เปิดโผ 20 หุ้น SET ครึ่งปีแรก 68 วิ่งแกร่งกว่าตลาด!
แม้ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2568 จะเผชิญแรงกดดันรอบด้านทั้งความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก และโยบายภาษีของสหรัฐฯกดดันหุ้นส่งออกและห่วงโซ่อุปทาน ภาวะสงครามตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงแรงขายสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติที่ออกมาต่อเนื่องกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวลดลง 310.65 จุด หรือลดลง 22.18% โดยเทียบจากดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,400.21 จุด ณ 30 ธ.ค.2567 มาอยู่ที่ระดับ 1,089.56 จุด ณ 30 มิ.ย.2568
อย่างไรก็ตามท่ามกลางภาวะตลาดที่ซบเซา กลับมีหุ้นบางกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET ที่ราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า 10% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี โดยมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายเก็งกำไรตามปัจจัยเฉพาะตัว และกลุ่มที่มีการพลิกฟื้นผลประกอบการ รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐบางช่วง
ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่ม SET ในช่วงครึ่งปีแรก 2568 โดยเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567-30 มิถุนายน 2568 พบว่า มีหุ้นในกลุ่ม SET จำนวน 20 ตัว ที่ราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า 10% ได้แก่ NCAP, NOVA, SRICHA, TFG, S11, PT, UP, MCS, STPI, PM, AMC, ETL, ZAA, BAM, MATCH, UNIQ, SAT, THE, PK และ SCI ดังตารางประกอบ
อย่างไรก็ตาม NCAP เป็นหุ้นที่ราคาปรับขึ้นสูงสุดถึง 58.90% ตามด้วย, SRICHA และ TFG ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 30–40% สะท้อนถึงโอกาสในการลงทุนบางกลุ่มแม้ภาวะตลาดโดยรวมจะไม่เอื้ออำนวยและจะขอนำเสนอข้อมูลประกอบดังนี้
สำหรับ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ราคาหุ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้น 58.90% โดยเทียบจากระดับ 1.46 บาท ณ 30 ธ.ค.67 มาอยู่ที่ระดับ 2.32 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2568 โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมาจากผลกอบการไตรมาส 1/68 เติบโตเด่น และคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะเติบโตสดใส
โดย NCAP เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 มีกำไรพุ่งทะลุเพดานกว่า 372% แตะ 134 ล้านบาท จากพอร์ตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ผนึกพลังบริหารความเสี่ยง ลดขาดทุนด้านเครดิตลงกว่า 44%ขณะที่รายได้รวมโตแตะ 529 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อ และรายได้ค่าบริการเกี่ยวกับการทำประกันภัยที่เติบโต ด้านยอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวมจำนวน 1,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ด้านนายพุฒิพันธ์ เตยะราชกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NCAP เปิดเผยว่า แนวโน้มทั้งปี 2568 บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อนที่มียอดปล่อยอยู่ที่ 5,690 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 9,626 ล้านบาท โดยยังคงเน้นสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ (HP) เป็นธุรกิจแกนหลักควบคู่กับการเร่งปั้น สินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มรถจักรยานยนต์ "Next Money" ให้เป็นพอร์ตดาวรุ่ง โดยตั้งเป้าสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มรถจักรยานยนต์สิ้นปีนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีเพียง 10 ล้านบาท หรือโตกว่า 10 เท่าภายในปีเดียว ภายใต้การทำงานด้วยความรอบคอบ เน้นคุณภาพเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังเห็นปัจจัยภายนอกหลายด้านที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจ โดยเฉพาะรายได้จากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐและทิศทางราคาพืชผลที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยเสริมความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าบางกลุ่ม ขณะเดียวกัน รายได้จากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อบางประเภทยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทรงตัวหรือปรับลดลง มีแนวโน้มช่วยลดต้นทุนทางการเงินในระยะถัดไป
ด้านบริษัท โนวา เอมไพร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOVA ราคาหุ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้น 43.37% โดยเทียบจากระดับ 8.30 บาท ณ 30 ธ.ค.67 มาอยู่ที่ระดับ 11.90 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2568 คาดเก็งกำไรผลงานปีนี้พลิกฟื้นพ่วงแผนธุรกิจโดดเด่นปีนี้ โดยเฉพาะการเดินหน้าธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่ง (Offshore service) ผ่านบริษัท โนว่า เอ็กซ์ จำกัด (Nova X) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยเป็นผู้ให้บริการเรือกักเก็บน้ำมันดิบ (Floating Storage and Offloading Unit หรือ FSO) ในโครงการ G1FSO สำหรับแหล่งปิโตรเลียม G1/61 (แหล่งปลาทอง) ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม [PTTEP]
ด้านนางสาวปาลีรัฐ ปานบุญห้อม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท NOVA จะเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ด้วยการวางแผนธุรกิจที่รอบคอบชัดเจน ส่งผลให้ NOVA มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ และมีรายได้จากการดำเนินงานที่แน่นอนจากทั้ง Nova X และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท โซลาร์ อาเขต จำกัด และมั่นใจว่าในปี 2568 กลุ่มบริษัทจะสร้างรายได้ได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน หลังจากถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย CB หุ้น NOVA เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานประจำปีน้อยกว่า100 ล้านบาท
ทั้งนี้ Nova X เป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกที่ให้บริการ FSO แบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบทางวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์ ก่อสร้าง การติดตั้ง และการทดสอบ (EPCIC) ไปจนถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งานของโครงการ โดยมุ่งเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ส่วนบริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SRICHA ราคาหุ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้นถึง 42.06% โดยเทียบจากระดับ 5.35 บาท ณ 30 ธ.ค.67 มาอยู่ที่ระดับ 7.60 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2568 คาดราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจากแรงซื้อเก็งกำไรผลงานฟื้นตัวเด่นปีนี้ จากการได้รับงานก่อสร้างใหม่และลุยประมูลเพิ่มอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ด้านนายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ SRICHA เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเสนอประมูลโครงการเพิ่มเติมปี 2568 ได้แก่ โครงการ ALUMINA ที่ทวีปแอฟริกา มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการ LNG ในประเทศปาปัวนิวกินี, แคนาดาและโมซัมบิก โดยงานเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการช่วงปลายปีพ.ศ. 2569
หลังจากล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการ Clean Fuel Project (CFP) กับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งบริษัทสามารถเริ่มงานในเดือนมิถุนายน 2568 โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 19 เดือน
โดย SRICHA มั่นใจว่าด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบริษัท SRICHA จะสามารถทำให้โครงการเสร็จ ลุล่วงตามกรอบเวลาของบริษัท ไทยออยล์ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าประมาณ 7,800 ล้านบาท และสามารถรับรู้รายได้ได้ทันที จึงช่วยเสริมรายได้ให้แก่บริษัทในปี 2568 และ 2569 นี้เป็นอย่างดี
โครงการดังกล่าวครอบคลุมงานในพื้นที่ที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วน (brown field area) และพื้นที่ใหม่ (green field area) สำหรับขอบเขตของงาน (scope of work) ประกอบด้วย งานโครงสร้างเหล็ก (steel structure works), งานระบบท่อ (piping works), งานฉนวนกันความร้อน (insulation works) และงานป้องกันไฟ (fireproof works)
ด้านบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ราคาหุ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้น 42.06% โดยเทียบจากระดับ 3.38 บาท ณ 30 ธ.ค.67 มาอยู่ที่ระดับ 4.54 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2568 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่มาจากทิศทางธุรกิจปีนี้สดใส
ด้านนายเพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ TFG เปิดเผยว่า จากกรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก หลังพบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) ในฟาร์มแห่งหนึ่งของประเทศบราซิล โดยระงับการนำเข้าเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งส่งผลดีกับผู้ประกอบการส่งออกไก่ของไทย และคาดว่าจะช่วยผลักดันยอดส่งออกไก่ไปจีนและยุโรป ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
"มั่นใจว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนราคาหมู ไก่ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง จากการบริหารจัดการด้านจัดซื้อวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือ ประกอบกับบริหารจัดการค่าขนส่งให้มีประสิทธิภาพ" นายเพชร กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากยอดขายร้านค้าปลีก “ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต” (Retail Shop) ซึ่งถือเป็น Flagship ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต โดยในปีนี้มีแผนสาขา Retail Shop เพิ่มเป็น 600 แห่ง รองรับความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มมาร์จิ้นให้ธุรกิจ
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2568 บริษัทมีรายได้รวม 17,852.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,586.62 ล้านบาท หรือ 16.94% มีกำไรสุทธิ 2,036.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,862.91 ล้านบาท หรือ 1,072.43% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกำไรสุทธิ High record ของบริษัท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาสุกรเวียดนามอยู่ในระดับสูง และปริมาณสุกรที่เวียดนามเพิ่มขึ้น ราคาสุกรไทยเพิ่มขึ้น ราคาไก่เพิ่มขึ้น ร้านค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลงจากบริหารจัดการด้านการจัดซื้อวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือ ประกอบกับบริหารจัดการค่าขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนบริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ S11 ราคาหุ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้น 30.97% โดยเทียบจากระดับ 2.26 บาท ณ 30 ธ.ค.67 มาอยู่ที่ระดับ 2.96 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2568 โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่มาจากทิศทางธุรกิจปีนี้สดใส หลังโชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 ออกมาโตแกร่งทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดเก็งกำไรได้ประโยชน์จากมาตรการฐภาครัฐช่วยลูกหนี้
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 92.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 487.19% จากขากขาดทุนสุทธิ 23.99 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปืก่อน โดยเป็นผลมาจากการ ค่าใช้จ่ายรวมส่าหรับใดรมาส 1 ปี 2568 จ่านวน 150.00 ล้านบาท ลดลง 51.07% จาก 306.52 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และผลขาดทุนด้านเครดิดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 73.14 ล้านบาท ลดลง 62.14% จาก 193.18 ลำนบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างเข้มงวด ทั้งนี้บริษัทยังคงมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื่อรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของหุ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนแม้ตลาดภาพรวมจะเผชิญแรงกดดัน โดยเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หรืออยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน