โอดกองทัพถูกตัดงบซื้ออาวุธ วอนประชาชนเข้าใจไร้จัดหาแบบกอบโกย
ในวันที่ 27 ก.ค. มีข่าวว่า กัมพูชาจะใช้อาวุธยิงระยะไกลว่า 100 กิโลเมตร ( ขีปนาวุธ PHL-03 ) โจมตีไทย ซึ่งรัศมีจะครอบคลุมได้ทั้งอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ทั้งพื้นที่ และไปถึงบางส่วนของยโสธร (อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง) ร้อยเอ็ด (อ.เมืองสรวง อ.สุวรรณภูมิ อ.โพนทราย อ.พนมไพร อ.หนองฮี อ.เกษตรวิสัย อ.ปทุมรัตน์) มหาสารคาม (อ.พยัคฆภูมิพิสัย ) นครราชสีมา (หลายอำเภอตอนล่าง) ขึ้นอยู่กับทางไทยจะสกัดไว้ได้หรือไม่
“บิ๊กเล็ก”พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม กล่าวยอมรับว่า กังวลกับการที่กัมพูชาจะใช้อาวุธนั้น ความจริงคือ เวลาที่ผ่านมาเราถูกตัดงบประมาณสำหรับซื้ออาวุธ เราจัดซื้อเท่าที่จำเป็น ดังนั้นอาวุธเชิงรุกรานเราไม่ได้ซื้อเอาไว้ เน้นไปที่ป้องกันอธิปไตยเท่านั้น แต่ก็มีจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มาก
“ของเขามีถึง6 ระบบ ตรงนี้เป็นสิ่งที่กองทัพคงต้องทบทวน ในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐบาลและกองทัพ ได้พูดคุยกับรัฐบาลว่าหลังจากนี้คงต้องขอความกรุณาจากประชาชนให้เห็นใจกองทัพ และต้องคุยกับกองทัพเช่นเดียวกันว่าไม่ใช่พอประชาชนเห็นใจแล้ว จะจัดหาแบบกอบโกย มันทำไม่ได้ต้องเอาเฉพาะที่จำเป็น ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนมั่นใจช่วงที่ตนอยู่ตรงนี้จะไม่ทำให้เกิดอย่างนั้นเป็นอันขาด ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิด”
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์สู้รบไทย-กัมพูชา” ที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 ก.ค. กลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 1,054 ตัวอย่าง เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการสู้รบไทย-กัมพูชา พบว่า 99.5% เชื่อมั่นต่อกองทัพไทยจะปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยได้ 94.3% ต้องการให้ฝ่ายการเมืองดูแลเยียวยาประชาชนผู้อพยพให้ดีกว่านี้ เช่น ค่าครองชีพ ภาระค่าใช้จ่าย หนี้สิน สวัสดิการ อาชีพการงาน สุขอนามัย เป็นต้น 91.8% ต้องการเห็นคนไทยสามัคคี ไม่ทะเลาะกันเอง ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน 91.5% ต้องการให้รัฐบาลเร่งเจรจาสันติภาพแต่ต้องไม่ยอมอ่อนข้อต่อผู้รุกราน
ประชาชนยังให้ความสำคัญกับการวางรากฐานหลังสงคราม ด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจและอาชีพ 88.9% ซึ่งสะท้อนความตระหนักว่า สงครามไม่จบที่ชัยชนะ แต่จบที่คุณภาพชีวิตของประชาชนหลังสงคราม ที่น่าสนใจคือ 95.8% ห่วงใยมากถึงมากที่สุด ต่อประชาชนผู้อพยพผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่สู้รบไทย-กัมพูชา สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด อันดับแรกได้แก่ เงินช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อยังชีพ ชดเชยรายได้ที่หายไป 92.8% รองลงมาคือ เจรจาสถาบันการเงิน เจ้าหนี้พักชำระหนี้ 89.6% จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูบ้านเรือนเสียหายจากการสู้รบ 85.3% สร้างงาน สร้างอาชีพ เร่งด่วน เช่น อัตราพนักงานรัฐชั่วคราว รับงานไปทำที่ศูนย์อพยพ งานเกษตร พนักงานเอกชนชั่วคราว 82.7% เปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจปลอดภัย จ้างงานพิเศษ เปิดพื้นที่ฟรีให้ค้าขาย 81.1% งดดอกเบี้ยค้างชำระ ยุติการฟ้องร้องหนี้สินชั่วคราว 80.9%
ที่พรรคไทยสร้างไทย ( ทสท.) นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรค ทสท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร และ “อดีตนายกฯแม้ว”ทักษิณ ชินวัตร หยุดการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งส่วนตัวกับผู้นำกัมพูชาในที่สาธารณะโดยทันที เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้มีความสุ่มเสี่ยงสูง ทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ ภายหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เสนอยุติความตึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมทั้งมีความเคลื่อนไหวเรื่องการบอยคอตทางการค้าร่วมด้วย
“สถานการณ์ขณะนี้เปราะบางอย่างยิ่ง การที่ น.ส.แพทองธารและนายทักษิณต่างออกมาให้สัมภาษณ์ซึ่งมีรายละเอียดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างสองครอบครัว ไม่เพียงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ยังเสี่ยงต่อการทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกด้วย แม้ท่าทีที่แข็งกร้าวของนายทักษิณอาจถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มความนิยมให้กับรัฐบาลได้ในทางใด กลับยิ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในจุดยืนของไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศ”
“และยังต้องจับตาท่าทีของจีน ซึ่งขณะนี้ยังไม่แสดงจุดยืนที่แน่ชัด ขอเสนอแนะว่ารัฐบาลควรตั้งมีเดีย วอร์รูมเพื่อจัดการการสื่อสารกับสื่อต่างประเทศอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดทำเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้นำกัมพูชาใน เวอร์ชันภาษากัมพูชา เพื่อสื่อสารตรงไปยังประชาชนชาวกัมพูชาโดยตรง และสร้างความได้เปรียบด้านข้อมูลข่าวสารให้กับฝ่ายไทย”
ปิดท้ายด้วย “โฆษกบรุ๊ค”ดนุพร ปุณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีม็อบรวมพลังแผ่นดินการนัดชุมนุมวันที่ 2 ส.ค. ว่า อยากขอร้องไปยังแกนนำม็อบทั้งหลายว่าวันนี้สิ่งที่ประเทศต้องการ ไม่ใช่การยุบสภา แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องการในปัจจุบันคือความสามัคคีของคนในชาติ ขอเรียกร้องว่ารอให้เหตุการณ์ชายแดนสงบก่อน แล้วจะมาชุมนุมตามกฎหมาย ตนเชื่อว่าไม่มีการห้ามกัน แต่ขอให้รับคำร้องขอและไปพิจารณาอีกครั้ง
“ทราบว่าการชุมนุมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก มีการซื้อข้าวกล่องและซื้อน้ำมาเลี้ยงผู้ที่มาชุมนุม หากนำงบประมาณในส่วนนี้ทั้งข้าวกล่อง น้ำ และอาหารแห้ง ส่งไปช่วยเหลือประชาชนผู้ที่อพยพอยู่ บริเวณเขตชายแดนจะเหมาะสมกว่า”
"ทีมข่าวการเมือง"