ทรัมป์อัดฉีดงบกลาโหม ดันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าโครเอเชีย
งบประมาณขนาดมหาศาลที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มให้กระทรวงกลาโหมจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอีก 26 ล้านตัน (Mt) ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนประจำปีของโรงไฟฟ้าแก๊ส 68 แห่ง หรือโครเอเชียทั้งประเทศ
งบประมาณเพนตากอนในปี 2026 จะพุ่งถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ และส่งผลให้รอยเท้าคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากร่างกฎหมาย One Big Beautiful Act ของประธานาธิบดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกองทัพมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับงบประมาณการทหาร
ตามการวิเคราะห์ล่าสุดจาก Climate and Community Institute (CCI) หน่วยวิจัยเชิงนโยบายในสหรัฐฯ ซึ่งเปิดเผยต่อ The guardian ว่า การเพิ่มงบนี้จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของเพนตากอนเพิ่มเป็น 178 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกราว 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์
การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของงบประมาณทางการทหารเกิดขึ้นในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังเลวร้ายลง และในขณะที่ชาวอเมริกัน ซึ่งรวมถึงผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมาก กำลังเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่ทำลายล้าง เช่น ไฟป่า คลื่นความร้อน และน้ำท่วมครั้งล่าสุดในเท็กซัส รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและผลกระทบระยะยาวอื่น ๆ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ร่างงบประมาณปี 2026 ของทรัมป์ได้ตัดลดงบประมาณของรัฐบาลกลางสำหรับวิทยาศาสตร์ การศึกษา โครงการ Medicaid แสตมป์อาหาร การจัดการภาวะฉุกเฉิน กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อชดเชยการขยายกำลังทหาร การลดภาษีให้คนรวย และการปราบปรามการเข้าเมืองอย่างรุนแรงของทรัมป์
นอกจากนี้ยังได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งที่สอง และยกเลิกการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในยุคไบเดน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของสหรัฐฯ เพื่อลดความหายนะด้านสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอดีตมากที่สุด และยังคงเป็นผู้ปล่อยก๊าซมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน ประเทศที่มีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า การปล่อยก๊าซ 178 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จะทำให้กองทัพสหรัฐฯ และภาคอุตสาหกรรมกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่เป็นอันดับที่ 38 ของโลก ถือเป็นประเทศหนึ่ง และมากกว่ารอยเท้าคาร์บอนทั้งปีของเอธิโอเปีย ประเทศที่มีประชากร 135 ล้านคน
ตามการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ของ Transnational Institute ระบุว่า เพนตากอน ซึ่งรวมถึงกองทัพสหรัฐฯ และหน่วยงานกระทรวงกลาโหม ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 80% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของรัฐบาล ในปี 2023 ใช้งบประมาณ 8.6 แสนล้านดอลลาร์ และก่อให้เกิดมลพิษด้านสภาพภูมิอากาศเกือบ 152 ล้านตัน ผ่านปฏิบัติการในต่างประเทศ การใช้เชื้อเพลิงเครื่องบิน และการบำรุงรักษาฐานทัพในประเทศ รวมถึงการปล่อยก๊าซจากการผลิตอาวุธ เรือ รถถัง และเครื่องบิน
ตามการวิเคราะห์ล่าสุด รายงานว่า ตัวเลขการปล่อยก๊าซปี 2026 ใช้วิธีคำนวณเดียวกันโดยอิงจากงบประมาณกองทัพ คำนวณการปล่อยจากการปฏิบัติงานของเพนตากอนและห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจากอุตสาหกรรมทางทหารขนาดมหึมาของสหรัฐฯ ปัจจุบันสหรัฐฯ ดำเนินการฐานทัพทหารในต่างประเทศ 877 แห่ง มากกว่าทั้งโลกที่เหลือรวมกันถึงสองเท่าครึ่ง
สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของงบเพนตากอนไปยังบริษัทเอกชน โดยมากกว่าครึ่งของงบประมาณใช้จ่ายในหมวดดุลพินิจระหว่างปี 2020–2024 ถูกส่งไปยังบริษัทผู้ผลิตอาวุธ เพนตากอนถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในเชิงสถาบันของโลกมาอย่างยาวนาน งบประมาณปี 2026 จำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์จะทำให้รอยเท้าคาร์บอนของเพนตากอนเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซประจำปีของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 47 แห่ง
แต่ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่แท้จริงของเพนตากอนน่าจะรุนแรงยิ่งกว่านั้น เนื่องจากการคำนวณนี้ไม่ได้รวมการปล่อยก๊าซจากงบเสริมในอนาคต เช่น งบพันล้านดอลลาร์ที่จัดสรรเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์ทางทหารให้กับอิสราเอลและยูเครนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกล้านตันมีความสำคัญ เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงที่อันตราย ทำลายล้าง และมีต้นทุนสูง เช่น พายุเฮอริเคน ไฟป่า และภัยแล้ง การวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าสหรัฐฯ ใช้เงินเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อฟื้นฟูจากภัยพิบัติ
การปล่อยก๊าซของเพนตากอนในปีหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงผลกระทบต่อการเกษตร สุขภาพของมนุษย์ และทรัพย์สินจากสภาพอากาศสุดขั้ว ตามตัวคำนวณต้นทุนทางสังคมของคาร์บอนของ EPA ซึ่งปรับให้เป็นค่าเงินปี 2025
การเพิ่มงบประมาณกองทัพ 1.5 แสนล้านดอลลาร์เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของงบประมาณประจำปีของสำนักงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (Fema) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่ทรัมป์ขู่ว่าจะยุบไปโดยสิ้นเชิง
งบประมาณการทหารและการปล่อยก๊าซของสหรัฐฯ สูงที่สุดในโลก และเป็นเพราะสหรัฐฯ ที่ทำให้รัฐต่าง ๆ ไม่ต้องรายงานการปล่อยก๊าซทางทหารต่อสหประชาชาติ ในช่วงเตรียมการลงนามพิธีสารเกียวโต ปี 1997 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกแบบผูกพัน เพนตากอนได้ล็อบบี้ทำเนียบขาวของคลินตันให้ผลักดันข้อยกเว้นครอบคลุมสำหรับการปล่อยก๊าซจากการใช้เชื้อเพลิงทางทหาร
แม้กระนั้น รอยเท้าคาร์บอนทั้งหมดจากภาคทหารยังคงถูกประเมินว่าคิดเป็นประมาณ 5.5% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก โดยไม่รวมก๊าซเรือนกระจกจากความขัดแย้งและการสู้รบ ซึ่งมากกว่าการปล่อยรวมกันของการบินพลเรือน (2%) และการเดินเรือ (3%)
เพนตากอนเคยเตือนมานานแล้วว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และทะเลทรายในภูมิภาคที่เปราะบาง อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมืองและการอพยพ ซึ่งถือว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ตัวคูณภัยคุกคาม” ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
ปี 1991 จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ขณะที่เดือนมีนาคมปีนี้ รัฐมนตรีกลาโหมของทรัมป์ พีท เฮกเซ็ธ โพสต์ใน X ว่า
DeptofDefense ไม่ทำเรื่องบ้า ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราทำการฝึกและสู้รบ
นอกจากนี้ เฮกเซ็ธยังได้สั่งยุติงานวิจัยด้านสภาพอากาศและโครงการพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการของเพนตากอนที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของกองทัพ
อย่างไรก็ตาม งบประมาณทางทหารทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 การเสริมกำลังทางทหารนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพภูมิอากาศ