมาตรงกลางก่อน ก็เลยต้องบู๊กันนิดนึงในรายการ แต่ผมเข้าใจว่าแกถามจากความรู้สึกจริงๆ ว่าเมื่อมีคนตายแบบนี้ ยังต้องรออีกเหรอ ไม่ฟาดกลับเหรอ คำตอบในวันนี้ที่จะตอบเพราะคุณหมวยถาม คือฟาดกลับได้ทันที ถ้าไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมาต่อชื่อเสียงประเทศ ถ้าคิดถึงชื่อเสียงประเทศ อยากให้ชนะครั้งนี้ และชนะต่อไปด้วย และชนะอย่างถาวร เราต้องหยุดคิด ประเมินสถานการณ์และโต้ตอบอย่างได้สัดส่วน
การฟาดกลับที่คุณจักรภพมอง ที่ท่านผู้ช่วยมอง มองว่าจะฟาดกลับได้ยังไง?
รัศม์ : เวลาพูดเพื่อความสะใจ อารมณ์ แต่จริงๆ ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์ มีกติกา ถามว่าคนเราไม่ต้องเคารพกฎหมายได้มั้ย การไม่เคารพกฎหมายก็มีผลตามมา คุณก็ต้องจ่ายราคาที่คุณไม่เคารพ เราเห็นของคนโน้นมีของมีค่า เราอยากได้ เราไปปล้น ไปแย่งชิงมาเป็นของเรา แต่ผลที่ตามมาคือคุณมีคดีความ ไม่งั้นคุณฆ่าคนคุณก็ต้องหนีจนกว่าคุณจะถูกจับ ประเทศก็เหมือนกัน มันมีกรอบกติกาของมันอยู่ มีกฎหมายระหว่างประเทศ มีกฎสหประชาชาติที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้น เอาเพื่อความสะใจ เหมือนกัมพูชาที่ไม่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งหมดทั้งปวงก็มีผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลทางเศรษฐกิจ หรือความน่าเชื่อถือของคุณ ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศคุณ ก็นำไปสู่เรื่องการค้า การลงทุนอยู่ดี มันไม่ใช่ว่าไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น คุณอาจถูกสังคมโลกประณาม ไม่มีศักดิ์ศรีในสังคมโลก คุณอยากไปคบค้ากับใคร ก็ไม่มีใครอยากคบค้า การลงทุนก็หนีหมด ไม่มีใครอยากไปเหยียบประเทศคุณ ถ้าไม่สนใจประชาคมโลก ถ้าจะพูดว่าฟาดกลับ การที่เรายิงตอบโต้ไปก็ถือว่าเป็นการฟาดกลับอยู่ดี เราปกป้องอธิปไตยและประชาชนของเรา เราก็ทำในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เรามีสิทธิ์ปกป้องตัวเอง เราก็ทำตามนั้น
เข้าใจว่าคนไทยโกรธ?
รัศม์ : อยากจะเรียนว่า ท้ายที่สุดไม่ว่าอย่างไรเสีย ไทยกับกัมพูชาต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป ใครก็ยกประเทศหนีไม่ได้ ก็ต้องอยู่แบบนี้อีก 100 ปี 1,000 ปี และท้ายที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย มันต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันท้ายที่สุดก็ต้องหันหน้ามา ไม่รักใคร่กันอย่างน้อยก็ไม่ควรเป็นศัตรู ในที่สุดก็ต้องมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาภูมิภาคของเรา แต่ตอนนี้อารมณ์ความรู้สึกก็ถูกปั่น กระแสโซเชียลทั้งสองฝ่ายเป็นลบมาก จนบางครั้งอาจเกินเลยไป อย่างการไปทำร้ายคนกัมพูชาในไทย สืบเนื่องจากความเกลียดชังในสถานการณ์นี้ ซึ่งอยากฝากไว้เอาไว้คนที่เขาไม่ได้มีความผิด เขามาทำงานในไทย เป็นแรงงานในไทย ก็ถือว่าคนเหล่านี้มีส่วนช่วยเศรษฐกิจของไทย เขาก็ไม่ได้มีความผิดอะไรเลย ส่วนคนไทยที่อยู่ในกัมพูชาก็ไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนไทยเหมือนกัน บางครั้งระดับประชาชนก็ควรนึกถึงใจเขาใจเรา ความเกลียดชังโกรธก็เข้าใจได้ แต่ต้องมีสติ
จักรภพ : อย่างน้อยที่สุดอย่าลืมว่าคนมาทำงานในเมืองไทย ไม่มีใครเป็นญาติกับฮุนเซน หรือมาจากคำสั่งฮุนเซน เขามาด้วยตัวเอง เขามาหาที่พึ่ง
รัศม์ : มีทูต
จักรภพ : ท่านทูตกลับไปแล้ว (หัวเราะ) แต่คนอื่นๆ หนีร้อนมาพึ่งเย็น มีความรักเมืองไทย มองว่าเมืองไทยเป็นที่พึ่ง เป็นที่ที่เขาจะเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ คนเหล่านี้เขาไม่ได้เป็นสายให้รัฐบาล ไม่ได้ทำงานให้รัฐบาล ก็มีเมตตากับเขานิดนึง นอกจากไม่คิดทำร้ายเราก็ควรมีเมตตาด้วย วันนี้เขาก็อยู่ด้วยความกลัวแหละ บางคนซ่อนความเป็นคนกัมพูชามิดเลย กลัวคนทำร้าย เราบอกเลยดีกว่าว่าเราดูแล ไม่เป็นไร ไม่ได้มีอะไรเสียหาย ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย ทำไมเรื่องแค่นี้ทำให้คนเกลียดกัง ถึงขั้นจะลงไม้ลงมือ
รัศม์ : ไม่ควรเป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ไม่ได้อะไรขึ้นมา
จักรภพ : จะคิดเรื่องเมตตา หรือเพื่อนอาเซียน หรือต้องหากินร่วมกัน คิดแค่นี้ก็ยังได้
มุมมองนักวิชาการมองยังไง?
ดร.ตุลยภาค : จุดยืนสำหรับประเทศไทย ผมขอเสนอว่าเราทำสงครามเพื่อสันติภาพ สงครามหลายๆ ที่รอบโลกบางทีเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของอีกฝ่าย ทำให้เกิดการหยุดยิงและเกิดเป็นสันติภาพได้แม้ไม่ใช่สันติภาพที่ยั่งยืนเชิงบวก มันควบคุมอุณหภูมิความขัดแย้งได้ มีแบบหลายที่ทั่วโลก ไทยก็ประกาศไปเลยว่ากัมพูชาโจมตีก่อน เราป้องกันตัวเอง และเราเน้นโจมตีเป้าหมายทางทหารกัมพูชาเป็นหลัก ไม่ใช่พลเรือน แบบที่กัมพูชาทำกับฝ่ายไทย และที่เราทำแบบนี้เป็นการป้องกันตัวเองเพื่อกรุยทางไปสู่สันติภาพ เป็นการเหวี่ยงให้กัมพูชาอยู่ในล็อกหรือกรอบการเจรจาหยุดยิง ในกรอบทวิภาคี และที่สำคัญคือระบอบฮุนเซน ฮุน มาเนต สัมพันธ์กับอาชญากรรมข้ามชาติ สแกมเมอร์ สัมพันธ์การยิงอาวุธอานภาพทำลายล้างสูงเข้ามาทำลายประชาชนผู้เสียชีวิตในฝั่งเรา อันตรายต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมว่าเราประกาศจุดยืนแบบนี้น่าจะโอเค
จักรภพ : ขออนุญาตขโมยเลย ประโยคนี้ดีเหลือเกิน การใช้กำลังตามความจำเป็นเพื่อสันติภาพ นี่คือท่าทีของไทยเลย
ยังไงเราก็ต้องอยู่กับกัมพูชา อยากให้พูดถึงความสำคัญของความเป็นภูมิภาค?
ดร.ตุลยภาค : ความเป็นภูมิภาค ภูมิภาคนิยม มันคือรัฐหรือประเทศทั้งหลายที่อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน ร้อยเรียงถักทอบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ฉันมิตร อยู่กันแบบสันติ อยู่ร่วมกันแบบยั่งยืน นี่คือหัวใจเลย สำหรับกัมพูชาคิดว่าน่าจะมีกระบวนการกล่อมเกลาอีกหลายอย่างที่จะทำให้ประเทศนี้ อยู่ร่วมกับประเทศไทยหรือประเทศอื่นอย่างสันติวิธี ถ้าศึกษาวิจัยจะเห็นว่าแค่มรดกร่วมวัฒนธรรม ไทยกับลาวคล้ายกันมาก แต่เราไม่มีปัญหาเรื่องการเคลมมรดกทางวัฒนธรรมต่อกัน เหมือนที่เรามีต่อกัมพูชา กัมพูชาก็เคลมหลายอย่าง ชุดไทย ทำไมเป็นแบบนี้ ทั้งที่มีอะไรร่วมหลายอย่าง แต่ทำไมคอนฟริกมาจากฝั่งกัมพูชา ไม่ได้มาจากสปป.ลาว
จักรภพ : แทนที่จะร่วมมือ ทำไมกลายเป็นทะเลาะกัน
ดร.ตุลยภาค : ในตะวันออกเฉียงใต้เราก็มีอาเซียนเป็นแกนหลัก เราควรจะลดทอนอุณหภูมิความขัดแย้งให้อยู่ในขอบเขตของภูมิภาค ไม่ใช่ว่าลัดขั้นตอนของความขัดแย้งโดยการพุ่งไปสู่ตัวแสดงอื่น หรือเวทีโลก ที่อยู่นอกภูมิภาค ดังนั้นประเทศไทยควรอดทนอดกลั้น ที่ผ่านมาทำได้ดีนะครับ ในการให้การบริหารจัดการความขัดแย้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือให้ประเทศอาเซียนหรือเพื่อนบ้านเข้ามาเห็นอกเห็นใจมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ผมว่านี่คือหัวใจสำคัญ แต่สิ่งที่กัมพูชาทำคือมองข้ามภูมิภาคนิยมที่เป็นอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเคลมมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่าง ซึ่งเป็นมรดกร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กัมพูชาต้องเป็นของเขาฝ่ายเดียว นี่คือชาตินิยมสุดโต่งที่อันตรายต่อการพัฒนาสันติภาพ
จักรภพ : จะเป็นข้อกล่าวหาก็ได้ ผมคิดว่าฮุนเซนขาดสำนึกเรื่องนี้ เพราะงั้นไม่ทำแบบนี้ ตัวเองก็ได้ตามที่ต้องการทุกอย่าง แต่ตีปี๊บเพราะหวังผลที่ใหญ่โตขึ้น สำคัญเรื่องภูมิภาคนิยม เราจะอยู่ด้วยกันต่อไปยังไง รบกันอย่างนี้ มีวันหน้าอีกมั้ย ไหนๆ พูดวิชาการไปอีกนิด มีคำนึงแม้แต่คนก็ใช้ คือการอยู่ร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องรักกัน ต้องชอบกัน แต่มีเหตุผลให้อยู่ด้วยกัน เพื่อนบ้านอาจไม่ค่อยชอบหน้า แต่ว่ารวมกันเราอยู่ แต่แน่นอน วันนี้คือวันอารมณ์ เพราะเราเพิ่งโดนกระทำ เราซึ่งพยายามเป็นพลเมืองดี พลโลกที่ดี กลับโดนทำรุนแรงจากคนที่เราคิดว่าเป็นพันธมิตรกันได้ วันนี้ต้องพูดถึงเรื่องการรักษาศักดิ์ศรี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ลืมว่าวันนึงสิ่งที่อาจารย์พูด และสิ่งที่ผมพยายามเสริมจะเป็นเป้าหมายปลายทาง จะกลับมารักกันขนาดไหนเราไม่ต้องไปพยากรณ์ แต่ให้รู้ไว้ว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน ในวันข้างหน้า อย่างกัมพูชามีคนอยู่ 16 ล้านคน ประเทศไทย 80 ล้าน เวลาซื้อขายกับใครมันได้เปรียบ ได้วอลุ่ม ได้ขนาด ถ้าไปประเทศเดียวก็เล็กลงไปตามส่วน อำนาจต่อรองก็น้อย นี่ผมพูดปะติดข้างฝาไว้ก่อน
แต่วันนี้เราเข้าใจความรู้สึกของคน เห็นคนเดือดร้อนขนาดนี้ มันคิดอย่างอื่นไม่ได้ จะอยู่ร่วมโลกกันได้มั้ยเนี่ย เพียงแต่ว่ารัฐบาลพยายามมองให้ประโยชน์เราไปไกลที่สุด ทีนี้มีคนสองกลุ่มคือประชาชนในประเทศไทย กับประชาคมระหว่างประเทศ นี่คือดุลยภาพระหว่างสองกลุ่มนี้ ขณะที่เราระวังมากไม่ให้ผิดใจ หรือขัดต่อประเพณีระหว่างประเทศ เราก็อาจขัดต่อใจคนไทยว่าไม่ทำอะไรเลยเหรอ ปล่อยให้คนไทยโดนฆ่าตาย วิ่งหนีจ้าละหวั่นเป็นแสนคนหรือ สองเราทำแบบฮุนเซน เอากัมพูชาเป็นหลัก ช่างมัน โลกจะเป็นยังไง ซึ่งฮุน มาเนตเอง เท่าที่ทราบแกก็เริ่มมีการปรารภ หลุดรอดมาเหมือนกัน แกก็กลัวเหมือนกันว่าหลังจากนี้แกจะบริหารกัมพูชาลำบาก เพราะถ้าหากเกิดเหตุแบบนี้ แสดงว่ากัมพูชาจะไปอาละวาดกับใครก็ได้ เวียดนามก็มีเรื่องดินแดน กัมพูชาก็เคยอ้างว่าเป็นของกัมพูชา ลาวก็มีหลายพื้นที่ ฉะนั้นกัมพูชาไม่ใช่ประเทศที่จะอยู่ในสภาพสบายใจได้มาก
ตลอดมาเขาใช้นโยบายถ่วงดุลอำนาจสองด้าน ไทย เวียดนาม จีนด้วย แต่จีนต้องผ่านลาวลงมากว่าจะถึงกัมพูชา แต่กัมพูชา ครั้งนึงเคยเห็นห้องทดลองของจีน สมัยเขมรแดง จีนได้ลองใช้วิธีการปฏิรูป ปฏิวัติสังคมสุดขั้วในกัมพูชา เขามองว่าคนเป็นชนชั้น ชั้นชนคืออภิสิทธิ์ชน ตรงกลางคือชนชั้นกลาง และชาวนากรรมกร คือคนที่โดนกดขี่ที่สุด โดนทำงานหนักสุด ทีนี้พอคอมมิวนิสต์เข้ามา เขาบอกต้องกลับหัวสามเหลี่ยม เอาชาวนาขึ้นบนสุด เป็นผู้ปกครอง ชนชั้นกลางเอามาทำงาน ข้างล่างเอามาดัดสันดาน เอามาฆ่ากันซะก็มี แต่ประเทศอื่นๆ ใช้วิธีอบรมเปลี่ยนนิสัย แต่กัมพูชาใช้ฆ่าเลย ตอนนั้นแค่ใส่แว่นโดนจับฆ่าแล้วนะ ปี 1970 เพราะแว่นเป็นสัญลักษณ์ของนักวิชาการ นี่คือประสบการณ์ฮุนเซน เรื่องการสูญเสียประชาชน สูญเสียทหาร ผมเดาว่าเขาไม่สนใจเลย ถ้าหากจะไปเล่นเกมให้เขาตกใจว่าทหารเขาจะเสียเนี่ย เราจะไม่ได้เป้าหมายนั้น ตรงนี้เราจึงมุ่งตรงไปที่ฮุนเซนกลัวที่สุด คือการที่ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาพึ่งพาอยู่ ต่อต้านเขา เพราะพฤติกรรมที่เขาทำ นี่คือทิศที่เรากำลังเดินอยู่
การประชุมด่วนวันนี้ ตามที่นายกฯ กัมพูชา ฮุน มาเนต ได้ทำหนังสือไป มองว่าการประชุมวันนี้จะได้ข้อสรุปอะไร หรือช่วยเราสองประเทศอย่างไร?
จักรภพ : คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมี 15 ประเทศ เขามีหน้าที่รับเรื่อง คณะรัฐมนตรียูเอ็น เขามักจะไม่มีมติในทางก่อสงคราม หรือส่งกองกำลังไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เขามักจะเริ่มต้นทีละขั้น ให้สองประเทศมาเล่าเรื่องของตัวเอง ชี้แจงทั้งคู่ด้วยเวลา ด้วยทุกอย่าง ท่าทีเหมือนกัน เพื่อความเป็นธรรม จึงเกิดการเสวนาในหมู่สมาชิก ถึงออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่ามติ มตินี้ก็จะมีกฎเกณฑ์สำคัญคือถ้าประเทศสมาชิกถาวร 5 ชาติ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา คัดค้านขึ้นมา มตินั้นเป็นอันว่าตก แต่ประเด็นคือมติอันนั้นเราอยากให้ออกมาเพื่อเป็นตัวกำกับพฤติกรรมหรือยุติพฤติกรรมกัมพูชา เราจึงเริ่มเวิร์กกับสมาชิก 5 ชาติแล้ว เริ่มตั้งแต่สองวันที่แล้ว แนวโน้มขณะนี้ ผมพูดไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะไม่มีใครใช้สิทธิ์ยับยั้ง
มตินี้ผมเชื่อว่าเขาจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก และจะไม่เอาสหประชาชาติทั้งหมดมาเกี่ยวข้อง เล็กไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ เล็กคือไม่ได้เกี่ยวกับใครเกี่ยวกับสองประเทศ ความเป็นสองประเทศก็ตรงกับจุดยืนไทยคือเป็นทวิภาคี ก็จะเกิดการไล่เบี้ยกัมพูชาว่าทำไมไม่ใช้เอ็มโอยู 43 ตรงนี้ถ้ากัมพูชาใช้วิธีทุบโต๊ะเดินออก หรือก้าวร้าวไม่สนใจ กัมพูชาก็ต้องได้รับผลเอง เพราะนี่คือประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กัมพูชาถึงแม้ไม่จนมากเท่าเดิม แต่ทำตัวเป็นจนอยู่นะ รับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ สายอเมริกาบ้าง สายญี่ปุ่นบ้าง เอ็นจีโอต่างๆ เยอะ ถ้าภาพกัมพูชาเป็นอันธพาลถึงที่สุด ผมเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อความช่วยเหลือ นี่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่กลัว
กัมพูชามีปัญหาคือยกระดับประเทศเข้ามาสู่โลกเศรษฐกิจที่เท่ากันไม่ได้ สังเกตสิว่ายังเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ ไม่ได้ เพราะอะไร ยังไม่ได้ดัชนี จีพีพีไม่ถึง เขาถึงได้ต้องสร้างเรื่องเพื่อยกระดับตัวเอง ซึ่งผมมองว่าเขาคิดผิด ผมคิดว่าอาจกลับไปสู่จุดเริ่มต้น แต่ต่างตรงที่กัมพูชาได้มีการใช้กำลังที่เป็นอาชญากรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายแล้ว ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพอย่างนี้ ถ้ากลับสู่จุดเริ่มต้น ประเทศไทยสามารถจัดตั้งกฎเกณฑ์เพื่อโต้ตอบได้ พูดง่ายๆ ถ้ากัมพูชาไม่กลับเข้าเจบีซี ไม่ถอนทหาร เราก็มีสิทธิ์พิจารณาใช้ทหารในระดับที่เท่ากันหรือมากกวาได้ โดยโลกจะว่าเราไม่ได้ เพราะเราเดินไปตามกฎเกณฑ์แล้ว
อาจารย์มองยังไง?
ดร.ตุลยภาค : ท่านอาจารย์ก็ตอบได้ครบถ้วนแล้ว ผมก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่มีสิ่งที่อยากเพิ่มเติมนิดนึง ประเทศไทยก็ต้องเก็บหลักฐานที่ฮุนเซน ฮุน มาเนต ในเฟซบุ๊ก หรือแถลงการณ์ไม่แถลงการณ์เป็นทางการอย่างไร ก็เก็บไว้ให้เป็นระบบ ผมว่ามีสำนวนโอหารของท่านฮุนเซน พูดเอาไว้ ตั้งแต่ 28 พ.ค. ถึงห้วงเวลานี้ ผมเจอสุนทรภาพของท่านตัวนึง หน่วยความมั่นคงมาให้ผมพิจารณา ท่านฮุนเซนพูดถึงประชากรกลุ่มนึงที่เรียกว่าขแมร์เลอร์ คือเขมรถิ่นไทย ประชาชนคนไทยที่มีเครือญาติฝั่งกัมพูชา คือพี่น้องที่อาศัยอยู่อ.ปลายแดนของจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เทือเขาพนมดงรักอีสานใต้ เขาเรียกว่าขแมร์เลอร์ เขมรสูง แต่อีกฝั่งจะเป็นเขมรต่ำ เขมรสูงท่านฮุนเซนพูดเมื่อไม่นานกว่านี้ มีไม่น้อยทรยศชาติ เป็นพลเมืองไทย เขาจะยิงทำลายด้วยจรวด แต่ต้องขอตรวจสอบอีกที แต่ผมได้ข้อมูลอย่างนั้นมา และถ้าเป็นอย่างนั้น แสดงว่าฮุนเซนไม่มีสำนึกเลย ความเมตตา สันติธรรมต่อมวลมนุษยชาติ แม้แต่เบรนด์ดิ้ง เขมรถิ่นไทย เขาพูดยั่วยุผสมปนเปกันไป ผมว่าสิ่งเหล่านี้อันตรายต่อการได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ถ้าเราสามารถรวบรวมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้แน่นขึ้น ผมว่าระบอบฮุนเซน ฮุน มาเนตรจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะละเมิดสิทธิมนุษยธรรม อีกเรื่องคนถามเยอะว่าการปะทะครั้งนี้จะจบยังไง เส้นจบอยู่ตรงไหน มุมผมก็คิดว่าต้องถามกองทัพไทยว่าจะจบยังไง จบแบบซัดอาวุธลูกยาว หรือปีนใหม่ที่แม่นยำต่างๆ ไปทำลายกำลังรบกัมพูชา แต่ว่าทำลานแล้ว สุดท้ายมาเจรจากัน กัมพูชาก็ยังมาวางกำลังเหมือนเดิม ในพื้นที่พิพาทหรือจุดเขาเอาขึ้นศาลโลก ผมคิดว่าไทยต้องมีอีกแบบนึง ว่าอาจต้องผลักทหารกัมพูชาด้วย เช่นในพื้นที่ที่ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนเป็นแนวอาณาเขต บางจุดสันปันน้ำเริ่มไม่ชัด เพราะสิ่งปลูกสร้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เข้ามาคร่อม ถ้าทหารไทยใช้กำลังผลักทหารออกจากแนวสันปันน้ำ แล้วให้อยู่ตรงขอบหน้าผา ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นอีกอันถ้าทหารไทยทำแบบนี้ได้ มันจะจบมั้ย ถ้าจบได้ก็ไม่ลุยต่อแล้ว แต่อยู่ที่กัมพูชาจะคุยแบบสันติวิธีมั้ย
กัมพูชามี PSL-03 เป็นจรวดลำกล้องจากจีน ยิงได้ เป็น 10-30 กิโลเมตรจะเข้ามาถึงตัวเมืองด้วย ตรงนี้เราต้องกำจัดให้ได้ เขามี 6 ชุดมองยังไง?
ดร.ตุลยภาค : ผมว่าการที่ตร.ยิงระยะไกลมีไว้ป้องกันทหาร แต่กัมพูชาไม่มีความอดทนอดกลั้นในการป้องปราม จะเอมาใช้จริงตลอด แต่ระยะยิงจะไกลกว่า ถ้าเขาเอาไปตั้งชายแดนไทยตรงติดสระแก้ว แล้วยิงเข้ามา ปริ่มๆ ตัวเมืองปราจีนบุรี แต่ถามนิดนึง ทหารไทยไม่มีเลยเหรอ จรวดหลายลำกล้องเหล่านี้ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ปี 54 56 ที่มีศึกภูเขาพระวิหารกับกัมพูชาด้วย ผมเช็กจากข้อมูล 180-300 กิโลเมตรที่เรามี ถ้ากัมพูชามีฐานยิงแถวจันทบุรี หรือตราดยิงออกมาเป็นเส้นขนาน เป็นแนวระนาบ มันก็ถึงพนมเปญ ดังนั้นอาวุธไกล การโจมตีในทางลึกมี แต่ว่าเรายังไม่ใช้ เพราะเป็นข้อดี ครับ เพราะว่าสงครามป้องกันสติภาพ เราไม่รีบใช้ ตอนนี้ ผมว่ามันได้เปรียบ เรื่องภาพลักษณ์ สมัยที่ผมต้องไปอยู่กัมพูชา ผมเคยไปก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่าสมาคมชาวกัมพูชา มีชาวกัมพูชาที่มาอยู่ประเทศไทยหลายสิบปี มาเป็นพระก็เยอะ มาเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย แล้วกลับไปเป็นอาจารย์ เป็นคณบดีที่กัมพูชา คนเหล่านี้มีจำนวนเป็นหมื่นหรืออาจเป็นแสน อนาคตถ้าเรากลับมาพูดจากันได้ เราหาคนเหล่านี้ให้พบ คนเหล่านี้อาจเป็นกำลังสำคัญทำให้เราไม่ต้องไปอยู่ภายใต้คนบ้าคนเดียวหรือสองคน แล้วพาทั้งประเทศเดือดร้อน แต่วิธีการไหนยังไม่พูดตอนนี้ คนเหล่านี้พอกลับไปแล้วเขายังมีความผูกพัน ยังพูดไทย ชอบทุกอย่างที่เป็นเมืองไทย ทางการเมืองก็จะมีเรื่องแบบนี้อยู่ มีคนหลายคนรู้จักกัน เขาใช้วิธีไม่พูดถึงเลย เหมือนนั่งรอดำอยู่ใต้น้ำว่าเมื่อไหร่จะจบสิ้น เขากลัวเราจะไปสู่จุดที่เราคบกันไม่ได้ สุดท้ายประเทศอื่นเข้ามาขวางกลาง แทนที่เราจะซื้อขายกัน อาจต้องซื้อขายผ่านประเทศอื่นหรือเปล่า เพราะคุยกันไม่ได้ เขาก็เริ่มกังวลเรื่องนี้ แต่วันนี้ก็ต้องว่ากันไปตามหน้างานก่อน วันนี้เกิดความเสียหาย ละเมิดกันถึงขนาดนี้ ก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน
มองว่าจะยืดเยื้อมั้ย?
จักรภพ : ผมว่าไม่ครับ แต่ประเทศไทยอาจต้องผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาดสองสามอย่าง อย่างที่ผมใช้คำว่าหมัดน็อก คงใช้การพิจารณาร่วมกัน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเราก็ต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยทัศนคติที่ชัดเจนว่าเราต้องการให้มีมิตรภาพเหลืออยู่นะ หลังจากปฏิบัติการไปแล้ว พูดง่ายๆ อยากให้คนไม่ดีออกไป แต่ก็ไม่ง่าย เราต้องเด็ดขาด ถ้าไม่เด็ดขาด คิดว่าปฏิบัติการทางทหารทำไม่ได้ ต้องเด็ดขาด
สุดท้ายอยากบอกอะไรกับประชาชนคนไทยที่ติดตามสถานการณ์แล้วมีอารมณ์ร่วมกับตรงนื้?
ดร.ตุลยภาค : พี่น้องที่อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เขตอีสานใต้ คนเขมรเรียกขแมร์เลอร์ เขมรถิ่นไทย แต่ฮุนเซนใช้จรวดยิงทำลายพี่น้องประชาชน คำถามคือเราจะอยู่กับเพื่อนบ้านโดยสันติ ส่วนนึงแล้วอยู่ที่พฤติกรรมระบบคิดของชนชั้นนำของประเทศนั้นด้วย ว่าเขามีระบบคิดอย่างไร ในเมื่อเขาเห็นว่าคนอยู่ถิ่นไทยที่เขาเรียกขแมร์ เขายังยิงทำลายได้เลยด้วยอาวุธที่มีอานุภาพสูง ซึ่งก็คือคนไทยนั่นแหละที่เสียชีวิต วันนี้ถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งผู้นำฝ่ายตรงข้ามที่คิดแบบนี้ได้เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากป้องกันตัวเองด้วยการทำสงครามป้องกันสันติภาพที่ผมนำเรียนไปแล้ว แค่นี้แหละครับ ถ้าเรามีจุดยืนแบบนี้ เราก็จะมีความชอบธรรม และปกป้องประชาชนของเราได้ หรือประชาชนที่เขาบอกว่าเป็นเครือญาติกับทางเขา แล้วเขาใช้อาวุธหนักเข้ามาทำลาย แต่เราปกป้อง อันนี้จะเป็นสันติภาพที่ยั่งยืนและมีคุณค่า น่าทะนุถนอมไว้นะครับ
จักรภพ : ไม่อยากให้คนเกลียดกัน อย่าไปถึงคนไม่เกี่ยวข้อง พยายามมีเมตตา พยายามเข้าใจ เอามาเป็นเพื่อนเป็นฝูง หลังมันผ่านไปแล้ว คนมีความดีความเลวต่างกันได้ แต่ไม่ควรประเมินกันด้วยกลุ่มเช่นเชื้อชาตินี้ต้องเลวหมด ศาสนานี้ต้องเลวหมด หรือเผ่านี้ต้องเลวหมด ไม่งั้นเราคงต้องทำสงครามขนาดใหญ่กันตลอด แต่ละคนก็แตกต่างกัน ถ้าเราเป็นพุทธ พุทธมีธรรมะหลายข้อ แต่เรื่องความเมตตาพระหลายองค์พูดว่าแค่มีเมตตาเรื่องเดียว บางทีมันแก้ปัญหาได้สารพัดนะ เมตตาทำให้หยุดคิด หยุดทำร้ายคน หยุดพูดจาเสียดแทง ทำร้ายด้วยวาจา แต่แน่นอน ทหารก็ทหารไป นโยบายก็นโยบายไป ย่อหย่อนไม่ได้ ประชาชนก็ขอให้คิดว่าเรามีภาระที่จะอยู่ด้วยกันต่อไป