อ่าน “MOU 43” ฉบับเต็ม กำหนดว่าอะไร ทำไมกัมพูชาพยายามเอามาอ้าง?
บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยปรารถนาที่จะกระชับความผูกพันแห่งมิตรภาพที่มีอยู่ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เชื่อว่าการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทยจะช่วยระงับความขัดแย้งตามชายแดนที่เกิดจากปัญหาเขตแดน และจะกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีอยู่ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
และเอื้ออำนวยต่อการเดินทางและความร่วมมือของประชาชนของประเทศทั้งสองตามแนวชายแดน
ระลึกถึงแถลงการณ์ร่วมของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2537 (ปี ค.ศ. 1994) ซึ่งได้ตกลงกัน จะจัดตั้งคณะกรรมการเขตแดนร่วมก้มพูชา-ไทยในเวลาอันสมควร
ระลึกอีกด้วยถึงคำแถลงร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกัมพูชา-ไทยฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2540 (ปี ค.ศ. 1997) ซึ่งได้ตกลงกันจะจัดตั้งคณะกรรมาธิการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกัมพูชา-ไทย ที่จะได้รับมอบหมายภารกิจให้จัดทำหลักเพื่อชี้แนวเชตแดนทางบกระหว่างประเทศทั้งสอง
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ข้อ 1
จะร่วมกันดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทยให้เป็นไปตามเอกสารต่อไปนี้
(ก) อนุสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับสยามแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 (ปี ค.ศ. 1893) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122 (ปี 1904)
(ข) สนธิสัญญาระหว่างประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ปี ค.ศ. 1907) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ปี ค.ศ. 1907) และ
(ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยามซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 ระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม
ข้อ 2
1. ให้มีคณะกรรมาธิการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกัมพูชา-ไทย ซึ่งต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม” ประกอบด้วยประธานร่วม 2 คนและกรรมาธิการอื่น ๆ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของแต่ละฝ่าย ให้ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นประธานร่วม รัฐบาลของประเทศทั้งสองจะแจ้งการแต่งตั้งดังกล่าวต่อกันภายในหนึ่งเดือนหลังจากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ
2. คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมจะประชุมกันปีละครั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศไทยสลับกัน ในกรณีที่จำเป็น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมอาจประชุมกันสมัยพิเศษเพื่อหารือเรื่องเร่งด่วนที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่
3. ให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมมีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
(ก) รับผิดชอบให้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมเป็นไปตามข้อ 1
(ข) พิจารณาและรับรองแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ
(ค) กำหนดความเร่งด่วนของพื้นที่ที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
(ง) มอบหมายงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมซึ่งจะกล่าวถึงในข้อ 3 ต่อไป และควบคุมดูแลและติดตามการดำเนินการให้เป็นผลตามที่ได้มอบหมาย
(จ) พิจารณารายงานหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมาธิการ
(ฉ) ผลิตแผนที่แสดงเส้นเขตแดนทางบกที่ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
(ช) แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการใด ๆ เพื่อปฏิบัติงานเฉพาะรายใด ๆ ที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม
ข้อ 3
1. ให้มีคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม ประกอบด้วยประธานร่วม 2 คนและอนุกรรมาธิการอื่น ๆ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานกรรมาธิการเขตแดนร่วมของแต่ละฝ่าย
2. ให้คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมมีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
(ก) พิสูจน์ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดของหลักเขตแดน 73 หลักซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยามเมื่อปี ค.ศ. 1909 และ ค.ศ. 1919 และรายงานผลการพิสูจน์ทราบต่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมเพื่อพิจารณา
(ข) จัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วม
(ค) แต่งตั้งชุดสำรวจร่วมเพื่อปฏิบัติงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม
(ง) เสนอรายงานหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนต่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม
(จ) จัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนทางบกที่ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
(ฉ) แต่งตั้งผู้แทนผู้ได้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่จำเป็น เพื่อควบคุมดูแลงานสนามแทนประธานอนุกรรมาธิการเทคนิดร่วม และ
(ช) แต่งตั้งคณะทำงานทางเทคนิดใด ๆ เพื่อช่วยงานเฉพาะรายใด ๆ ที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม
3. ในการปฏิบัติงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ใด ๆ ชุดสำรวจร่วมจะได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากกับระเบิดเสียก่อน
ข้อ 4
1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ให้แบ่งแดนทางบกร่วมกันตลอดแนวออกเป็นหลายตอนตามที่คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมจะได้ตกลงกัน
2. เมื่อดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จแต่ละตอน ให้ประธานกรรมาธิการเขตแดนร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ และแผนที่ที่จะแนบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวซึ่งแสดงตอนที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไว้
ข้อ 5
เพื่ออำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างประสิทธิผล หน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นจะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมเพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
ข้อ 6
1. รัฐบาลแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของฝ่ายตนในการปฏิบัติงานสำรวจ
2. รัฐบาลทั้งสองจะรับผิดชอบค่าวัสดุสำหรับหลักเขตแดนหรือหมุดหมายพยานกับการจัดทำและผลิตแผนที่แสดงเส้นเขตแดนทางบกที่ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกแล้วอย่างเท่าเทียมกัน
ข้อ 7
1. รัฐบาลของประเทศทั้งสองจะเตรียมการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเข้าเมือง การกักกันโรคติดต่อ และพิธีการศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
2. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์ วัสดุ และเสบียงในปริมาณที่สมควรและสำหรับชุดสำรวจร่วมใช้เฉพาะในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก แม้ว่าได้นำข้ามแดน จะไม่ถือเป็นการส่งออกจากประเทศหนึ่งหรือนำเข้าอีกประเทศหนึ่ง และจะไม่ต้องชำระอากรศุลกากรหรือภาษีอื่น ๆ เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกหรือนำเข้าซึ่งสินค้า
ข้อ 8
ให้ระงับข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดจากการตีความหรือการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยสันติวิธีด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา
ข้อ 9
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะเริ่มใช้บังคับในวันลงนามบันทึกความเข้าใจโดยผู้แทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้จากรัฐบาลของแต่ละฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำขึ้นเป็นคู่ฉบับ ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 เป็นภาษาเขมร ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตัวบททุกฉบับใช้เป็นหลักฐานได้เท่าเทียมกัน ในกรณีที่มีการตีความแตกต่างกันระหว่างตัวบทใด ๆ ให้ใช้ตัวบทฉบับภาษาอังกฤษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กต.กัมพูชาแถลง MOU 43 กำหนดให้ใช้แผนที่ฝรั่งเศส แต่ไทยใช้แผนที่ตัวเอง
เทียบกันชัดๆ ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ ปมแผนที่ 1:200,000
แผนที่ 1:200000 คืออะไร? หลังกัมพูชาอ้างสองฝ่ายยึดเขตแดนดังกล่าวใน JBC
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : อ่าน “MOU 43” ฉบับเต็ม กำหนดว่าอะไร ทำไมกัมพูชาพยายามเอามาอ้าง?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com