ทนายทักษิณ เผยไต่สวนพยานคดีชั้น 14 นัดหน้า เตรียม'เเพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ' ขึ้นศาล
15 ก.ค.2568 ที่ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวน นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ กลุ่มแพทย์ประจำสถานพยาบาลราชทัณฑ์ 5 ปาก และกลุ่มพัศดีเวรประจำวัน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ส่วนในวันนี้เป็นการไต่สวนพยานส่วนของผู้บริหารเครือกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารโรงพยาบาลราชทัณฑ์
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความทักษิณ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการไต่สวนนัดที่ 4 ว่า ในวันนี้ศาลได้เรียกพยานจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรองผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่อยู่ในช่วงที่มีการรับตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
ส่วนที่ศาลจะซักถามบุคคลเหล่านี้ในประเด็นใดนั้นตนไม่ทราบ ไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ในส่วนของ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาดว่าน่าจะเป็นส่วนในการพิจารณาตัวบทกฎหมายระเบียบ ขั้นตอน เกี่ยวข้องกับเรือนจำและราชทัณฑ์ และมีบางส่วนที่อธิบดีอาจจะต้องใช้อำนาจดุลยพินิจ ในการที่จะให้นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำ ส่วนจะเป็นประเด็นตามที่ตนพูดหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่า ศาลท่านจะให้ความสนใจหรือสอบถามในเรื่องใดบ้าง
สำหรับการไต่สวนในวันนี้ ศาลยังอนุญาตให้ผู้ที่สนใจรวมทั้งสื่อมวลชนเข้ารับฟัง แต่ในส่วนของสื่อมวลชน ไม่อนุญาตให้มีการนำอุปกรณ์เข้าไปจดบันทึก โดยให้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ขณะที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี ก็ยังเดินทางมารับฟังการไต่สวนเช่นทุกครั้ง
ไต่สวนพยานทั้งหมด 6 ปาก
สำหรับบรรยากาศการไต่สวนวันนี้ศาลได้นัดไต่สวนพยานทั้งหมด 6 ปาก ในช่วงเช้าศาลได้ไต่สวนพยานจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย
1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2.นายนัสที ทองปลาด อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 3.นายสิทธิ สุทธีวงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 4.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์
และอีก 2 ปาก ไต่สวนในช่วงบ่าย คือ 5.นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ 6.นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้บริหารโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ไต่สวนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการรับตัวนายทักษิณเข้ามาที่เรือนจำการตรวจร่างกายของพยาบาลเรือนจำ การส่งตัวนายทักษิณไปรักษายังโรงพยาบาลตำรวจ อาการป่วยของนายทักษิณ โดยมีความเห็นของแพทย์ ที่จะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเร่งด่วน และมีการขยายเวลาการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในช่วงเวลา 30 วันและช่วงเวลา 60 วัน
โดยพยานระบุว่า มีการเซ็นคำสั่งไปตามความเห็นของแพทย์ โดยในการพิจารณาดังกล่าว เป็นไปตามกฎกระทรวง และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ รวมถึงเรื่องการพักโทษนายทักษิณ
ส่วนช่วงบ่ายเป็นการไต่สวนแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีก 2 ปาก โดยพยานรายที่ 5 คือ นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยในขณะที่มีการส่งตัวจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ พยานดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ ส่วนการแพทย์ ทำให้พยานมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย เฉพาะช่วงที่มีการพิจารณารักษาโรงพยาบาลภายนอกเกิน 120 วัน โดยทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ขอความเห็นประกอบการพิจารณาว่า การที่จำเลยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในตอนนั้น เกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่
สอบถามพยานความเห็นทางการแพทย์
นอกจากนี้ ศาลยังเน้นสอบถามพยาน ในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์ว่า อาการในวันส่งตัว รวมถึงประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สอดคล้องกันหรือไม่ และแนวทางการรักษาทั้งหมดเกินศักยภาพของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์จริงหรือไม่ โดยมีการให้ดูเอกสารบันทึกของแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลรักษาจำเลย ขณะที่อยู่โรงพยาบาล และถามความเห็นในฐานะแพทย์
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลซักถามเสร็จสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง ทนายความของจำเลย ได้ขออนุญาตศาลสอบถามพยานว่า ในทางการแพทย์ การที่แพทย์ที่ไม่ได้ทำการรักษาคนไข้เอง มาอ่านบันทึกการรักษาของแพทย์คนอื่น จะมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นทางการรักษาหรือไม่ พยานบอกว่า โดยปกติในทางการแพทย์ สิ่งสำคัญคือแพทย์จะต้องตรวจรักษาผู้ป่วย และซักประวัติด้วยตนเอง จึงจะได้ความเห็นที่ถูกต้องที่สุด
พยานรายที่ 6 คือ นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการส่งตัวจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเป็นผู้มอบหมายแพทย์เวรให้เข้าไปตรวจร่างกายจำเลยในช่วงที่รับตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้ทำการรักษาด้วยตนเอง เนื่องจากมีหน้าที่ในส่วนงานบริหารเท่านั้น ซึ่งศาลได้ถามในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์จากบันทึกการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเช่นกัน และถามย้ำในศักยภาพการรักษาของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ไต่สวนพยานบุคคลต่อ 18 ก.ค.
สำหรับการพิจารณาของศาลในครั้งนี้ มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยศาลอนุญาตให้สื่อมวลชน ที่ได้รับอนุญาตเข้าฟังการไต่สวน แต่ไม่อนุญาตให้จดบันทึกคำเบิกความ โดยไม่ให้นำกระดาษและปากกาเข้าไปภายในห้องพิจารณา เนื่องจากป้องกันไม่ให้กระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล เเละมีคำสั่งไปไต่สวนพยานบุคคลต่อในวันที่ 18 ก.ค.2568
ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องกล่าวว่า วันนี้ตนได้ยื่นขอให้ศาลอนุญาตเปิดเผยข้อเท็จจริง ที่ทนายความของนายทักษิณ ขอศาลมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดการไต่สวน เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญเเต่ศาลฎีกายกคำร้อง แต่ก็ไม่ถึงขนาดไม่อนุญาตให้เข้าฟัง เพียงแต่ให้อยู่ในภาพรวม ถ้าตนเป็นทนายความของนายทักษิณจะอนุญาตให้เปิดเผยความจริงทั้งหมด
ขณะนี้ความจริงเปิดออกมา ก็เสียวไส้กับคนที่ไปช่วยกระบวนการ ที่อาจจะต้องไปติดคุกแทน เพราะได้พานายทักษิณไปนอนโรงพยาบาล ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ตนจะนำใบเสร็จมาเเสดง ว่าทำไมนายทักษิณจะต้องจ่ายเงิน ทั้งที่น่าจะไม่ได้ป่วย เมื่อความจริงปรากฎ จะได้รู้ว่านายทักษิณโกหกประชาชนอย่างไร และเป็นต้นตอที่ต้องมาเสียเวลากับเหตุนี้ทั้งหมด ที่ผ่านมา ศาลก็ระมัดระวังเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่อยากให้สื่อลงรายละเอียดคำไต่สวนทั้งหมด ทำให้พยานที้ยังไม่ได้สืบรู้ว่าพยานก่อนหน้านี้เบิกความอย่างไร ก็ต้องเข้าใจศาล
"วรงค์" เผยแทบจะน็อค End game
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า พยานเบิกความแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรกเกี่ยวกับราชทัณฑ์ ชุดที่สองเป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เรียกว่าแทบจะน็อคแล้ว หรือ End game เพราะทุกอย่างได้รับการเปิดเผยว่า นักโทษที่ถูกส่งตัว และอ้างว่าป่วยวิกฤติ ประเมินแล้วประมาณ 2 วันก็อาการทุเลาแล้ว โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพในการรักษา
ส่วนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์นั้น ศาลได้ซักถามเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์ มีทำการรักษาระหว่างวันที่ 30-120 วัน เป็นอำนาจของใคร ฝ่ายแพทย์อ้างว่าเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ้างว่าเป็นอำนาจของแพทย์
วันที่ 22 ส.ค.2566 ก่อนที่จะส่งตัวนายทักษิณ ศาลก็ได้ซักจนมีเอกสารออกมาว่า ให้มีการเตรียมพร้อม นั่นแสดงว่ามีการรู้แล้วว่า เตรียมพร้อมจะส่งไปโรงพยาบาลภายนอก และยังซักต่อ ประเด็นที่ไม่รับตัวนักโทษกลับเรือนจำ เพราะอาการหนักใช่หรือไม่ ศาลก็ซักต่อว่า ทำไมป่วยหนักต่อเนื่องกัน 181 วัน และวันที่18 ก.พ.2567 ที่ได้ปล่อยตัว จึงมีอาการหายป่วยทันที
ศาลเรียกอธิบดีราชทัณฑ์ให้ข้อมูลส่งตัว
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังศาลเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานจำนวน 6 ปากในคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ว่ากระบวนการไต่สวนวันนี้เป็นไปตามข้อสงสัยของศาล โดยให้ทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์มีโอกาสซักถามอย่างเต็มที่
นายวิญญัติ ระบุว่า ศาลยังได้ออกหมายเรียกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มาให้การเกี่ยวกับกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาเกินกว่า 120 วัน พร้อมรายงานสถิติที่เกี่ยวข้อง และอ้างอิงมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ (Mandela Rules) ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควรได้รับโอกาสในการรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 7 วัน ก่อนจะมีการไต่สวนครั้งถัดไปในวันที่ 18 ก.ค. 2568 ซึ่งจะเป็นการไต่สวนแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และทีมแพทย์ที่ดูแลอาการป่วยของนายทักษิณ รวมทั้งสิ้น 6 ปาก
ขอเบิกพยานเพิ่มอีก 3 ปาก
สำหรับพยานฝ่ายจำเลยที่เหลือ นายวิญญัติ เปิดเผยว่า ได้ยื่นขอเบิกพยานเพิ่มอีก 3 ปาก โดยในจำนวนนี้ 2 รายเป็นแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาไต่สวนแล้ว และได้ยื่นคำถามล่วงหน้า สำหรับใช้ในการซักถามไว้เรียบร้อย ส่วนพยานอีก 1 ปาก ศาลยังไม่มีคำสั่งรับหรือปฏิเสธ แต่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงไว้แล้ว พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าเพื่อความเป็นธรรม ศาลควรพิจารณาอนุญาตให้เบิกพยานรายนี้ด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึง ความกังวลของฝ่ายจำเลย นายวิญญัติ กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เนื่องจากนายทักษิณมีอาการป่วยจริง ทั้งในขณะพำนักอยู่ต่างประเทศ และขณะถูกคุมขังในเรือนจำ โดยเฉพาะในวัยกว่า 70 ปี และมีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำว่าศาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรอบคอบ และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมในที่สุด
ในส่วนของแนวทางการต่อสู้คดี นายวิญญัติ ยืนยันว่า ได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลครบถ้วน โดยการไต่สวนยังอยู่ในกระบวนการปิดลับ ห้ามเปิดเผยถ้อยคำพยานต่อสาธารณะ ซึ่งได้มีการกำชับจากศาลแล้วเช่นกัน สำหรับคำร้องอื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ได้แก่ คำร้องขอใช้สิทธิ์ตั้งคำถามล่วงหน้ากับพยาน และคำร้อง ให้รับบันทึกถ้อยคำของพยานปากสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งชัดเจน ต้องรอการพิจารณาในนัดหน้า
นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง โดยหลีกเลี่ยงการตีความหรือให้ข้อมูลที่อาจสร้างความสับสนแก่สาธารณชน ยืนยันว่าศาลกำลังดำเนินการอย่างรอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรม