ผอ.ขอพูดตรงๆ มีผู้ปกครอง 4 ประเภทที่ "ไม่อยากเจอ" สร้างปัญหาทั้งต่อครูและลูก!
ครูใหญ่จีนเผย 4 ประเภทผู้ปกครองที่ "ไม่อยากเจอ" เตือนสติ ยิ่งหลีกเลี่ยงนิสัยเหล่านี้ได้ ยิ่งช่วยลูกเรียนดีและเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ!
หวังให้ลูกเรียนดี แต่กลับเป็นอุปสรรคโดยไม่รู้ตัว….. ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าว SOHA "คุณหลิน" ครูใหญ่ของโรงเรียนประถมชื่อดังในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้แชร์มุมมองในฐานะครูที่มีประสบการณ์ยาวนาน ชี้ชัดถึงพฤติกรรมของผู้ปกครองบางประเภท ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังทำร้ายอนาคตของลูกโดยไม่รู้ตัว
โดยเธอเผยว่า มีผู้ปกครองอยู่ 4 ประเภทที่ครูหลายคนต้อง “หวั่นใจ” เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ครูรู้สึกอึดอัด แต่ยังส่งผลสะท้อนกลับไปยังพฤติกรรมและทัศนคติของลูกโดยตรง ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่าการ "สะท้อนภาพพ่อแม่ผ่านสายตาครูสู่ลูก" หรือก็คือ หากครูมองพ่อแม่ในแง่ลบ ก็อาจมองลูกในแบบเดียวกันโดยไม่รู้ตัว
1. ผู้ปกครองที่โยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้ครู
ผู้ปกครองประเภทนี้มักพูดว่า “ฉันต้องทำงานทั้งวัน ไม่มีเวลาเลย ครูต้องดูแลลูกฉันให้ดีนะ” แล้วก็ไม่เคยถามไถ่การบ้านหรือพัฒนาการของลูกเลย ผลคือเด็กเริ่มละเลยการบ้าน คะแนนตก และอาจถูกเพื่อนในห้องแยกตัวในที่สุด
เด็กมักเรียนรู้ทัศนคติจากครอบครัว หากพ่อแม่ไม่ใส่ใจเรื่องเรียน เด็กก็จะไม่ให้ความสำคัญเช่นกัน แม้จะมีเวลาน้อย แต่แค่ 10 นาทีต่อวัน กับการทบทวนการบ้านหรือพูดคุยเรื่องโรงเรียน ก็เพียงพอให้เด็กเปิดใจและร่วมมือกับครูได้มากขึ้น
2. ผู้ปกครองที่อ่อนไหวและมองครูเป็นฝ่ายผิดเสมอ
ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะเริ่มต้นด้วยความไม่ไว้ใจ เช่น เมื่อครูแจ้งว่าเด็กเสียสมาธิในห้อง พ่อแม่ก็โต้กลับทันทีว่า "ครูลำเอียง" หรือเมื่อถูกแจ้งว่าไม่ได้ทำการบ้านก็จะโต้เถียงในกลุ่มว่า “ลูกฉันทำการบ้านเสมอ!” ปัญหาคือพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า “เมื่อมีปัญหา ให้โทษคนอื่นไว้ก่อน” และอาจสร้างกำแพกระหว่างเด็กกับครู
ทางออกที่ดี พ่อแม่ควรใช้การสื่อสารอย่างเปิดใจ แทนการปะทะอารมณ์ ครูเองก็ไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ แต่การพูดคุยด้วยความเข้าใจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันได้ดีขึ้น และเด็กจะเติบโตด้วยทัศนคติเชิงบวก
3. ผู้ปกครองที่สร้างความกดดันเกินวัย
ผู้ปกครองบางคนส่งลูกเรียนทุกอย่างตั้งแต่ยังไม่ถึง 6 ขวบ ไม่ว่าจะเป็นเปียโน วาดภาพ เขียนพู่กัน เล่นหมากรุก หรือแม้แต่เขียนโปรแกรม ด้วยความคิดว่า "ลูกคนอื่นเรียนได้ ลูกเราก็ต้องเรียนได้" แต่กลับไม่เคยถามลูกเลยว่า "ชอบหรือไม่ชอบอะไร?" เมื่อเวลาผ่านไป เด็กจะเริ่มรู้สึกว่าเรียนเพื่อเอาใจพ่อแม่ ไม่ใช่เพื่ออนาคตของตัวเอง และสูญเสียความสนใจในการเรียนรู้ที่แท้จริง
ดังนั้น ลองถามลูกว่า “ชอบเรียนอะไรที่สุด?” หรือ “มีวิชาไหนที่ไม่อยากเรียนไหม?” การฟังเสียงของลูก และให้เวลาลูกพักผ่อนบ้าง อาจช่วยให้เด็กมีแรงบันดาลใจมากกว่าการบังคับเรียนทุกอย่าง
4. ผู้ปกครองที่ปกป้องลูกจนเกินเหตุ
พ่อแม่บางคนพยายามปกป้องลูกในทุกสถานการณ์ ทำให้เด็กเริ่มมีแนวคิดว่า “ฉันเป็นฝ่ายถูกเสมอ” หรือกลายเป็นคนขาดวินัยและไม่รู้จักกฎเกณฑ์ ยิ่งนานวันไป เด็กอาจกลายเป็นคนไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้
แนวที่ทางเหมาะสมคือ พ่อแม่ควรสื่อสารกับลูกว่า “พ่อแม่จะอยู่ข้างลูกเสมอ แต่เราต้องร่วมกันรับผิดชอบและแก้ไขสิ่งที่ผิด” การสอนให้ลูกรู้จักขอโทษ แก้ไข และเรียนรู้จากความผิดพลาด จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์
เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเป็นพ่อแม่ที่ดีไม่ใช่แค่รักลูกเท่านั้น แต่ต้องรู้จัก “ส่งเสริมและไม่ขัดขวาง” การพัฒนาเชิงบวกของลูกด้วย การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทั้ง 4 แบบนี้ ไม่เพียงช่วยให้ครูสามารถร่วมมือกับครอบครัวได้ดีขึ้น แต่ยังสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย มีความสุข และมีอนาคตที่สดใสยิ่งกว่าเดิมให้กับลูกของคุณเอง