นักวิทย์พัฒนา ‘ฟิล์มระบายความร้อน’ สะท้อนแสงอาทิตย์-ลดใช้พลังงานในเมืองร้อน
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
แคนเบอร์รา, 26 มิ.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (25 มิ.ย.) งานวิจัยฉบับใหม่จากมหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเจิ้งโจวในจีน เผยว่านักวิทยาศาสตร์ได้เปิดตัวเมตาฟิล์ม (metafilm) ฟิล์มระบายความร้อนที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สามารถลดอุณหภูมิพื้นผิวได้มากถึง 9.2 องศาเซลเซียสในช่วงที่มีแสงแดดจัด และสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ได้เกือบร้อยละ 99 ซึ่งอาจช่วยลดการใช้พลังงานทั่วโลกอย่างมาก
เมตาฟิล์มผลิตจากกรดโพลีแลกติก (PLA) จากพืช เป็นวัสดุย่อยสลายได้ทั้งหมดและไม่ต้องใช้พลังงาน นับเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากระบบปรับอากาศแบบเดิมและระบบทำความเย็นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
รายงานระบุว่าวัสดุดังกล่าวสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ได้เกือบทั้งหมด และยังช่วยให้ความร้อนภายในอาคารสามารถระบายออกสู่ชั้นบรรยากาศได้โดยตรง ทำให้พื้นที่ในอาคารเย็นกว่าสภาพอากาศรอบข้าง แม้จะอยู่ใต้แสงแดดโดยตรง
คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการทดสอบภาคสนามในจีนและออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าแผ่นฟิล์มนี้ยังคงมีประสิทธิภาพแม้หลังจากสัมผัสกับกรดและแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ซึ่งมีความทนทานมากกว่าวัสดุย่อยสลายได้ที่นำมาใช้ก่อนหน้านี้
แบบจำลองคาดว่าเมตาฟิล์มสามารถลดการใช้พลังงานในอาคารได้มากถึงร้อยละ 20 ในเมืองที่มีอากาศร้อน โดยช่วยลดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ ขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ เช่น การขนส่ง เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์
หม่าจวิน หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย ระบุว่าฟิล์มของเรามีความทนทานและย่อยสลายได้ทั้งหมด โดยจะช่วยแก้ปัญหาการผสานประสิทธิภาพการระบายความร้อนเข้ากับการย่อยสลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง การค้นพบครั้งนี้เผยแพร่ในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส ฟิสิคัล ไซแอนซ์ (Cell Reports Physical Science)