โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

EIC วิเคราะห์การเจรจาสหรัฐฯ ที่ยังไม่ลุล่วงกับเส้นตาย 1 ส.ค. : นัยต่อไทย

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

SCB EIC มองภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ
1. สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้คู่แข่งซึ่งคู่แข่งหลักของไทยเกือบทั้งหมดถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่า (ณ อัตราล่าสุด) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งสำคัญในอาเซียน, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้า และอาจเผชิญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น
2.หากไทยเจรจายอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่ที่สุด) อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร, ไก่เนื้อ และข้าวโพด นับว่ามีความอ่อนไหวสูง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก (แม้จะรวมค่าขนส่งมาไทยแล้ว) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก และผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ ผู้บริโภคในประเทศอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตในประเทศอาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า
3.อุปสงค์ในประเทศจะยิ่งแผ่วลงในครึ่งหลังของปี อาจเห็นการลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการบริโภคจะชะลอตัวแรงขึ้นโดยเฉพาะไตรมาส 4 แผนการลงทุนอาจชะลอออกไป ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เก็บไทยที่อาจสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะหากคู่แข่งสำคัญถูกตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต่ำกว่า การลงทุนจากต่างประเทศอาจถูกดึงดูดไปประเทศคู่แข่งแทนได้ นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ-จีนมีข้อตกลงเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำลงมากจากที่เคยสูงกว่า 100% ในช่วง 1-2 เดือนก่อนอาจทำให้ปัจจัยดึงดูดให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาส่งออกจากไทยไม่มากเช่นเดิม นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และจะชะลอลงแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เต็มที่ อาจทำให้การจ้างงานลดลงตามมา ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ก่อนแล้ว
4.โอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจาสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น อาจมีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้
5.ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน การเจรจาขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากอัตราภาษีตอบโต้ที่ลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรีพร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น การหาตลาดใหม่ และการเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้

ความคืบหน้า US Reciprocal Tariffs หลังเส้นตายใหม่เลื่อนเป็น 1 ส.ค.

ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2025 ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ทยอยส่งหนังสือแจ้งเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อัตราล่าสุดให้ 23 ประเทศคู่ค้าอย่างเป็นทางการ และเลื่อนวันเริ่มบังคับใช้เป็น1 ส.ค. สำหรับทุกประเทศ
(เดิมกำหนดเริ่ม 9 ก.ค.) สหรัฐฯ ส่งรอบแรกถึง 14 ประเทศในวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศกลุ่มแรกนี้ด้วย สหรัฐฯ ระบุจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เท่ากับที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. (รูปที่ 1) SCB EIC มองว่าประเทศที่ได้รับหนังสือฯ จากสหรัฐฯ เป็นกลุ่มแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่ค้าหลักและเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง รวมถึงสหรัฐฯ อาจมองว่าตนมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และอยากเร่งการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานให้ได้ข้อสรุปที่ดีต่อสหรัฐฯ มากขึ้น ในรอบที่สองสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือฯ ให้อีก 9 ประเทศในช่วง 9-10 ก.ค. สำหรับประเทศคู่ค้าที่เหลือกว่าร้อยประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่าอาจจะส่งหนังสือฯ เช่นนี้ให้ในรอบต่อ ๆ ไป และขู่ว่าหากเจรจาไม่คืบหน้า จะเก็บภาษีตอบโต้สูงสุดตามที่ประกาศไว้ ณ 2 เม.ย.

หนังสือสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้คู่ค้าเร่งเจรจาด้วยข้อเสนอที่ดีขึ้น หนังสือสหรัฐฯ ที่ส่งให้แต่ละประเทศมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะในตอนท้ายของหนังสือฯ ที่ย้ำชัดว่า สหรัฐฯ อาจลดอัตราภาษีตอบโต้ลงได้ หากติดต่อยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้นให้สหรัฐฯ ก่อนเส้นตายใหม่ที่ขยับเป็น 1 ส.ค. ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของเดือนกรกฎาคมนี้ อัตรากำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะเรียกเก็บจาก 14 ประเทศนี้ และอาจรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ จะยังคงเป็นอัตราภาษีขั้นต่ำ (Universal Tariffs) 10% เท่ากันทุกประเทศอยู่

ในครั้งนี้สหรัฐฯ คงอัตราภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% แต่ลดให้บางประเทศคู่แข่งของไทย นับเป็นสัญญาณน่ากังวล SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า (1) ไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน (28% หากไม่รวมไทย) ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย (19%) และค่าเฉลี่ยโลก (16%) (2) ไทยมีพัฒนาการในการเจรจาสหรัฐฯ ค่อนข้างช้ากว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่เร่งเจรจาหลายรอบจนได้ข้อสรุปดีลกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. สามารถต่อรองลดอัตราภาษีตอบโต้จาก 46% เหลือเพียง 20% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม และเหลือ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิการส่งออกจากเวียดนาม (Transshipping tariff) และ (3) ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ หากโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีตอบโต้ล่าสุดของสินค้าจีน (30%) และสินค้าเวียดนาม (20%) ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงคู่แข่งในอาเซียนที่ยังไม่ได้ดีลกับสหรัฐฯ แต่พยายามเร่งเจรจาในช่วงนี้เพื่อให้เสียภาษีตอบโต้ต่ำลงกว่าอัตราปัจจุบัน หรือเสียอัตราต่ำกว่าสินค้าจีนหรือเวียดนาม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ มากนัก

ทีมเจรจาการค้าของไทยยืนยันเดินหน้าเจรจาสหรัฐฯ ขอลดกำแพงภาษี รมว.คลัง ผู้นำทีมเจรจาฯ ของไทยให้สัมภาษณ์ว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงใหม่ให้สหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. หลังกลับจากการเดินทางไปเจรจาสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงวันที่ 1-3 ก.ค. จึงสะท้อนว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอใหม่ก่อนส่งหนังสือฯ ออกมาในวันที่ 7 ก.ค. จึงแจ้งเก็บภาษีตอบโต้ไทยในอัตราเดิม ทั้งนี้ข้อเสนอใหม่ของไทยที่ยื่นต่อสหรัฐฯ ในภาพรวมไทยจะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 70% ใน 5 ปี และสมดุลการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วขึ้นกว่าข้อเสนอเดิม นอกจากนี้ ไทยเสนอเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดเหลืออัตรา 0% และลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐฯ

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

1.ผลกระทบต่อสินค้าส่งออก

ความสามารถการแข่งขันของหลายสินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ
หลังสหรัฐฯ คิดภาษีตอบโต้สินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญในอาเซียนและเอเชียเช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน

SCB EIC ประเมินความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเจรจาขอลดภาษีกับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จหรือเจรจาลดภาษีลงได้บางส่วน แต่คาดว่าอัตราภาษีที่ไทยจะถูกจัดเก็บจะยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจอ่อนแอลง ผลจากต้นทุนทางการค้าที่สูงกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์อาจถูกมาเลเซียและฟิลิปปินส์แย่งส่วนแบ่งตลาดได้ ขณะที่สินค้าจากจีน เวียดนาม และเม็กซิโก มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่สินค้าไทยในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่งสัญญาณ นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (สินค้ารายการอื่น ๆ ที่ยังไม่โดนเก็บ Specific tariffs ภายใต้ HS code 84 และ 85) ยังอาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งโดนกำแพงภาษีตอบโต้ 25% ต่ำกว่าไทย

สำหรับสินค้ากลุ่มยางล้อ ไทยต้องเผชิญข้อเสียเปรียบจากมาตรการยกเว้นภาษีที่สหรัฐฯ ให้สิทธิประโยชน์ประเทศสมาชิก USMCA ได้แก่ เม็กซิโก และแคนาดา ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะคู่ค้าอันดับ 1 ได้ในอนาคต นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ไทยอาจมีแต้มต่อในตลาดสหรัฐฯ ลดลงจากกำแพงภาษีที่สูงกว่าคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามค่อนข้างมาก แม้ปัจจุบันไทยจะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯที่มีส่วนแบ่งตลาดมากเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทูน่ากระป๋องทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่อัตราภาษีตอบโต้สินค้าไทยที่จะโดนเก็บสูงกว่า จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นในระยะต่อไป(รูปที่ 2)

อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านศักยภาพทางการผลิตเทียบประเทศคู่แข่งร่วมด้วย เนื่องจากบางอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพการผลิตและแต้มต่อเหนือคู่แข่งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในระยะสั้น เช่น สินค้ากลุ่มยางล้อ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของวัตถุดิบหลัก เช่น ยางธรรมชาติ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่แข็งแกร่งและครบวงจร เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งไทยยังคงมีบทบาทในการเป็นฐานการผลิตสำคัญระดับโลก

สำหรับการรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้บริบทการค้าโลกผันผวนเช่นนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า พัฒนานวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง ควบคู่กับการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกิจกรรมสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ที่อาจทำให้สินค้าไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากไทยในอนาคต

นอกจากประเด็น Reciprocal tariffs ของสหรัฐฯ แล้ว อีกประเด็นที่ควรจับตาคือ ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการทางภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้าที่มีลักษณะสวมสิทธิ หรือมีสัดส่วนการพึ่งพาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากการนำเข้าในระดับสูง (High-import content) ดังเช่นกรณีของเวียดนาม ที่แม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ จนนำไปสู่อัตราภาษีตอบโต้ที่ 20% แต่สำหรับสินค้าที่เข้าข่ายสวมสิทธิกลับถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 40%

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีการสวมสิทธิในรูปแบบเจาะจงอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางกลุ่มจะอาจถูกเหมารวมและเผชิญกับมาตรการลักษณะเดียวกัน แม้จะดำเนินกิจการในรูปแบบปกติ อาทิ อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าในระดับสูง เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เดิมอยู่ภายใต้การจับตาด้านกิจกรรมสวมสิทธิ เช่น ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ อะลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเหล่านี้ต่างก็มีแนวโน้มจะเผชิญกับต้นทุนทางการค้าที่สูงขึ้น จากทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการด้านแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในระยะข้างหน้า

2.ผลกระทบจากการถูกกดดันให้เปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ

ความคืบหน้าของผลการเจรจาไทยกับสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดในช่วงข้างหน้า หากไทยเจรจาสำเร็จอาจนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการทางภาษีและช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ดี ยังต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรม หากไทยถูกกดดันให้เปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์

ตลาดสินค้ากลุ่มปศุสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์จัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจไทยที่มีความอ่อนไหวต่อการเจรจากับสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่า ได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย ทั้งจากกำแพงภาษีสูงและข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ด้านต่าง ๆ เช่น เนื้อสุกร ซึ่งไทยกำหนดภาษีนำเข้าไว้ 40% และสหรัฐฯ ถูกแบนการนำเข้าจากไทยในประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้พยายามผลักดันและกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้านี้มาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 ช่วงประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรกได้ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าไทย 232 รายการภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ “GSP” เนื่องจากไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในให้สหรัฐฯ ดังนั้น การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเดิมเหล่านี้อาจกลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้แลกเปลี่ยนกับการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีตอบโต้ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยในวงกว้างได้

จากการประเมินของ SCB EIC พบว่าอุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพดของไทยมีความอ่อนไหวสูง หากภาครัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่สุด) เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ประกอบกับโดยปกติแล้วไทยใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นหลักและมีผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก (รูปที่ 3) ตัวอย่างเช่น ในปี 2024 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในไทยสูงกว่าต้นทุนในสหรัฐฯ (รวมค่าขนส่งมาไทย) ค่อนข้างมากถึงราว 27% หรือต้นทุนผลิตข้าวโพดของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ราว 9% ทั้งนี้ในปี 2024 ไทยนำเข้าข้าวโพดเพียง 22% ของการบริโภคในประเทศเท่านั้น และไม่ได้นำเข้าเนื้อสุกรและไก่เลย ดังนั้น หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีตอบโต้ลง ผู้ผลิตในประเทศและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตจะได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่มีต้นทุนสูงและเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ในไทย เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

กล่าวคือ การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกรและข้าวโพดอาจปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรและข้าวโพดราคาถูกจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นซึ่งแม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่จะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าและต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง แต่ในทางกลับกัน ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบสำหรับไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่ลดลงอาจจะทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับลดลงและจะกดดันให้เกษตรกรที่ผลิตด้วยต้นทุนสูงอยู่แล้วต้องหยุดผลิตเพราะแข่งขันไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ผลิตอาหารปศุสัตว์และเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ จากความต้องการใช้อาหารปศุสัตว์ในประเทศที่ลดลง

สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ต้นทุนการผลิตในไทยจะสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)ซึ่งหากไทยต้องเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มเติม ก็จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะเนื้อวัวเกรดพรีเมียม ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ เช่น ถั่วเหลือง, ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำและในวงจำกัด

ในระยะสั้น ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน โดยการเจรจาเพื่อขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่ได้จากภาษีที่ขอลดลงและผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าในประเทศ อาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้นและการหาตลาดใหม่ ผ่านวงเงินภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 157,000 ล้านบาทที่ยังเหลืออยู่ ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า หากจำเป็นรัฐบาลอาจพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้บ้างผ่าน(1) งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อรับมือผลกระทบ (2) ปรับปรุงงบประมาณฯ ปี 2569 บางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือในกรณีฉุกเฉินจำเป็นมากอาจ (3) ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อรับมือกับวิกฤติเช่นเดียวกันกับในช่วงวิกฤติโควิด แต่แนวทางนี้อาจสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มหนี้สาธารณะได้

ในระยะยาว ภาครัฐควรเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ อาทิ ส่งเสริมมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน การปรับกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์เทรนด์ ESG หรือการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ทั้งนี้ไทยควรกำหนด “Red Line” ที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

3.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

แม้ล่าสุดอัตราภาษีนำเข้าที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ แจ้งจะเก็บจากสินค้าไทยอยู่ที่ 36% SCB EIC ประเมินว่าในระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ขอปรับลดอัตราภาษีตอบโต้นี้ลงได้บ้าง แต่อัตราภาษีจะยังสูงกว่าคู่แข่งสำคัญในอาเซียน-5 ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1.ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าอาเซียน-5 โดยเปรียบเทียบ (Relative positioning) โดยไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้ที่ 36% ขณะที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์โดนอัตราภาษีที่ 32%, 25%, 20%, 20% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในอัตราต่ำกว่าไทยเป็นทุนเดิม ค่าเฉลี่ยอัตราภาษีตอบโต้กลุ่มประเทศอาเซียน-5 ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 21% เท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้อาจพยายามจะขอเจรจาลดภาษีลงได้อีกในช่วงเวลาที่เหลือ ยิ่งจะทำให้อัตราต่ำลงกว่าไทย ยกเว้นแต่ว่าข้อเสนอของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากกว่ามาก จนได้รับพิจารณาปรับลดเหลืออัตราต่ำลงมากจากอัตราปัจจุบัน

2.การเข้าถึงตลาดและการเปิดการลงทุนที่เอื้อประโยชน์สหรัฐฯ กรณีเวียดนามยอมเปิดตลาดทั้งหมดให้สหรัฐฯ โดยเสรี และลดภาษีนำเข้าเหลืออัตราศูนย์ ขณะที่ไทย แม้จะยื่นข้อเสนอใหม่ยอมเปิดตลาดสินค้าหลายรายการมากขึ้น แต่ยังต้องการปกป้องสินค้าบางรายการที่อาจกระทบผู้ผลิตภายในประเทศอยู่ สำหรับการจูงใจการลงทุนจากสหรัฐฯ ประเทศอาเซียน-5 เสนอเปิดตลาดให้การลงทุนจากสหรัฐฯ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของเวียดนามอนุญาตให้บริษัท Starlink ของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนบริการอินเทอร์เน็ต อินโดนีเซียอนุญาตการเข้าร่วมทุนจากสหรัฐฯ ในกลุ่มแร่ธาตุหายาก ซึ่งช่วยให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาแร่หายากจากจีนได้ในอนาคต ขณะที่ไทยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนเปิดการลงทุนอุตสาหกรรมสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม SCB EIC มองว่า อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่อาจเก็บไทยสูงกว่าคู่แข่งจะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านองค์ประกอบหลัก คือ

  • การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มแผ่วลงในครึ่งปีหลัง โดยอาจเริ่มเห็นมูลค่าการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวในช่วงท้ายไตรมาส 3 และหดตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 ทั้งจากผลของการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงก่อนหน้าที่อัตราภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับใช้หมดไป ตลอดจนผลจากอัตราภาษีตอบโต้ของไทยเองที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าสินค้าเวียดนามจะเสียภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่าไทย
  • การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะลงทุนในไทยเพื่อรอความชัดเจนของผลการเจรจาการค้าเทียบคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนามที่สามารถเจรจาให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษีลงได้มากก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราวลดอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บสินค้าจีนลงจากอัตราเกิน 100% เช่นก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ กำลังซื้อในประเทศที่จะชะลอลงอีกจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังในระยะต่อไป ความสามารถและระยะเวลาปิดจบดีลเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะการเจรจาสำเร็จได้เร็วจะเป็นสิ่งที่เรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยได้ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในไทยต่อเนื่องในระยะยาว
  • การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง แต่จะชะลอลงแรงขึ้นในช่วงสิ้นปีที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว

สำหรับมุมมองนโยบายการเงิน SCB EIC ยังคงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือน ส.ค. และอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 เหลือ 1.25% ภายในสิ้นปี แม้ กนง. มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2% ไม่มาก แต่เหตุผลที่ กนง. ประเมินเช่นนี้ เพราะมองเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เป็นหลัก สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง กนง. มอง Momentum จะปรับแย่ลง (ใกล้เคียง 0%QOQsa) โดยพัฒนาการใหม่ของอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ นี้อาจทำให้ กนง. ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังลงอีก เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 18% เท่านั้น

SCB EIC จึงประเมินว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สูงขึ้นอีก หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ไทยถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีในอัตรา 36% เท่าเดิมอยู่ ซึ่งในกรณีนี้อาจเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้

SCB EIC อยู่ระหว่างติดตามการประกาศ US Reciprocal Tariffs กับคู่ค้าที่เหลือของสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยมีกำหนดจะเผยแพร่มุมมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 ใหม่ในวันที่ 18 ก.ค. นี้

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/Reciprocal-tariffs-110725

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

พลังมหาสมุทรคือความหวังใหม่ ทรงพลังจนอาจเทียบชั้นพลังงานนิวเคลียร์

37 นาทีที่แล้ว

EIC วิเคราะห์The Next Step ของตลาดโทรคมนาคมไทยหลังการประมูลคลื่นความถี่

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความต่างประเทศอื่น ๆ

หมอยังยกนิ้วให้! ผักชนิดนี้เป็น "ผักเสริมพลังชาย" คนไทยรู้จักดี ราคาถูก มีทุกตลาด

sanook.com

ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์เผยความจริงเบื้องหลัง "กลิ่นรถใหม่" เป็นอันตรายต่อสุขภาพไหม?

sanook.com

แฉชีวิตรักบนเรือสำราญ! พนง.เผยความลับ เฉลย "สามี-ภรรยาบนเรือ" คืออะไร?

sanook.com

ทรัมป์สั่งเก็บภาษีนำเข้า 30% จาก EU และเม็กซิโก เริ่ม 1 ส.ค.นี้

TNN ช่อง16

ฮีโร่ตัวจิ๋ว! ลูกหมาวัย 5 เดือน ช่วยชาวบ้าน 63 ชีวิต รอดตายดินถล่ม ตัวเองติดอยู่ใต้ซาก

sanook.com

ทรัมป์ประกาศเก็บภาษี 'อียู-เม็กซิโก' 30% เริ่ม 1 ส.ค. นี้

กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...