‘ประภัตร’ร่วมเป็นสักขีพยาน การผลักดันแนวทางระดมทุนต่างชาติ ติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับเกษตรกร 6 ล้านหลังคาเรือน
นายประภัตร โพธสุธน อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง “โครงการพันธบัตรดิจิทัล – การลงทุนในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย” สำหรับเกษตรกรกว่า 6 ล้านหลังคาเรือน และประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าราคาถูก เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตร และอุปโภค บริโภค นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
โดยนายประภัตรได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานระหว่างบริษัท ซีแอลเอ็มวี โฮลดิ้ง จำกัด และ Mr.Tony Wong ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Capital Trust Group Ltd. ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของ WI HARPER GROUP, JP Morgan และ Deutsche Bank ในการให้การรับรองโครงการที่นำโดย CTG ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนที่มีความชำนาญมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานแจ้งว่า การหาแหล่งทุนครั้งนี้จะดำเนินการโดย Mr.Tony Wong บริษัท แคปิตอล ทรัสต์ กรุ๊ป จำกัด Capital Trust Group (CTG) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการการลงทุนจากนิวซีแลนด์ มีความน่าเชื่อถือ เป็นฝ่ายระดมทุนหาพันธมิตร ซึ่งได้ประกาศเปิดตัว "โครงการพันธบัตรดิจิทัลมูลค่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมจัดทำข้อเสนอโครงการพันธบัตรดิจิทัล จำนวนสี่ (4) โครงการ มูลค่ารวม 21 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการลงทุนโดยตรงในภาคการเกษตร เพื่อการส่งออกของประเทศไทย โดยร่วมมือกับบริษัท ซีแอลเอ็มวี โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแหล่งเงินทุนหลักของโครงการ โดยไม่มีภาระทางการคลังต่อรัฐบาลไทย
โครงการนี้จะเป็นมิติใหม่ของการระดมทุนผ่านนักลงทุนสถาบันฯในต่างประเทศ ด้วยโครงสร้างการระดมทุนแบบพันธบัตรดิจิตอลโดยภาคเอกชน ที่ไม่มีภาระทางการคลังต่อรัฐบาลไทย พร้อมได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินชั้นนำในฮ่องกง ซึ่งได้รับใบอนุญาตเต็มรูปแบบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (SFC)
รายงานข่าวยังแจ้งอีกด้วยว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการใหญ่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์พลังงานของประเทศไทย แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญระดับโลก ซึ่งโครงการนี้ยังไปสอดคล้องกับที่ นายทักษิณ ชินวัตร แสดงวิสัยทัศน์ "ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก" ในช่วงหนึ่วว่า “วันนี้เรานำเข้าน้ำมันดีเซล 60 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเบนซิน 25 ล้านลิตรต่อวัน และน้ำมันอื่นๆ อีกประมาณ 10 ล้านลิตรต่อวัน เท่ากับโรงงานผลิตไฟฟ้า 40,000 เมกะวัตต์ สมมติว่าเราผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 40,000 เมกะวัตต์ และรถใช้ไฟฟ้าหมด เราก็ไม่ต้องนำเข้าน้ำมัน ฉะนั้นสมมติว่าเราอยากทำตัวเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าสีเขียว เราจะทำโซล่าฟาร์ม ซึ่งผลิตได้ 40,000 เมกะวัตต์ แทนที่น้ำมันนำเข้า เราจะใช้ที่ดินประมาณ 1.4 ล้านไร่ เพื่อเป็นระบบโซล่าเซลล์ 24 ชั่วโมง ซึ่งเราสามารถหาได้เยอะแยะ เพราะเรามีที่ดิน สปก. 40 ล้านไร่”