มาทำความรู้จักอาชีพ บัดเทนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญกัญชา ที่ไม่ใช่แค่คนขาย
วันที่ 15 กรกฎาคม นพ.สมยศ กิตติมั่นคง อาจารย์พิเศษด้านกัญชาเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายถึงอาชีพ บัดเทนเดอร์ (Budtender) ว่าเป็นอาชีพที่ถือกำเนิดขึ้นและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา หลังการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์และสันทนาการ โดยเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้กัญชา ทั้งการเลือกสายพันธุ์ วิธีใช้ และการเตือนถึงข้อควรระวัง ซึ่งค่าตอบแทนในต่างประเทศค่อนข้างสูง และเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้จริงจัง ไม่ใช่เพียงคนที่สูบกัญชาเป็นอย่างเดียว
คำว่า บัดเทนเดอร์ มาจากการผสมระหว่างคำว่า Bud หมายถึงช่อดอกกัญชา และ Bartender ผู้ที่ชำนาญในการผสมเครื่องดื่ม ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกผู้ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเรื่องกัญชาอย่างละเอียด โดยเฉพาะในร้านขายกัญชาที่ถูกกฎหมาย ซึ่งในต่างประเทศ บัดเทนเดอร์ต้องผ่านการอบรม ได้ใบรับรอง และรู้จักสายพันธุ์กัญชา สารสำคัญ ตลอดจนผลต่อสุขภาพ เพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยหรือผู้บริโภคได้ถูกต้องและปลอดภัย
นพ.สมยศ ชี้ว่าบัดเทนเดอร์ในไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยหน้าที่สำคัญไม่ใช่แค่ขายกัญชา แต่ต้องตรวจสอบว่ากัญชามาจากแหล่งที่มีมาตรฐาน GACP และแต่ละล็อตมีใบ COA แสดงสารสำคัญและสารตกค้าง ต้องเข้าใจว่าสายพันธุ์ไหนเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาแตกต่างกัน เช่น ลดน้ำตาลในเลือด หรือบรรเทาอาการอื่น ๆ อีกทั้งต้องแนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้อง ไม่จำกัดแค่การสูบ และต้องอธิบายข้อควรระวังได้ด้วย
ประเด็นที่หลายคนมองว่าร้านกัญชาในไทยเป็นเพียงที่รวมตัวของผู้สูบ นพ.สมยศยืนยันว่าผู้เป็นบัดเทนเดอร์ต้องมีความรู้จริง อ่านเอกสารทางวิชาการ ใบ COA และสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับแพทย์ที่ออกใบสั่งยา ภ.ท.33 ได้อย่างเข้าใจ เพราะกัญชามีสายพันธุ์นับหมื่น ความรู้ต้องกว้างและลึก ไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการใช้เอง
วันที่ 17 กรกฎาคมนี้ สมาคมธุรกิจกัญชาจะจัดอบรมบัดเทนเดอร์ครั้งแรกในประเทศไทย โดยเปิดรับสมัครเพียง 2 ชั่วโมงก็เต็มแล้ว ซึ่งจะเป็นการอบรม 1 วัน เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องกฎหมายและความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับกัญชา สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานความรู้เดิมอยู่แล้ว สะท้อนว่าอาชีพนี้ในไทยเริ่มได้รับความสนใจ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้หากขาดความรู้และทักษะที่รอบด้าน