สหรัฐฯเปิดช่องยืดเจรจาอีก3สัปดาห์แต่ขู่ฟันภาษีBRICSและพันธมิตรเพิ่ม10%
การเจรจาการค้าทั่วโลกเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเส้นตาย 9 กรกฎาคม สหรัฐฯ เร่งปิดดีลกับประเทศคู่ค้า พร้อมเสนอยืดระยะเวลาเจรจาให้บางประเทศอีก 3 สัปดาห์ ท่ามกลางคำขู่ของทรัมป์ว่าจะเก็บภาษีเพิ่ม 10% กับประเทศที่เข้าข้างกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งเพิ่งออกแถลงการณ์ต้านนโยบายสหรัฐฯ
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ State of the Union ทาง CNN ว่า สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเจรจา ซึ่งจะกินเวลาเพียง 72 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนถึงเส้นตาย เขาระบุว่าหากบางประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทันเวลา รัฐบาลอาจพิจารณาให้โอกาสเจรจาต่ออีก 3 สัปดาห์
"เราจะยุ่งมากในอีก 72 ชั่วโมงข้างหน้า" เบสเซนต์กล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความซับซ้อนของกระบวนการในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ต้องจัดการกับประเทศจำนวนมากในเวลาอันจำกัด
กระแสกดดันเพิ่มสูงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียในคืนวันอาทิตย์ว่า จดหมายแจ้งการจัดเก็บภาษีจะเริ่มทยอยส่งออกในช่วงเที่ยงวันจันทร์ ตามเวลาวอชิงตัน โดยในระยะแรกจะจัดส่งไปยังประเทศคู่ค้าประมาณ 12-15 ประเทศ ทรัมป์ย้ำว่าเขามั่นใจว่าหลายประเทศจะสามารถปิดดีลได้ทันเส้นตายที่กำหนด
"ผมคิดว่าเราจะได้ข้อสรุปกับประเทศส่วนใหญ่ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของจดหมายหรือข้อตกลง" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาหลายสัปดาห์แล้วว่า หากการเจรจาไม่สำเร็จ อัตราภาษีเดิมที่สูงกว่าจะถูกนำกลับมาใช้ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เหลืออยู นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเปิดเผยว่าเขาได้เซ็นจดหมายบางฉบับแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยว่าประเทศใดจะได้รับจดหมายเหล่านั้น
ทั้งนี้ แม้จดหมายที่กำลังจะส่งออกจะถูกมองว่าเป็นสัญญาณบีบคั้นคู่ค้า แต่เบสเซนต์ชี้แจงว่า จดหมายเหล่านั้นยังไม่ถือเป็นข้อสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับอัตราภาษีทันที โดยมาตรการภาษีจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในสัปดาห์นี้ สามารถเสนอเงื่อนไขใหม่ได้
"ภาษีจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่ในขณะนี้ ประธานาธิบดียังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาและกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม" นายฮาวเวิร์ด ลัทนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเดินทางกลับวอชิงตันพร้อมกับทรัมป์
นอกจากนี้ เบสเซนต์ยังยืนยันกับ CNN ว่าวันที่ 1 สิงหาคมก็ไม่ใช่เส้นตายสุดท้ายที่ตายตัว หากประเทศใดต้องการเร่งเจรจา ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ในขณะที่ประเทศที่ยอมรับการกลับไปใช้อัตราภาษีเดิม ก็มีสิทธิเลือกทางนั้นเช่นกัน โดยในช่วงทีผ่านมา สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 18 ประเทศคู่ค้าหลัก โดยมีหลายข้อตกลงที่ใกล้จะสรุปผล แม้ว่าจะยังมีบางประเทศที่ขอเวลาต่อรองเพิ่มเติมอยู่
จนถึงขณะนี้ ข้อตกลงที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะมีเพียงกรอบเบื้องต้นกับสหราชอาณาจักร ข้อตกลงชั่วคราวกับจีน และกรอบเบื้องต้นกับเวียดนาม ส่วนการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นภายใต้แรงกดดันของเส้นตายที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ
อาเซียนเร่งปิดดีล กัมพูชาอ้างได้กรอบข้อตกลงแล้ว
ด้านความคืบหน้าการเจรจากับประเทศอาเซียน รายงายระบุว่าขณะนี้ หลายประเทศในภูมิภาคกำลังพยายามหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ โดยกัมพูชาประกาศว่าได้บรรลุกรอบข้อตกลงกับสหรัฐฯ แล้ว และเตรียมเผยแพร่รายละเอียดในเร็ว ๆ นี้ ก่อนหน้านี้ ภาษีที่สหรัฐฯ ขู่จะเก็บจากสินค้ากัมพูชาสูงถึง 49% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศคู่ค้า โดยกัมพูชาเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและรองเท้ารายใหญ่ไปยังตลาดสหรัฐฯ
ด้านอินโดนีเซียส่งสัญญาณเชิงบวกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าใกล้จะบรรลุข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมทั้งสินแร่ พลังงาน ความร่วมมือด้านกลาโหม และการเปิดตลาด ก่อนเส้นตายที่กำลังจะมาถึง
สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่าขณะนี้รัฐบาลไทยเร่งเดินหน้าเจรจาอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในอัตรา 36% ที่สหรัฐฯ ขู่ว่าจะจัดเก็บกับสินค้าส่งออกของไทย ข้อเสนอของไทยคือการเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มคำสั่งซื้อพลังงานและเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐฯ
ขู่เก็บภาษี BRICS เพิ่ม 10% หลังผู้นำวิจารณ์นโยบายทรัมป์
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลและทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ จะมีท่าทีผ่อนปรนลง แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองได้จุดกระแสความตึงเครียดขึ้นกับกลุ่มคู่ค้าอีกครั้งด้วยการประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ประเทศใดก็ตามที่เลือกเข้าข้าง“นโยบายต่อต้านสหรัฐฯ ของกลุ่ม BRICS” ("Anti-American policies of BRICS") จะต้องเผชิญกับ ภาษีเพิ่มเติมอีก 10% โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น
“ประเทศใดที่เข้าข้างนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ ของ BRICS จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% โดยจะไม่มีการยกเว้นให้กับใครทั้งสิ้น” ทรัมป์ประกาศผ่าน Truth Social ในคืนวันอาทิตย์
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้นำของกลุ่มได้ออกแถลงการณ์ร่วม ประณามการโจมตีของสหรัฐฯ และอิสราเอลต่ออิหร่าน รวมถึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ถอนทหารออกจากฉนวนกาซาโดยทันที
นอกจากประเด็นอิหร่าน BRICS ยังแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ใน ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง พร้อมระบุว่าอิสราเอลกำลังขัดขวางการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา แม้อิสราเอลจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตาม ผู้นำ BRICS เรียกร้องให้มี การหยุดยิงถาวรและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมด
แถลงการณ์นี้เป็นการตอบโต้โดยตรงต่อปฏิบัติการที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เมื่ออิสราเอลเริ่มโจมตีอิหร่าน ก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอีก 9 วันต่อมา ซึ่งกลุ่ม BRICS มองว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดอธิปไตยของประเทศสมาชิกในกลุ่ม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ยังใช้เวทีนี้เรียกร้องให้กลุ่ม BRICS เป็นผู้นำในการ ปฏิรูประบบธรรมาภิบาลโลก เพื่อให้มีความยุติธรรม มีเหตุผล มีประสิทธิภาพ และเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น หลี่ระบุว่า “โลกในวันนี้กำลังเผชิญกับความปั่นป่วนที่เพิ่มขึ้น กระแสชาตินิยมฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้ากำลังกลับมาอีกครั้ง จีนพร้อมทำงานร่วมกับประเทศ BRICS เพื่อผลักดันโลกให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้หากมีการเก็บภาษีกลุ่ม BRICS เพิ่ม 10% จริง ไทยอาจได้รับผลกระทบไปด้วย
คำเตือนต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าถ้อยแถลงของทรัมป์ในครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนโดยตรงต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่กำลังพิจารณาจะเข้าร่วมแนวทางหรือสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ BRICS โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กลุ่มนี้กำลังแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ ผ่านประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์
หมิงเจ๋อ อู๋ นักเทรดจาก StoneX Financial Inc. ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า “ถ้อยแถลงของทรัมป์เป็นการยิงปืนขึ้นฟ้าก่อน เหมือนจะเตือนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อาจเลือกข้าง BRICS โดยเฉพาะหลังจากที่กลุ่มนี้ออกแถลงการณ์สนับสนุนฉนวนกาซา”
แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่านโยบายแบบใดที่ถือว่าเป็น “ต่อต้านสหรัฐฯ” และยังไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่แน่ชัดของการเก็บภาษีดังกล่าว แต่บรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ก็กำลัง เร่งเจรจาข้อตกลงการค้า หรือพยายามขอเวลาขยายเพิ่มเติมก่อนเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม
อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ออกมาให้ข้อมูลเพียงสั้น ๆ โดยโฆษกกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจ นายฮารโย ลิมันเซโต กล่าวว่า “ยังไม่มีความเห็นโดยตรงเกี่ยวกับถ้อยแถลงของทรัมป์ในเรื่องภาษีเพิ่มเติมต่อ BRICS ขณะนี้ทีมเจรจากำลังดำเนินงานอยู่ และเราหวังว่าจะสามารถหาข้อตกลงที่ดีที่สุดร่วมกับสหรัฐฯ ได้ในที่สุด”
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนยังไม่ออกมาให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าหลายประเทศในเอเชียเลือกใช้ท่าทีระมัดระวังต่อถ้อยแถลงของทรัมป์
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นภาษีแล้ว ทรัมป์ยังเคยขู่ก่อนหน้านี้ว่าจะเก็บภาษีในอัตรา สูงถึง 100% กับกลุ่ม BRICS หากกลุ่มนี้เลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐในการค้าทวิภาคี แรงกดดันนี้ทำให้หลายประเทศในกลุ่ม BRICS เร่งผลักดันการพัฒนา ระบบการชำระเงินท้องถิ่นและกลไกทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยไม่ต้องพึ่งพาดอลลาร์
ในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุด ผู้นำ BRICS ได้ตกลงที่จะเดินหน้าหารือเกี่ยวกับ ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนสำหรับการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่หารือกันมานานกว่า 10 ปี แต่ยังมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยจนถึงปัจจุบัน