ประชาชนได้อะไร!! จากการเปิดแปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกในรอบ 18 ปี
การเปิดเผยรายชื่อบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมที่สนใจเข้าร่วมขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบก ครั้งที่ 25 ที่มีจำนวน 5 ราย 8 คำขอ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ชี้แนวโน้มให้เห็นว่า การที่มีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ ถือเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมของไทย รวมถึงภาคการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องต่าง ๆ เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดให้ขอยื่นสัมปทาน ในพื้นที่ใหม่บนบกมาตั้งแต่ปี 2550 และด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจทางธรณีวิทยามีความแม่นยำสูงขึ้นมาก ทำให้สามารถระบุโครงสร้างและศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการลงทุนและเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ ที่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น
สำหรับบริษัท 5 ราย ที่ยื่นขอสิทธิสำรวจ ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยื่น 3 คำขอ บริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด และ CanAsia Energy Corp. ยื่น 1 คำขอ บริษัท จีโอเมคคานิคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ยื่น 1 คำขอ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ยื่น 1 คำขอ และบริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ ยื่น 2 คำขอ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่า การเปิดสำรวจฯ รอบนี้จะเกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 2,000 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่ได้พลังงาน แต่กระจายสู่ประชาชน
การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ภายใต้ระบบสัมปทานมีจำนวน 9 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ถือเป็นการเปิดแปลงสำรวจแหล่งบนบกหลังจากห่างหายไปนานถึง 18 ปี โดยเปิดสำรวจพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ส่วนภาคกลาง 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมพื้นที่ทั้งหมด 33,444.64 ตารางกิโลเมตร
นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้โดยตรงจากโอกาสการเพิ่มแหล่งพลังงานของประเทศแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ โดยเมื่อดูจากพื้นที่สำรวจส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ หากคิดข้ามช็อตไปหลังจากบริษัทที่ยื่นขอสิทธิสำรวจฯ แล้ว ประสบความสำเร็จในการค้นพบแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้นและสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ประชาชนในพื้นที่ จะได้รับข้อดีในหลาย ๆ ด้าน อาทิ
- เศรษฐกิจท้องถิ่น เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ทั้งแรงงานทั่วไปและแรงงานฝีมือ มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนจากบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนส่ง ร้านอาหาร ที่พัก
- สวัสดิการชุมชน รัฐสามารถจัดสรรรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม (Royalty) กลับมาสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน โรงเรียน น้ำประปา
- ความรู้และทักษะการดำเนินงานด้านเทคนิคทำให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ เช่น งานขุดเจาะ การควบคุมเครื่องจักร การดูแลความปลอดภัย
- โอกาสธุรกิจในชุมชนเกิด Supply chain ในท้องถิ่น เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซัพพลายสินค้า อาหารและบริการสนับสนุนต่าง ๆ และใน ภาพรวมประเทศ ก็จะได้ประโยชน์จาก
- ความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้ราคาเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพมากขึ้น
- ลดภาระงบประมาณ หากผลิตใช้ในประเทศได้มากขึ้น รัฐลดภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซได้
- รายได้รัฐ จากค่าภาคหลวง ภาษี และสัมปทานจะเข้าสู่กระทรวงการคลังเพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น
- การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่น และพลังงานไฟฟ้า ทำให้ไทยมีต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้ในระยะยาว
การเปิดให้สำรวจฯ จึงไม่ใช่แค่เรื่องการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซ แต่เป็นการจุดประกายการลงทุนครั้งใหญ่ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของหลายภาคส่วน การสร้างงาน การกระจายรายได้ และการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต