‘ธนาคารโลก’ หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.8% จับตางบ 69 ล่าช้า หวั่นทุบศก. เกาะติดถกภาษีสหรัฐฯ
'ธนาคารโลก' หั่นจีดีพีไทยปี 68 เหลือ 1.8% ชี้นโยบายการค้าโลกป่วนส่งออก-บริโภค-ท่องเที่ยวชะลอตัว มองพื้นที่การคลังแคบลง หลังเร่งอัดกระตุ้นเศรษฐกิจดันหนี้สาธารณะใกล้เพดาน 70% ต่อจีดีพี จับตางบ 69 ล่าช้า หวั่นกระทบเศรษฐกิจ เกาะติดเปิดโต๊ะถกภาษีนำเข้าสหรัฐฯ คาดไทยตัดจบอัตรา 10% กว่า ไม่ถึง 18% หวังช่วยดึงลงทุนฟื้น
3 มิ.ย.2568 - นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไทย ในปี 2568 ลดลงมาอยู่ที่ 1.8% ส่วนปี 2569 อยู่ที่ 1.7% สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ชะลอตัวลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง แต่หากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น คาดว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2568 อาจจะขยายตัวได้ถึง 2.2% และในปี 2569 อยู่ที่ 1.8%
“ตัวเลข 1.8% ในปีนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย ซึ่งการส่งออกและการบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากการมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึว 87.4% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชน ขณะเดียวกันยอดสินเชื่อก็มีแนวโน้มหดตัวลงด้วย” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
สำหรับนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 2 ช่องทางสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งออก ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาการส่งออกสูงถึง 60% ของจีดีพี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน และ 2. การลงทุน โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทำให้เกิดการชะลอการลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ ยังมี Shock ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะเจาะจงของเศรษฐกิจไทย นั่นคือ การชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลง โดยนักท่องเที่ยวจีนได้หันไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยในประเทศไทย ทำให้ธนาคารโลกได้คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 2568 อยู่ที่ 37 ล้านคน ส่วนปี 2569 คาดว่าจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยมองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความยั่งยื่นของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น
นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยที่น่ากังวล คือ พื้นที่ของภาคการคลังไทยกำลังแคบลง แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันที่ 64% ต่อจีดีพี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีแรงกดดันเรื่องรายจ่ายอยู่ รวมถึงไทยอยู่ในภาวะสังคมสูงอายุ และก่อนหน้านั้นมีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลให้แนวโน้มหนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าใกล้เพดานที่ 70% ส่วนเรื่องเสถียรภาพของไทยยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 7% แต่ยังมีความผันผวนจากเงินทุนไหลออก การนำเข้า และราคาน้ำมันที่สูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
“หนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในจุดที่บริหารจัดการได้ เพราะหนี้ต่างประเทศไม่สูง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือระดับหนี้สาธารณะที่สูงมักจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากหนี้สูงกว่า 60% ของจีดีพี การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะชะลอลง และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาลและประชาชน” นายเกียรติพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังมีความแข็งแกร่ง ช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการส่งออกล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมี 3 โอกาสสำคัญ คือ 1. นโยบายการคลัง ผ่านการเลือกลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมการเติบโต 2. แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเริ่มมีสัญญาณการลงทุนที่มากขึ้น และ 3. การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การเติบโตในระยะปานกลาง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 2% ภายใต้เงื่อนไขหากไทยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านการศึกษา และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาดเกษตร และตลาดภาคบริการ ซึ่งตรงนี้หากทำได้ก็อาจผลักดันให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางขยายตัวได้ 3-4%
“การที่รัฐบาลได้ปรับการใช้จ่ายงบจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 1.57 แสนล้านบาท มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของจีดีพี เป็นทิศทางที่ดี เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้่นฐานและการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ จะช่วยส่งเสริมให้จีดีพีขยายตัวได้ ช่วยลดภาระหนี้ต่อจีดีพี” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกยังไม่ได้มีการนำประเด็นเรื่องการเมืองเข้าใส่เข้าไปในประมาณการ โดยยังเชื่อว่านโยบายการคลัง รวมถึงนโยบายการเงินจะยังสนับสนุนและประคับประคองเศรษฐกิจไทย และมองว่างบประมาณรายจ่ายปี 2569 จะผ่านไปได้ แต่หากงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ล่าล้าออกไปจากปกติ ก็อาจจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะจะมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ นั้น หากการเจรจามีความคืบหน้าก็เชื่อว่าจะช่วยให้การลงทุนกลับมาได้ โดยประเมินว่าสหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 10% กว่า ไม่น่าถึง 18%