เปิดภารกิจ “DMT” กู้โลกจาก Climate Change ลดก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ในปี 2065
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้ง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ขยะทะเล หรือมลพิษในอากาศ ล้วนแล้วเกิดจากมนุษย์ผู้เป็นต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นการแก้ปัญหากู้โลกจาก Climate Change จึงมีองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ประกาศความร่วมมือกัน เช่นเดียวกับประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT แถลงข่าวเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Tollway Better Way – ยกระดับคุณภาพชีวิต” และ “Tollway Green Way – ยกระดับสิ่งแวดล้อมและสังคม” โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมการทำนาแบบลดการใช้น้ำ (Alternate Wetting and Drying: AWD) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ โดยเริ่มดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ 20 ไร่ ที่ตำบลวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรมปลอดสารเคมี เสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน และวางรากฐานด้านเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรเสริมความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและเป้าหมายเชิงสิ่งแวดล้อม
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า DMT ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการจัดทำบัญชีคาร์บอนขององค์กร (CFO) และแผนลดคาร์บอน (Decarbonization Roadmap) โดยในปี 2565 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 3,463 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี พร้อมตั้งเป้าเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี 2050 และเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO₂e ได้กว่า 348 ตันต่อปี นอกจากนี้ DMT ยังได้รับการประเมิน SET ESG Ratings ระดับ “AA” ในกลุ่มธุรกิจบริการจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตั้งเป้าภายในปี 2568 ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และชุมชนโดยรอบพันธมิตรผนึกกำลังขับเคลื่อนโครงการต้นแบบ
โครงการ “ทำนาลดคาร์บอน” ดำเนินการโดยบริษัท เนตซีโรคาร์บอน จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ พร้อมความร่วมมือจากบริษัท สไปโร คาร์บอน จำกัด ผู้ให้บริการระบบติดตามและประเมินผลแบบดิจิทัล (dMRV) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจวัดผลการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแม่นยำ
นายธนนนท์ เตรียมชาญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนตซีโรคาร์บอน จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังผลักดัน NBS (Nature Based Solutions) เป็นการนำเอาทรัพยากรในระบบนิเวศน์ที่มีอยู่แล้วมาฟื้นฟูเพื่อแก้ปัญหาสังคม เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) มาตอบโจทย์ในภาคเกษตร การทำนาโดยปรับเปลี่ยนสังคมในหลายมิติ เพื่อลดปัญหาโลกร้อน
เช่นการลดการใช้น้ำ การลดการปล่อยก๊าซมีเทน ลดฝุ่นควัน เพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนการสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร และพัฒนาทักษะความรู้การใช้วิธี AWD ช่วยลดการใช้น้ำ เพิ่มผลผลิต และลดการปล่อย PM2.5 และก๊าซเรือนกระจก โดยจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านการทำนาวิธีนี้ และระบบ dMRV นี้เองคือหัวใจสำคัญในการสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในระดับสากล เพราะข้อมูลสามารถตรวจสอบได้จากดาวเทียมและ AI ในการนำไปใช้จัดทำรายงานคาร์บอนเครดิตในอนาคต
ด้านนายสุภณ ทองไพสิธ ชาวนาต้นแบบจากจังหวัดปทุมธานี กล่าวการเริ่มต้นของการทำนาเปียกสลับแห้งเริ่มจาก 2 ปีที่แล้ว ตนเองก็มีพื้นที่ทำนา 20 ไร่ มีพื้นที่ทำเลในการทำนาค่อนข้างดี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีคลองน้ำ และอยู่ในบริเวณการทำน้ำประปาก็จะอาศัยสูบน้ำปล่อยน้ำเข้านาได้ง่ายไม่มีความกังวล ซึ่งปีนี้ปลูกข้าวหอมปทุมธานี เพราะชอบความท้าทาย มีความยาก แต่เหมาะสำหรับบริษัทที่จะซื้อผลผลิตหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวคาร์บอนแล้วจะซื้อกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้กับลูกค้าของ DMT ในอนาคตต่อไป