โยคะ...ไม่ใช่แค่การยืดตัว: วิถีแห่งอินเดียที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้
สัปดาห์ที่แล้ว เราได้รู้จักกับ Pani Puri อาหารว่างอินเดียที่เชิญชวนให้นักชิมคนไทยได้ลิ้มลอง ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นอันหลากหลาย สัปดาห์นี้ จะขอพาไปรู้จักกับอีกแง่มุมหนึ่งของอินเดีย ที่ไม่ได้อยู่แค่บนโต๊ะอาหาร แต่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมอินเดียมาอย่างยาวนาน และแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นคือ “โยคะ”
คนไทยหลายคนมักนึกถึงโยคะว่าเป็นการออกกำลังกายด้วยท่ายืดเหยียดที่ดูซับซ้อน หรือบางครั้งอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเกินเอื้อม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกาย หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ยืดหยุ่นพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นเพียงการทำท่าที่เรียกว่า อาสนะ (Asana) เท่านั้น
หลักโยคะที่เป็นระบบและมีความลึกซึ้ง คือแนวทาง “อัษฐางคโยคะ” หรือ โยคะแปดขั้น ที่ถูกรวบรวมโดยฤๅษีปตัญชลี โดยเริ่มจากการฝึกฝนตนเองด้วย ยะมะ (Yama) และ นิยะมะ (Niyama) หลักศีลธรรมและวินัยในการดำเนินชีวิต อาทิ การไม่เบียดเบียน ความซื่อสัตย์ การศึกษาตนเอง และการไม่ยึดติด
หลังจากการฝึกวินัยแล้วจึงเข้าสู่การฝึก อาสนะ (Asana) หรือท่าทาง ที่ในปัจจุบันมักถูกเข้าใจว่าเป็น “โยคะ” ทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว อาสนะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางการฝึกฝน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มั่นคง พร้อมสำหรับการฝึกจิตในขั้นต่อไป เพราะหลังจากที่เราได้ฝึกอาสนะ ซึ่งเป็นการทำท่าต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าออกแล้ว ขั้นที่สูงถัดไปคือ ปราณายามะ (Pranayama) หรือ การฝึกควบคุมลมหายใจ ซึ่งช่วยปรับสมดุลกายและใจ
เมื่อเราเริ่มฝึกการหายใจได้แล้ว ขั้นถัดมาคือ ปรัตยะหระ (Pratyahara) การฝึกไม่ให้สิ่งเร้าจากภายนอกมากระทบจิตใจและอารมณ์ของเรา ตามด้วย ธารณา (Dharana) การเพ่งจิตให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมั่นคง ต่อด้วย ธยานะ (Dhyana) การภาวนาจิตให้นิ่งลึกและต่อเนื่อง และขั้นสุดท้ายที่โยคีหรือผู้ฝึกโยคะอย่างลึกซึ้งมุ่งหวังคือ สมาธิ (Samadhi) หรือ สภาวะจิตที่นิ่ง สงบ และการตื่นรู้
ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า “โยคะ” ศาสตร์แห่งการใช้ชีวิตของอินเดีย มีความลึกซึ้งมากกว่าการออกกำลังกายอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน “โยคะ” มาจากภาษาสันสกฤต “ยุชฺ” (Yuj) แปลว่า “การเชื่อมโยง” หรือ “การรวมเป็นหนึ่ง” หลายคนอาจสงสัยว่าเชื่อมโยงหรือรวมกับอะไร?
ความหมายของโยคะนั้นมีหลายมิติ บางคนให้คำนิยามว่าเป็นการเชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจ การรวมกาย จิต และวิญญาณให้เป็นหนึ่งเดียว หรือการพัฒนาตัวเองทั้งกาย ใจ และอารมณ์ แต่คำนิยามที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเข้าใจได้ยากกว่า แต่สะท้อนถึงเป้าหมายสูงสุดของโยคะแปดขั้น ก็คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างความตั้งใจของปัจเจกบุคคลกับเจตจำนงของพระเจ้าหรือจักรวาล นั่นเอง ดังนั้น โยคะจึงไม่ใช่แค่การยืดตัวแต่เป็นวิถีแห่งอินเดียที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้