ชัวร์ก่อนแชร์ : เป็น “ไข้ทับระดูห้ามฉีดยา” เพราะอาจถึงตายได้ จริงหรือ ?
บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ข้อความว่า “เป็นไข้ทับระดูห้ามฉีดยา” เพราะอาจถึงตายได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูตินรีแพทย์
เรื่อง “ไข้ทับระดู” (Period Flu) มีการพูดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
“ไข้ทับระดู” ไม่ใช่โรคจำเพาะอะไร เป็นเพียงอาการไข้พร้อม ๆ กับช่วงที่มีประจำเดือน (หมายถึงมีประจำเดือนก่อนแล้วมีไข้) พอดี ซึ่งช่วงนี้ร่างกายอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการเสียเลือด อ่อนเพลียจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีความรู้สึกเหมือนกับไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ
จึงไม่แปลกที่บางครั้งมีไข้ระหว่างมีประจำเดือน จะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ แต่เรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉีดยา ถ้าจำเป็นจะต้องฉีดยาเพื่อรักษาโรคใดก็ตาม การฉีดยา “ในช่วงที่มีระดู” หรือ “ไม่มีระดู” ไม่มีความแตกต่างกัน
สาเหตุที่ทำให้เป็นไข้ทับระดู ?
“ไข้ทับระดู” ตัว “ไข้” จะเกิดได้เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ในช่วงที่ร่างกายพักผ่อนน้อย มีความเครียด ปฏิกิริยาของการมีไข้จะตอบสนองต่อความอ่อนแอของร่างกาย
ถ้าช่วงนั้นมีอาการ เช่น ดื่มน้ำน้อยและเสียปริมาณน้ำในร่างกาย มีประจำเดือนเสียเลือดออกไป ก็เป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและมีไข้ได้
การติดเชื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไข้หวัดธรรมดาทั่วไป บางครั้งเป็นแล้วก็หายได้เอง แต่ช่วงที่มีระดูเป็นช่วงที่ร่างกายเสียเลือด ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงและลดระดับของฮอร์โมน “เอสโทรเจน” และ “โพรเจสเทอโรน” อย่างรวดเร็ว อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจึงทำให้มีไข้
ดังนั้น การมี “ไข้ทับระดู” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกจากไข้อื่น ๆ เพียงแต่บังเอิญเกิดตรงกับช่วงที่มีระดู ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่ามีอาการอ่อนเพลียหรือเหมือนกับอาการไข้เป็นมาก
ไข้ทับระดู มีอันตรายส่งผลให้เสียชีวิต ได้หรือไม่ ?
โดยทั่วไป “ไข้ทับระดู” ไม่ได้มีอันตรายอะไรแตกต่างจากการเป็นไข้ในช่วงอื่น ๆ ขึ้นกับสาเหตุของการเป็นไข้ด้วย
ถ้าการเป็นไข้เกิดจากความอ่อนเพลีย ขาดน้ำ หรือเป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงที่มีระดู ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก พักผ่อนนอนหลับ กินอาหารมีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อชดเชยการขาดน้ำ
ถ้ามีไข้มากก็อาจจะกินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เป็นการรักษาตามอาการ สักพักอาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น
กรณีเป็นไข้ทับระดูที่เกิดจากสาเหตุรุนแรง ยกตัวอย่างถ้าเป็นการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในช่วงที่มีระดู เป็นห่วงมากเรื่องการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์ช่วงบน เรียกว่า “การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน” (Pelvic inflmmatory disease : PID) ซึ่งเป็นการติดเชื้อขณะที่มีระดู
การติดเชื้อแล้วมีเลือดออกมาด้วยแบคทีเรียก็จะใช้เลือดเป็นสารอาหารในการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นเป็นไข้ทับระดูที่เกิดมาจากการอาการรุนแรง ก็คือเกิดจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน อาจจะเป็นอันตรายสูงกว่าการเป็นไข้ในช่วงทั่ว ๆ ไป
ระหว่างเป็นไข้ทับระดู ไม่ควรทำอะไร ?
สิ่งที่ห้ามทำระหว่างเป็นไข้ทับระดูก็คือ “ห้ามมีเพศสัมพันธ์” เพราะช่วงที่มีระดูเป็นช่วงที่ปากมดลูกกำลังเปิดเพื่อระบายเลือดประจำเดือนออกมา ถ้ามีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้น ปากมดลูกที่เปิดอยู่ก็จะนำเชื้อจากภายนอกเข้าไปข้างในได้
ในช่วงที่มีไข้ทับระดูอยากให้หมั่นสังเกตตัวเองแล้วพักผ่อนมาก ๆ ซึ่งไข้ทับระดูอาจจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่จะต้องสังเกตเพื่อแยกโรคว่าเป็นภาวะที่รุนแรงร่วมด้วยหรือไม่
กรณีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หากเป็นพร้อมกับช่วงที่มีระดู สังเกตได้เลยว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูงหนาวสั่น กินยาลดไข้แล้วไข้ลดเพียงชั่วคราว ไข้ก็กลับมาได้ใหม่
นอกจากเลือดประจำเดือนที่ออกมาจะเป็นลักษณะของเลือดทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังอาจจะสังเกตเห็นลักษณะของหนองหรือเป็นตกขาวสีเหลือง ๆ มีกลิ่นเหม็น พวกนี้ต้องสังเกตอาการด้วยถ้ามีอาการเหล่านี้ควรจะไปพบแพทย์
ดังนั้น ข้อความที่ว่าถ้าเป็นไข้ทับระดูแล้วห้ามไปฉีดยาเพราะจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่จริงและไม่ควรแชร์ต่อ
สัมภาษณ์โดย พงศ์อิทธิ์ เชิดชูวงศ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : เป็น “ไข้ทับระดูห้ามฉีดยา” เพราะอาจถึงตายได้ จริงหรือ ?