วิโรจน์ตั้งคำถาม พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ถอยไม่เป็นท่า เพราะรัฐบาลไร้เสถียรภาพหรือไม่ เสนอทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
วันนี้ (5 กรกฎาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นกรณีที่รัฐบาลเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไปก่อน โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าว
วิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะถอย พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แบบไม่เป็นท่า พร้อมระบุว่า กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าเหตุผลของพรรคเพื่อไทยคืออะไร และเป็นการเลื่อนการพิจารณา เลื่อนวาระ หรือถอนร่างออกไปกันแน่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมก็ต้องการคำตอบว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลไร้เสถียรภาพหรือไม่
ในมุมมองของวิโรจน์ การที่รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีรวดเร็วเช่นนี้ ทั้งที่เคยยืนยันว่าคิดดีแล้ว และไม่รับฟังคำทัดทานใดๆ นั้น เชื่อว่า ไม่ใช่ด้วยเหตุผล แต่เป็นเพราะความไม่มั่นใจว่าเสียงที่อยู่ฝั่งตนเองนั้นมีอยู่กี่เสียงกันแน่ โดยยกตัวอย่างพรรคประชาชาติที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้ รวมถึง สส. ฝ่ายมุสลิมที่ยืนยันไม่ยกมือให้ ทำให้เชื่อว่า แม้แต่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถตอบได้ว่ารัฐบาลมีกี่เสียง
นอกจากนี้ วิโรจน์ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 4 ร่าง ที่จะเข้าสู่สภาในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ หลังรัฐบาลเลื่อน พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไปก่อน โดยย้ำว่าเป้าหมายของการนิรโทษกรรมคือการให้อภัย ฟื้นฟูความสัมพันธ์ และเดินหน้ากันใหม่ ดังนั้น หากเดินหน้านิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ก็จะอธิบายต่อสังคมได้ยาก
พรรคประชาชนจึงยืนยันในจุดยืนเดิมว่า ต้องมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ขึ้นมาพิจารณานักโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างลงรายละเอียดและกลั่นกรองก่อน และพรรคฯ ยินดีรับหลักการของทุกร่าง เพราะเชื่อว่าการให้อภัยกันไม่ควรมีการลักลั่นหรือตั้งเงื่อนไขต่อกัน และเชื่อว่าข้อเสนอนี้ไม่น่าจะมีใครปฏิเสธหากพิจารณาโดยวางอคติลง
ส่วนที่หลายพรรคมีธงอยู่แล้วว่าไม่นิรโทษกรรมให้กับนักโทษในคดี 112 วิโรจน์กล่าวว่า ต้องหารือกันในการอภิปรายวาระหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยต้องแสดงความจริงใจและคิดบนหลักการให้อภัย เพราะการให้อภัยหากเลือกปฏิบัติก็ผิดวัตถุประสงค์ และพรรคฯ ทราบดีถึงความผิดในมาตรานี้ จึงไม่เลือกนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง แต่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองเนื้อหาสาระ องค์ประกอบทางนิตินัย พฤตินัย และเจตนา โดยไม่ต้องสนใจว่าหน้าตาใครเป็นอย่างไร เขายอมรับว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากเข้าใจว่ากฎหมาย Entertainment Complex จะเข้ามาก่อน
สำหรับประเด็นที่หลายคนมองว่าผู้ที่จะได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมรวมถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต สส.พรรคก้าวไกล ด้วยนั้น วิโรจน์กล่าวว่า คณะกรรมการคงไม่ได้พิจารณาจากหน้าตา แต่จะดูที่พฤติการณ์เป็นหลัก โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ที่ต้องยอมรับว่าเข้าข่ายเป็นคดีการเมือง เนื่องจากแต่ละช่วงเวลามีมาตรฐานการดำเนินคดีที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองในรายละเอียด