การอนุรักษ์ดิน-น้ำ ด้วย ‘ระบบพืชหมุนเวียนหลังนา’ เพิ่มประสิทธภาพผลิตข้าวอินทรีย์
การอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วย "ระบบพืชหมุนเวียนหลังนา" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดศรีสะเกษ
การปลูกพืชหมุนเวียนหลังนา เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่มีประสิทธิภาพ
คุณวรรณา สุวรรณวิจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 ระบุว่า การปลูกพืชต่างชนิดสลับกันในแต่ละฤดูปลูก ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการชะล้างพังทลาย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดดินเสื่อมสภาพ
การปลูกพืชหมุนเวียนช่วยให้ระบบรากของพืชมีความหลากหลาย ซึ่งส่งผลดีต่อโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดีขึ้น ช่วยลดการสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างของน้ำและลม การปลูกพืชบางชนิด เช่น พืชตระกูลถั่ว สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
อีกทั้งการปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ช่วยสร้างความหลากหลายของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศของพื้นที่เกษตร และช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น
ตัวอย่างพืชที่นิยมปลูกหมุนเวียนหลังนา ได้แก่ ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วพุ่ม, ถั่วพร้า-ปอเทือง (ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด) ข้าวโพด เป็นต้น
จากการศึกษาวิจัย“การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยระบบพืชหมุนเวียนหลังนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดศรีสะเกษ” เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการ ณ บ้านสวนอ้อย ตำบลผักแพว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างเดือนมีนาคม 2564 ถึงธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพืชหมุนเวียนหลังนาที่เหมาะสมต่อการเพิ่มผลผลิต และคุณภาพข้าวอินทรีย์ในพื้นที่นาน้ำฝน รวมถึงผลต่อสมบัติของดินและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 7 ตำรับ 3 ซ้ำ รวม 21 แปลง ประกอบด้วย ข้าวอินทรีย์ตามด้วยการไม่ปลูกพืช (T1) และการปลูกพืชหมุนเวียนหลังนา ได้แก่ หอมแดง ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และถั่วเขียว (T2–T7) ตามลำดับ
ผลการทดลอง พบว่า พืชหมุนเวียนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน โดยเฉพาะปอเทืองช่วยลดความหนาแน่นของดิน และหอมแดงช่วยเพิ่มความชื้นในดินสูงสุด
นอกจากนี้ พืชหมุนเวียนหลังนายังช่วยเพิ่มค่า pH ของดินจากกรดจัดเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นกลาง เพิ่มอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ในดิน โดยเฉพาะหอมแดงที่ให้ค่าโพแทสเซียมสูงถึง 271 มก./กก. ผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยเฉลี่ยปีที่ 1-3 เท่ากับ 664 731 และ 753 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19,920 21,930 และ 22,590 บาทต่อไร่ ตามลำดับ
ขณะที่การปลูกหอมแดงหลังนาข้าวอินทรีย์ให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 1 เท่ากับ 2,228 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ผลตอบแทน 66,840 บาทต่อไร่ ส่วนปีที่ 2 ให้ผลผลิต 1,724 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ผลตอบแทน 51,720 บาทต่อไร่
ดังนั้น การปลูกหอมแดงหลังเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์ เป็นแนวทางที่เหมาะสมและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ในระบบพืชหมุนเวียนหลังนาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยส่งผลดีทั้งด้านสมบัติของดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ และที่สำคัญ คือ ก่อให้เกิดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตพืชหมุนเวียนหลังนาแก่เกษตรกรเป็นอย่างดี
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สุวรรณภา’ นำทีม สพด.ยโสธร ร่วมงานหน่วยแพทย์ พอ.สว. ในโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ปี 2568
- สพด.อุบลราชธานี รณรงค์-ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เฉลิมพระเกียรติในหลวง
- ‘โอวาท’ นำกลุ่มวิเคราะห์ดิน สพข.4 อบรม ‘พัฒนาระบบ e-Service ข้อมูลคุณภาพดิน’
ติดตามเราได้ที่