ศาลยกคำร้อง ‘ธงชัย’ ปมกุญแจเท้าอานนท์ ชี้ยังไม่ถึงขั้นย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์
ศาลอาญายกคำร้อง “ธงชัย วินิจจะกูล” กรณีขอไต่สวนการใส่กุญแจเท้า “อานนท์ นำภา” ระหว่างมาศาล ชี้ยังไม่มีมูลเพียงพอว่าการกระทำของราชทัณฑ์เป็นการทรมานหรือไร้มนุษยธรรม “อานนท์” เตรียมอุทธรณ์ ขณะที่ “ธงชัย” ห่วงแนวคำสั่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ
22 กรกฎาคม 2568 - เมื่อ 21 กรกฎาคมศาลอาญาไต่สวนคำร้องในคดีหมายเลข ปท. 2/2568 ตามที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ยื่นขอให้ไต่สวนโดยพลัน กรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้กุญแจเท้ากับนายอานนท์ นำภา ระหว่างการเดินทางมาศาล ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายการปฏิบัติที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การไต่สวนมีพยาน 4 ปาก ได้แก่ นายอานนท์ในฐานะผู้เสียหาย และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 รายจากด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา-สิทธิมนุษยชน และประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์ โดยนายอานนท์เบิกความถึงผลกระทบจากการสวมกุญแจเท้า ทั้งบาดแผลที่ข้อเท้า การเดินลำบาก และความรู้สึกถูกลดศักดิ์ศรีของผู้ต้องหา พร้อมระบุว่าแม้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่กลับถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนผิดแล้ว
พยานผู้เชี่ยวชาญอาทิ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ให้ความเห็นว่าการใช้กุญแจเท้าผู้ต้องหาทุกกรณีโดยไม่มีเหตุจำเพาะ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 21 ที่ห้ามใช้เครื่องพันธนาการเว้นแต่จำเป็นเฉพาะราย ส่วน ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ยืนยันว่าศาลมีอำนาจไต่สวนตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ มาตรา 26 เพื่อพิจารณาว่าการกระทำเข้าข่ายโหดร้ายหรือไม่ ขณะที่ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชี้ว่าไทยเคยยกเลิกการใช้เครื่องพันธนาการแล้ว เพราะข้อเสียมีมากกว่าประโยชน์
ต่อมา ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยเห็นว่าการใช้กุญแจเท้าเป็นอำนาจตามกฎหมายราชทัณฑ์เพื่อป้องกันหลบหนี และแม้ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ต้องหา แต่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการจงใจลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเกินกว่าเหตุ อีกทั้งแม้ไม่มีบันทึกความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เพียงพอชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมตามกฎหมาย
หลังฟังคำสั่ง อานนท์ยืนยันจะให้อุทธรณ์ต่อ “คำสั่งวันนี้ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีแผลชัดเจนแต่ศาลกลับเห็นว่าไม่มีมูลเพียงพอ” พร้อมเรียกร้องให้เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองผู้ต้องขังรายอื่นตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
ด้าน ดร.ธงชัย กล่าวหลังทราบคำสั่งว่า “การไม่ถือว่าการล่ามโซ่เป็นการทรมาน อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวลงต่อสังคม และเป็นการให้อำนาจการกลับตาลปัตรกฎหมายอยู่ในมือราชทัณฑ์”
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อ 28 พฤษภาคม 2568 ดร.ธงชัยยื่นคำร้องตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ หลังเห็นนายอานนท์ปรากฏตัวพร้อมกุญแจเท้าในการเดินทางมาศาล และเห็นว่าการกระทำนั้นละเมิดหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน