ม.กรุงเทพ จับมือภูฏาน ปักธง ‘Soft Power อาหารไทย’ สร้างความยั่งยืนระดับโลก
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมจัดงาน “เทศกาลอาหารไทย 2025: รสชาติแบบไทย ความอบอุ่นแห่งภูฏาน" ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน สะท้อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามพันธกิจของ อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้ปักธงด้านความยั่งยืนให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมในเวทีวิชาการงานมหกรรมคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 ที่ผ่านมา
โดยเทศกาลอาหารไทยนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ Royal Institute for Tourism and Hospitality (RITH) ภายใต้การนำของอาจารย์เจิมสุดา มานะกุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ที่นำทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน คือ อาจารย์สุถี เสริฐศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการโรงแรม และอาจารย์ Andhika Pradana อาจารย์ประจำสาขา Culinary Arts and Design, Bangkok University International พร้อมตัวแทนนักศึกษา 4 คน เดินทางไปถ่ายทอดองค์ความรู้การทำอาหารไทยในรูปแบบที่ยั่งยืน
ก่อนวันเปิดเทศกาลอาหารไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ร่วมกับ RITH จัดโครงการฝึกอบรมการทำอาหารไทยระยะเวลา 5 วัน เพื่อสร้างประสบการณ์การทำอาหารจริงและส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างของการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งผู้เข้าร่วมจากโรงแรมและร้านอาหารในท้องถิ่น ตลอดจนคณาจารย์และนักศึกษาจาก RITH ได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคนิคการทำอาหารไทยควบคู่กับการเรียนรู้การผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นของภูฏานอย่างสร้างสรรค์ โดยผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตร Certificate of Completion: Thai Cuisine Training Program ที่รับรองจาก RITH และ Bangkok University อีกด้วย
อาจารย์เจิมสุดา กล่าวว่า "โครงการฝึกอบรมในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนทางการทำอาหาร แต่คือการเดินทางร่วมกันของการเรียนรู้ การชื่นชมวัฒนธรรม และมิตรภาพ หวังว่าความรู้และประสบการณ์ที่แบ่งปันในเทศกาลนี้จะสร้างแรงบันดาลใจและเสริมพลังให้กับทุกคน" การถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างทักษะด้านการประกอบอาหารแต่ยังสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDG 4 ที่ต้องการให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เทศกาลอาหารไทย 2025 ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาทักษะของบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของภูฏาน โดยได้รับเกียรติจาก ท่านรัฐมนตรี ยีซัง เด ตาปา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาและพัฒนาทักษะของภูฏาน เป็นประธานในงาน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนจากระดับนโยบายที่จะทำให้ความร่วมมือนี้มีความยั่งยืนและขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมจากโรงแรมและร้านอาหารท้องถิ่นได้รับความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างงานที่มีคุณภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมาย SDG 8 ที่มุ่งส่งเสริมการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
หัวใจสำคัญของเทศกาลคือการนำเสนอเมนูอาหารไทยที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของภูฏาน โดยนำเสนอเมนูที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่าง ช่อม่วง ยำวุ้นเส้นโบราณ ต้มข่าไก่ ไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว รวมถึงประยุกต์ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของภูฏาน เช่น ต้มยำ Crawfish ผัดกระเพรา Sikum เมนูอาหารเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มความหลากหลายทางอาหาร แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของภูฏาน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นจุดขายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากภายนอก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตในท้องถิ่น สอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นผลจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างสถาบันการศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลง (MoU) ระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และกระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนาทักษะแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (MoESD) ซึ่งมีเป้าหมายหลากหลายมิติ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาทักษะผ่านโครงการฝึกอบรมร่วม การเพิ่มคุณภาพการบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ การสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างสถาบัน และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยั่งยืน
นอกจากนี้โครงการนี้ยังสะท้อนการใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการสร้าง "สะพานเชื่อมวัฒนธรรม" โดยไม่ทำลายเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แต่กลับส่งเสริมการนำวัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับเทคนิคการทำอาหารไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม สนับสนุน SDG 17 ที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เทศกาลอาหารไทยที่ภูฏานในครั้งนี้จึงเป็นมากกว่างานสาธิตการประกอบอาหารไทย แต่เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ผลลัพธ์ที่ได้จะขยายผลไปสู่การพัฒนาหลักสูตรร่วม การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ และการสร้างโครงการวิจัยร่วมในอนาคต โครงการนี้ยังเป็นการยืนยันบทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสร้างความร่วมมือที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมทักษะ และการสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
ด้วยความสำเร็จของเทศกาลอาหารไทย 2025 นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพและสถาบันการศึกษาในภูฏาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ Soft Power ในรูปแบบของอาหารและวัฒนธรรม ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมที่เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศ และยังเป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในการใช้การศึกษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาที่ยั่งยืน