‘เต้’ บุก DSI แฉส่วยแรงงานข้ามชาติ 5 พันล้าน! โยงนักการเมือง-ขรก.ชื่อดัง
“มงคลกิตติ์” ร้องสอบขบวนการรีดหัวคิวแรงงานกัมพูชา-เมียนมา เก็บหัวละ 2,500 บาท เงินสะพัดหลายพันล้าน ชี้ชัดชื่อ “ป๋าเตี้ย-ป๋อง-นาย S” ตัวกลางส่งเงินถึงฝ่ายการเมือง
21 กรกฎาคม 2568 - ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น เดินทางเข้ายื่นหนังสือและพยานหลักฐานต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้สอบสวนขบวนการเรียกเก็บส่วยจากแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา เมียนมา และลาว ซึ่งมีมูลค่ารวมระดับพันล้านบาท
นายมงคลกิตติ์เปิดเผยว่า กลุ่มนายจ้างสีขาวเคยร้องเรียนกรณี “ส่วย Name List” ของแรงงานกัมพูชา โดยมีการเก็บค่าหัวคิวคนละ 2,500 บาท คิดเฉพาะแรงงานกัมพูชากว่า 2.8 แสนคน เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 718 ล้านบาท ซึ่งแบ่งจ่ายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของกัมพูชาและฝ่ายไทย โดยฝ่ายไทยมีตัวแทนเอกชนคือ “ป๋าเตี้ย” และ “นายป๋อง” เป็นผู้รับหน้าที่ส่งต่อส่วยขึ้นบนสู่ผู้มีอำนาจทางการเมือง อักษรย่อ “พี”
กรณีแรงงานเมียนมา เดิมทีมีแผนเรียกเก็บแบบเดียวกันกับกัมพูชา แต่เกิดความขัดแย้งภายในฝ่ายเมียนมา จึงยังไม่มีการจ่าย ส่วนแรงงานเมียนมาในระบบมีประมาณ 2 ล้านคน และนอกระบบอีกกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งจะต้องเข้าศูนย์พิสูจน์สัญชาติ (CI) ตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เรียกเก็บในระบบ ทั้ง “ค่า Calling กรม” หัวละ 500 บาท และค่าใช้บริการ CI อีกกว่า 1,200 บาทต่อคน หากนับรวมทั้งหมดจะมีเงินสะพัดเพิ่มถึง 5,000 ล้านบาท
นายมงคลกิตติ์ระบุว่า ขบวนการนี้มีการเชื่อมโยงถึงข้าราชการประจำ นักการเมือง และเอกชน โดยตัวละครหลักได้แก่ “นาย S”, “นาย W”, “ป๋าเตี้ย”, “นายป๋อง” และ “Mr.Beans” โดยบางคนรับบทเป็นมือประสาน บางคนเป็นผู้ควบคุมรหัสหลังบ้าน เช่น กรณีการลงทะเบียนย้อนหลัง 40,000–50,000 คน ในระบบเมียนมา มีการเรียกเก็บหัวละ 3,500 บาท คิดเป็นเงินรวม 175 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่าบริษัทที่ดีเอสไอเคยบุกค้นก่อนหน้านี้ เป็นบริษัทในเครือของ “นาย S” ซึ่งมีความชำนาญเรื่องแรงงานกัมพูชา โดยเบื้องหลังการจัดเก็บเงินเหล่านี้มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและประเทศต้นทาง โดยเฉพาะแรงงานเมียนมา ซึ่งกำลังเข้าสู่กระบวนการ CI ในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี
นายมงคลกิตติ์ย้ำว่า ข้อมูลที่ยื่นให้วันนี้ยังไม่รวมชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ดีเอสไอสามารถตีวงสืบสวนได้เต็มที่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้องจริง จะส่งชื่อให้ในลำดับถัดไปเพื่อเอาผิดอย่างถึงที่สุด.