นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ‘นักรบผ้าถุง’ ยังสู้ต่อ ทำฐานข้อมูลชุมชนสัตว์น้ำ-ทรัพยากรชายฝั่ง เครื่องมือต่อรอง สิ่งแวดล้อม
สุกรี มะดากะกูล รายงาน
ริมชายฝั่งหาดสะกอม ม.4 ต.ปากบาง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยังคงมีเสียงคลื่นซัดกระทบฝั่งและเสียงของชาวบ้านที่ไม่เคยเงียบหายไป นั่นคือกลุ่มคนธรรมดาที่รวมตัวกันเพื่อรักษาทะเล บ้านเกิด และความมั่นคงทางอาหารของลูกหลาน พวกเขาเรียกตัวเองว่า “นักรบผ้าถุง” เช่นเดียวกับอีกหลายๆกลุ่มคนที่เป็นเครือข่าย จะนะรักษ์ถิ่น ร่วมรักษาทะเลจะนะ และยังคงยืนหยัดผ่านมาหลายครา ตั้งแต่ท่อก๊าซไทย มาเลยเซีย เมื่อ 30 ปีก่อน ตลอดจนจนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนมาล่าสุดโครงการเขตอุตสาหกรรมนิคมจะนะ
เมื่อสองสามปีก่อน ชาวบ้านกลุ่มนี้ยอมทิ้งอวน ทิ้งเรือ ออกเดินทางไกลจากบ้านเกิด รวมกับอีกหลายคนกลุ่ม ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล และองค์การสหประชาชาติในกรุงเทพฯ เพื่อทวงสัญญาจากรัฐให้ประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เปลี่ยนผืนดินให้เป็นโรงงาน แต่กำลังจะกลืนชีวิต กลืนกินวิถีประมงที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
การชุมนุมเมื่อปี 2564 มีชาวบ้าน 37 คนถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สุดท้าย อัยการมีความเห็นไม่ฟ้อง เพราะพวกเขาชุมนุมโดยสงบ สะท้อนเจตนารมณ์การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างชอบธรรม
ภาพการถูกจับครั้งนั้นขณะที่ใส่ผ้าถุงทำให้ฉายาว่า “นักรบผ้าถุง” โด่งดังเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นแลัวต่อสู้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้
แม้โครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมจะนะจะถูกชะลอ แต่ชาวจะนะผู้ต่อต้านทั้งหมดไม่เคยวางใจ พวกเขารู้ดีว่าการลงทุนของนายทุนใหญ่ยังไม่ยุติ เพียงแค่หลบอยู่ในเงา และพร้อมจะกลับมาเมื่อมีโอกาส นั่นคือเหตุผลที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นต้องกลับมารวมพลังให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ภายในชุมชนหมู่ 4 บ้านก๊ะโลมา ชาวบ้านหนึ่งในทีมนักรบผ้าถุง เธอและเพื่อนๆเริ่มเก็บ “ข้อมูลโดยชุมชน” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA และ SEA) พวกเขาลงมือทำฐานข้อมูลสัตว์น้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง และวิถีอาชีพแบบดั้งเดิมด้วยตนเอง จนกลายเป็น “นักวิจัยไทบ้าน” ที่เชี่ยวชาญและรู้จักทะเลบ้านตัวเองดีที่สุด และเป็นข้อมูลมือ 1 จากพวกเธอที่เริ่มทำเป็นข้อมูลแบบวิชาการครั้งแรก ซึ่งเธอภูมิใจมาก
โมเดล “อาหารปันรัก” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่กลุ่มนักรบผ้าถุงคิดค้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานด้านข้อมูลกับความสัมพันธ์ในชุมชน ผ่านกิจกรรมด้านอาหารและเวิร์กช็อป เช่น การสาธิตเมนูพื้นบ้านจากปลาท้องถิ่น พร้อมแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและข้อมูลวิจัยประกอบ ตั้งแต่ช่วงปี 2567 ถึงปี 2568 ข้อมูลที่พวกเขาเก็บรวบรวมไว้อย่างละเอียดเผยให้เห็นความมั่งคั่งทางชีวภาพที่มีอยู่ในทะเลจะนะ
ปลาทะเล: 156 ชนิด (ยังเก็บไม่ครบ)
หอย: 70 ชนิด
ปู: 32 ชนิด
กุ้ง: 22 ชนิด
หมึก: ยังสำรวจต่อ
ปลาโลมา ฉลาม และวาฬมีถึง 9 ชนิด อันนี้บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในทะเลจะนะของเขา จึงเรียกที่นี่ว่าเป็นธนาคารแห่งทะเล ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด และปลาใหญ่ยังคงแหวกว่ายหากินในแถบทะเลนี้เป็นประจำ
โดยงานวิจัยฯมีความร่วมมือจากคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ลงพื้นที่ช่วยฝึกอบรมการเก็บข้อมูลปลา กุ้ง และ สัตว์ทะเลทั้งหมดอันหลากหลาย ทำเป็นตัวอย่าง และแปลงงานวิจัยเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นต่อยอดอีกด้วย
ล่าสุดมีการจัดอบรมภาคพิเศษ ของ SDGs งานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2568 หลักสูตรการพัฒนาผู้นำอย่างยั่งยืน ให้กลุ่มนักรบผ้าถุงดำเนินเพื่อการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นกระบวนการช่วยเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต
และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การจัดการความรู้ รวมถึงการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีในชุมชน
การขับเคลื่อนนโยบายและขับเคลื่อนทางสังคม โดยสร้างและนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ (พลังวิชาการ) ประชาชน (พลังสังคม) ภาครัฐ (พลังการเมือง) มุ่งบูรณาการความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นและสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาสังคม ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถ โดยการพัฒนาศักยภาพผู้นำและองค์กรในทุกระดับเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไกนโยบายและผู้นำในระดับพื้นที่ที่สามารถบูรณาการมิติทางปัญญา ทักษะ และเจตคติที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาในทุกมิติ (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม)
งานวิจัยไม่ได้จบแค่บนกระดาษ แต่ได้สื่อสารถึงคุณค่าของทะเล และการสร้างอำนาจต่อรองเชิงนโยบายที่มีรากอยู่ในชุมชนจะนะ ไม่ใช่เพียงชายฝั่งแต่คือภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อสิทธิ ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนอย่างแท้จริง ท่ามกลางคลื่นของทุนใหญ่ กลุ่มนักรบผ้าถุงยังคงลุกขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยข้อมูล วิถีชีวิต และหัวใจที่ไม่เคยถอย เพราะทะเลคือสิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ถึงชั่วรุ่นลูกรุ่นหลาน
นางจันทิมา ชัยบุตรดี หรือก้ะเนาะ ประธานกลุ่มนักรบผ้าถุง เล่าว่า “ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรายังคงต้องเฝ้าระวัง ทรัพยากรทางทะเล พื้นที่ของเรา เพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายลงทุน ให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พวกเราจึง กลัวว่าจะต้องสูญเสียทรัพยากรทางทะเล กลัวว่าชุมชนของเรา วัฒนธรรมของบ้านเราจะต้องล่มสลาย พวกเราไม่เคยไว้วางใจรัฐเลย หากพวกชาวบ้านอ่อนแอลงเมื่อไหร่ แล้วเขาจะพร้อมที่จะลงมาจัดการกับสิ่งเหล่านี้”
พร้อมย้ำว่าพวกเราจึงต้องร่วมการป้องกันอย่างเข้มแข็งให้มากขึ้น และสื่อสารให้คนข้างนอกได้เห็นความสำคัญ ให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ว่าพื้นที่จะนะมีความอุดมสมบูรณ์มากมายอย่างไร เราเก็บข้อมูล ทำ Sea ร่วมมือทำกับสภาพัฒน์ และ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ถึงประมาณเดือนสิงหาคมนี้ก็จะเสร็จ
เราเรียกร้องว่า รัฐจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของคนในพื้นที่ก่อนว่าเรามีแค่ไหน หากจะลงทุน การพัฒนาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับวิถีของพวกเรา พี่น้องชาวบ้านต้องการแปรรูปอาหาร ต้องการท่องเที่ยวชุมชนเป็นต้น
การพัฒนาลงทุนที่ใดๆก็ตามในประเทศนี้ รัฐบาลต้องเข้ามาดู และยึดความต้องการของชาวบ้าน ประชาชน คำนึงถึงความยั่งยืนก่อน ดูว่าเขามีอะไร เช่นที่จะนะ ที่นี่ป็นความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารโลก แล้วรัฐฯจะมาถมทะเล ทำท่าเรือ ทำพื้นที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่ ประเทศหลายๆประเทศต้องการอาหารขาดแคลนอาหาร การพัฒนาจริงๆรัฐควรมาส่งเสริม ทำอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง อาหารแปรรูป อะไรก็ตาม มาส่งเสริมเราสิ ให้สอดคล้องกัน ถึงจะยั่งยืนจริง
เจ๊ะเสาะ หนุดทอง กลุ่มนักรบผ้าถุง /ชาวประมงพื้นบ้าน ม.4 กล่าวถึง “วิถีชีวิตและการปกป้องฐานทรัพยากรชุมชนว่า วันนี้สามีออกเรือ นำเรือกลับ ได้อาหารทะเลมาประมาณ 1 เข่ง ก็ดีใจมากแล้ว แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว อันนี้แหละที่อยากมาให้เห็นว่า ทรัพยากรของเรา มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหม้อข้าวหม้อแกง เป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นเหมือนธนาคารอาหาร ที่ไม่มีวันหมด เราจึงต้องปกป้อง รักษาให้ธรรมชาติคงอยู่ไปนานๆ จะได้ยั่งยืน”
ถ้าอยากพัฒนาจริง ต้องมาช่วยชาวบ้าน ต้องเป็นการอนุรักษ์รักษาทะเลของเรา ให้มันยั่งยืนด้วย ไม่ใช่มาทำลาย นี่คือบ้านเรา เราเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ เราต้องการ ความยั่งยืนแบบที่มันเป็นจริงๆ แบบที่เห็นๆนี้
ข้อมูลจังหวัดสงขลาระบุว่า อำเภอจะนะมีเศรษฐกิจหลักพึ่งพาเกษตรกรรม โดยเกษตรกรกว่า 14,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกว่า 267,000 ไร่ (ประมาณ 85% ของพื้นที่ทั้งหมด) อาชีพเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาชีพทำสวน พืชสวน/ไม้ผล ส้มจุก (ผลไม้เฉพาะถิ่น)มีชื่อเสียง , มะพร้าว, กล้วยน้ำว้า, ฟักทอง, แตงโม, ข้าวโพดหวานพืชเชิงเดี่ยว ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน เพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมด้าน ปศุสัตว์ เลี้ยงไก่พื้นเมือง, โค-กระบือ, แพะ-แกะ (ยังพัฒนาไม่เต็มระบบ)
นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักพืชคลุมดิน, การทำเกษตรยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัดสงขลา
สงขลาเป็นจังหวัดเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและอาหารทะเลมีสัดส่วนกว่า 44% ของ GDP จังหวัด