EIC วิเคราะห์The Next Step ของตลาดโทรคมนาคมไทยหลังการประมูลคลื่นความถี่
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)วิเคราะห์ The Next Step ของตลาดโทรคมนาคมไทยหลังการประมูลคลื่นความถี่
…….
การประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2025 AIS และ True ต่างชนะการประมูลคลื่นความถี่เดิมที่เช่าจาก NT ทำให้สามารถคงคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงในปีนี้ ได้แก่ 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 1500 MHz ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 2 ราย คือ 1) True ที่ได้รับคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ขนาด 70 MHz ซึ่งเดิมเช่าจาก NT และคลื่นความถี่ 1500 MHz ขนาด 20 MHz และ 2) AIS ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ขนาด 30 MHz ที่เดิมเช่าใช้จาก NT โดยผลการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ทำให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย สามารถคงคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากการเช่า NT มาเป็นการถือครองสัมปทานโดยตรง
การเปลี่ยนจากการเช่ามาถือครองสัมปทานของผู้ให้บริการจะช่วยลดต้นทุนค่าคลื่นความถี่ในระยะยาว และเพิ่มโอกาสในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆการได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ผู้ให้บริการจะสามารถลดภาระต้นทุนคลื่นความถี่จากการชำระค่าเช่ารายปีที่สูงถึง 3,900-4,500 ล้านบาทต่อปี เป็นค่าใบอนุญาตตลอดอายุ 15 ปีเฉลี่ยที่ 990-1,700 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับราคาที่ชนะการประมูล ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อยกระดับการบริการตามแผนของผู้ให้บริการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายเดิม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี AI บนโครงข่ายอัจฉริยะ
การขยายโครงข่าย 5G-Advanced ที่ช่วยให้การใช้งานมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาบริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) และอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 6G ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคอาจเสียโอกาสในการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากคลื่นความถี่ที่ไม่มีผู้ประมูล ขณะที่รายได้จากราคาประมูลที่ไม่สูงมากอาจกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ การที่คลื่นความถี่ 850 MHz และ 1500 MHz บางส่วนยังไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสจากการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นผ่านคุณสมบัติเฉพาะของย่านคลื่นความถี่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นบนโครงข่าย 5G และการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลที่มีความเสถียรมากขึ้น นอกจากนี้ รายได้ที่นำเข้ารัฐจากราคาประมูลที่ไม่สูงมากนักอาจกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เนื่องจากรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ
การกำหนดนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมกลไกการแข่งขันในตลาด จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว โครงสร้างตลาดโทรคมนาคมของไทยในปัจจุบันที่มีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จำกัดและการแข่งขันด้านราคามีความเข้มข้นลดลง ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ช่วยเพิ่มกลไกการแข่งขันในตลาด จึงเป็นความท้าทายสำคัญของภาครัฐ อาทิ
1) การสนับสนุนผู้ให้บริการแบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ให้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น
2) การกำกับดูแลด้านราคาและคุณภาพบริการที่เป็นธรรม อาทิ การกำหนดแพ็กเกจการบริการขั้นต่ำทั้งด้านราคา ปริมาณการใช้งาน และความเร็ว ให้สอดคล้องกับต้นทุนของผู้ให้บริการและคุณสมบัติของคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการได้รับ
3) การทบทวนย่านคลื่นความถี่ ปริมาณ และราคาขั้นต่ำ ในการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งต่อไปให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด แผนพัฒนาโครงข่ายของผู้ให้บริการและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
…….
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2025 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลจำนวน 4 ย่าน ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในวันที่ 3 สิงหาคม 2025 ประกอบด้วย 1) คลื่นความถี่เดิมที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมและนำมาจัดสรรใหม่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการให้บริการ ได้แก่ 850 MHz จำนวน 20 MHz, 2100 MHz จำนวน 30 MHz และ 2300 MHz จำนวน 70 MHz และ 2) คลื่นความถี่ที่ใช้ในวัตถุประสงค์อื่นและนำมาจัดสรรใหม่ ได้แก่ 1500 MHz จำนวน 55 MHz ที่เดิมถูกจัดสรรสำหรับใช้สำรวจปิโตรเลียมและให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท ซึ่งมีการใช้งานลดลง ทาง กสทช. จึงนำคลื่นย่านนี้กลับมาจัดสรรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในระดับสากลที่กำหนดให้เป็นย่านความถี่สำหรับเทคโนโลยี 4G/5G ประกอบกับปัจจุบันมีอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการใช้งานย่านความถี่นี้แล้วมากกว่า 300 รุ่น
AIS และ True ต่างมุ่งเป้าประมูลคลื่นความถี่เดิมที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจากที่เคยเช่า NT ในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 2 ราย ได้แก่ AIS และ True โดยกระบวนการประมูลเสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หากเทียบกับการประมูลในอดีตอย่างการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ในปี 2020 ที่ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง และการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 4G ในปี 2015 ที่ใช้เวลามากกว่า 65 ชั่วโมง อีกทั้งราคาที่ชนะการประมูลในครั้งนี้สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่ทาง กสทช. ตั้งไว้เพียง 10%-20% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมภายหลังการควบรวมกิจการไม่เข้มข้นเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาที่ผู้ให้บริการต่างแข่งขันกันเสนอราคาที่สูงเพื่อช่วงชิงคลื่นความถี่ที่ต้องการและนำไปพัฒนาโครงข่ายให้เกิดความได้เปรียบทางการตลาด
โดยทางคณะกรรมการ กสทช. ได้รับรองผลการประมูลครั้งนี้แล้วในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทาง กสทช. จะสามารถรับรองผลได้ตามกฎหมาย หลังคณะกรรมการ กสทช. มีมติเลื่อนการรับรองผลจากกำหนดเดิมในวันที่ 2 กรกฎาคมเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการประมูลให้ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ (ตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. จะต้องรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันนับจากวันสิ้นสุดการประมูล) โดยผลการประมูลครั้งนี้ (รูปที่ 1) ได้สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของผู้ให้บริการที่เน้นรักษาศักยภาพการให้บริการบนโครงข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันมากกว่าการพัฒนาโครงข่ายจากย่านความถี่ใหม่
- True ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ขนาด 70 MHz มูลค่ารวม 21,770.00 ล้านบาท สูงกว่าราคาขั้นต่ำ 20% ซึ่งคลื่นความถี่นี้จะสามารถใช้งานบนโครงข่าย 4G และ 5G ที่มีอยู่ได้ในทันทีเนื่องจากเป็นย่านความถี่เดิมที่ True เช่าใช้บริการจาก NT ก่อนที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน และคลื่นความถี่ 1500 MHz ขนาด 20 MHz มูลค่ารวม 4,653.96 ล้านบาท สูงกว่าราคาขั้นต่ำ 10% ซึ่งเป็นย่านความถี่ใหม่สำหรับการขยายขีดความสามารถใช้งาน 4G โดยคลื่นความถี่นี้จะมาช่วยกระจายความหนาแน่นของการใช้งานบนย่านความถี่อื่นที่ทาง True ได้รับสัมปทาน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพการใช้งานในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นสูง รวมถึงพื้นที่ห่างไกลได้
- AIS ชนะการประมูลความถี่ 2100 MHz ขนาด 30 MHz มูลค่ารวม 14,850.00 ล้านบาท สูงกว่าราคาขั้นต่ำ 10% ซึ่งสามารถใช้งานบนโครงข่าย 5G ในปัจจุบันได้ทันทีเช่นกันเนื่องจากเป็นย่านความถี่เดิมที่ AIS เช่าจาก NT
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่ไม่มีผู้เข้าประมูลในครั้งนี้นั้น เป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำ (Low Band) ที่มีข้อได้เปรียบด้านการกระจายสัญญาณได้ไกลและทะลุอาคารสิ่งกีดขวางได้ดีแต่มีข้อจำกัดด้านความจุของช่องสัญญาณ (Capacity) ที่ไม่สามารถรองรับปริมาณการใช้งานข้อมูลที่หนาแน่นได้ ทำให้คลื่นความถี่นี้เหมาะสำหรับการสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง AIS และ True มีปริมาณคลื่นความถี่ต่ำ (700 MHz และ 900 MHz) ที่ใกล้เคียงกันและครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 5G ทั่วประเทศแล้ว ประกอบกับ True ที่เดิมเช่าใช้คลื่น 850 MHz จาก NT เพื่อให้บริการ 3G เป็นหลักซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานลดลงและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่าย 5G ที่จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นช่องสัญญาณเสริมของคลื่นความถี่ 5G อื่น ๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มความเร็วและปริมาณการใช้งานในพื้นที่หนาแน่น รวมถึงช่วยขยายพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณ 5G ให้กว้างไกลขึ้น โดยคลื่นนี้เป็นย่านใหม่ที่ กสทช. ได้จัดสรรเพิ่มเติมสำหรับการใช้งานในกิจการโทรคมนาคมของไทย ดังนั้น ผู้ให้บริการที่ประมูลคลื่นย่านนี้จึงจำเป็นต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เฉพาะเพิ่มเติม ส่งผลให้ความต้องการคลื่นความถี่นี้ยังมีอยู่จำกัด อย่างไรก็ตาม การที่ True เลือกประมูลคลื่นย่าน 1500 MHz ขนาด 20 MHz จะสามารถช่วยขยายขีดความสามารถของโครงข่ายโดยรวมให้มีความเร็วและเสถียรมากขึ้น รวมถึงลดความแออัดของเครือข่ายได้ ทำให้การให้บริการในปัจจุบันของ True มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น
คลื่นความถี่ที่ได้รับสัมปทานในการประมูลในครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 รายสามารถคงคุณภาพการให้บริการในปัจจุบัน แต่ในระยะต่อไปคาดว่าผู้ให้บริการจะต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติม ผลการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 รายถือครองปริมาณคลื่นความถี่รวมอยู่ในระดับเดิมที่ผู้ให้บริการทั้งสองรายให้บริการในปัจจุบัน โดย True ถือครองคลื่นความถี่รวม 1,350 MHz และ AIS ถือครองคลื่นความถี่รวม 1,460 MHz (รูปที่ 2) โดยเปลี่ยนจากการเช่า NT มาเป็นการถือครองสัมปทานโดยตรง
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า คาดว่าผู้ให้บริการจะต้องการปริมาณคลื่นความถี่มากขึ้นเพื่อพัฒนาโครงข่ายตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างต่อเนื่องรวมถึงการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติและ AI เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาภายใต้แผนจัดสรรคลื่นความถี่ระยะ 5 ปี ของ กสทช. พบว่า ในปี 2029 จะมีความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ย่านต่ำและย่านกลางรวม 739 MHz ขณะที่คลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีประมาณ 620 MHz รวมถึงแนวโน้มของการเข้ามาของเทคโนโลยี 6G ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้คลื่นในย่านสูงมากขึ้น
โดย กสทช. ได้วางแผนเปิดประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปในปี 2027 ซึ่งคาดว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ในย่านกลาง เช่น 2100 MHz จำนวน 90 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 6 ธันวาคม 2027 และคลื่นความถี่เพิ่มเติมที่ยังไม่ได้ใช้งานรอการจัดสรร อาทิ 1800 MHz และ 2100 MHz ที่อยู่ภายใต้แผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่สอดคล้องกับการใช้งานระดับสากล และคลื่นความถี่ในย่านสูงอย่าง 26 GHz ที่จะเข้ามารองรับการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 6G รวมถึงคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1500 MHz ที่ไม่มีผู้ประมูลในครั้งนี้
การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้จะส่งผลต่อการให้บริการมือถืออย่างไร
การเปลี่ยนจากการเช่าคลื่นความถี่ของ NT มาเป็นการถือครองสัมปทานโดยตรงจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนทางการเงินในระยะยาว และเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ การได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ผู้ให้บริการจะสามารถลดภาระต้นทุนจากการชำระค่าเช่ารายปีเป็นค่าใบอนุญาตตลอดอายุ 15 ปี โดย AIS ได้รับสิทธิใช้งานคลื่นความถี่ 2100 MHz มูลค่า 14,850 ล้านบาท (เฉลี่ย 990 ล้านบาท/ปี) จากเดิมที่ชำระค่าเช่าราว 3,900 ล้านบาท/ปี และ True ได้รับสิทธิใช้งานคลื่น 1500 และ 2300 MHz รวมมูลค่า 26,423 ล้านบาท 26,423 ล้านบาท (เฉลี่ย 1,762 ล้านบาท/ปี) เทียบกับภาระค่าเช่าเดิมที่ราว 4,510 ล้านบาท/ปี
โดยการลดลงของภาระต้นทุนทางการเงินจะเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการสามารถเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ บนโครงข่ายเดิมเพื่อยกระดับการบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนของผู้ให้บริการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี AI บนโครงข่ายอัจฉริยะ การขยายโครงข่าย 5G-Advanced (5G-A) ที่สามารถรองรับปริมาณการเชื่อมต่อต่อพื้นที่ได้สูงขึ้น ทำให้การใช้งานของผู้บริโภคในพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานหนาแน่นเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วที่มีความเสถียรมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขยายจำนวนสถานีฐานเพิ่มเติมการพัฒนาการบริการเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) และอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนเทคโนโลยี 6G ในระยะข้างหน้า
ในอีกมุมหนึ่ง ผลการประมูลในครั้งนี้อาจส่งผลให้ผู้บริโภคเสียโอกาสในการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรแต่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล ขณะเดียวกัน รายได้ที่รัฐได้รับจากราคาประมูลที่ไม่สูงมากอาจกระทบต่องบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ การที่บางย่านคลื่นความถี่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลอาจทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสจากการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นผ่านคลื่น 850 MHz ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มคุณภาพโครงข่าย 5G ในพื้นที่ห่างไกลให้มีความเสถียรและความเร็วมากขึ้น และคลื่น 1500 MHz ที่สามารถช่วยเพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโครงข่าย 5G รวมถึงรองรับปริมาณการใช้งานในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นได้ ซึ่งทาง GSMA หรือองค์กรตัวแทนของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกระบุว่าคลื่น 1500 MHz สามารถเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตของโครงข่ายได้สูงถึง 130%
นอกจากนี้ รายได้ที่นำเข้ารัฐจากราคาประมูลที่อยู่ในระดับไม่สูงมากอาจกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศเนื่องจากรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ โดยที่ผ่านมา รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ได้ถูกนำมาใช้ในหลายโครงการสำคัญ เช่น การขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะในโรงเรียนและโรงพยาบาล, โครงการ Smart City Sandbox, การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงโครงการ Thailand Digital Valley
อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมกลไกการแข่งขันในตลาด จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว ด้วยโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมของไทยในปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 รายที่ให้บริการครอบคลุมทั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตประจำที่ และบริการด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ จึงทำให้การแข่งขันในตลาดไม่สูงมากนักและผู้บริโภคมีทางเลือกที่จำกัด ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ช่วยเพิ่มกลไกการแข่งขันในตลาด จึงเป็นความท้าทายสำคัญของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น
1. การเร่งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นผ่านมาตรการสนับสนุนผู้ให้บริการรายย่อยแบบโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO)[1] และดึงดูดให้ผู้ประกอบการ MVNO รายใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยปัจจุบันทาง กสทช. ได้เริ่มกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ต้องจัดสรรความจุโครงข่าย (Capacity) ไม่น้อยกว่า 10% ให้กับ MVNO อีกทั้ง ทาง กสทช. ก็กำลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรกลางอย่าง TIMO (Thailand Independent Mobile Operator) เพื่อจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมความจุโครงข่าย 10% จากผู้ถือครองคลื่นความถี่มาจัดสรรให้กับ MVNO ในราคาตามกลไกตลาดที่สมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนการใช้คลื่นความถี่ให้กับ MVNO อย่างไรก็ดี การจัดตั้งองค์กรกลางดังกล่าวยังต้องใช้เวลา
ในจัดตั้งอีกหลายขั้นตอน
2. การกำกับดูแลด้านราคาและคุณภาพบริการที่เป็นธรรม อาทิ การกำหนดแพ็กเกจการบริการขั้นต่ำทั้งด้านราคา ปริมาณการใช้งานและความเร็ว รวมถึงเงื่อนไขการพัฒนาโครงข่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนการประมูลคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการและคุณสมบัติของคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการได้รับ โดยในกรณีที่ผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนจากราคาประมูลที่ไม่สูงมาก ต้นทุนที่ลดลงอาจจะต้องสะท้อนผ่านไปยังค่าบริการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายให้มีคุณภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้คลื่นความถี่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. การทบทวนย่านคลื่นความถี่ ปริมาณการจัดสรร และราคาขั้นต่ำหรืออาจพิจารณาการตั้งราคาเพดานเพิ่มเติมในการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งต่อไปให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด แผนการพัฒนาโครงข่ายของผู้ให้บริการ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การพิจารณากำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมในทุกมิติจะช่วยเพิ่มสมดุลระหว่างการพัฒนาคุณภาพบริการ การแข่งขันในตลาด และผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งยังนำไปสู่การยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก