เปิด 9 กลุ่มหุ้น เสี่ยงรับผลกระทบเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา
สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังคงยืดเยื้อ สร้างความสูญเสียหลายชีวิต รวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สิน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” หยิบยกบทวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส ซึ่งได้มีการประเมินความเสี่ยงข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนรายอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
กลุ่มเครื่องดื่ม : คาด CBG ได้รับผลกระทบด้านลบ เนื่องจากมียอดขายเครื่องดื่มชูกำลังจากต่างประเทศหลัก มาจากประเทศกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของยอดขายเครื่องดื่มชูกำลัง และ 21% ของยอดขายทั้งหมด นอกจากนี้ CBG ยังมีแผนเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานในกัมพูชาในรูปแบบ JV ซึ่งตามแผนจะเริ่มผลิตได้ในต้นปี 2569 ส่วน OSP คาดได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากยอดขายในกัมพูชา คิดเป็นเพียง 1-2% ของยอดขายรวม
กลุ่ม รพ. : รพ.ที่อยู่ตามขอบชายแดนไทย-กัมพูชา อาจทำให้ลูกค้าชะลอเข้าใช้บริการบ้างเล็กน้อย สร้าง SENTIMENT เชิงลบต่อ BCH เนื่องจากมี รพ. 1 แห่ง ที่ อรัญประเทศฯ สำหรับ BDMS แม้มี รพ. 2 แห่ง ที่อยู่ในประเทศกัมพูชา แต่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยหรือทำงานในกัมพูชา จึงคาดไม่ได้กระทบอย่างมีนัย ทั้งนี้ 2 รพ. ดังกล่าวคิดเป็น รพ.เพียง 1% ของรายได้ธุรกิจ รพ.ของ BDMS
กลุ่มโรงไฟฟ้า : BGRIM ที่มีโรงไฟฟ้า SOLAR 39MWE คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่ COD ในปัจจุบัน จึงคาดจะไม่มีนัยฯ ต่อกำไรของ BGRIM
กลุ่มพลังงาน : OR มีธุรกิจในประเทศเวียดนามผ่านสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา 186 สถานี (จากทั้งหมด 2761 สถานีในไทยและต่างประเทศ), ร้าน CAFE AMAZON 254 ร้านค้า (จากทั้งหมด 4898 ร้านค้า), และร้านสะดวกซื้อ 71 ร้านค้า (จากทั้งหมด 2421 ร้านค้า) โดยในปี 2567 มีส่วนแบ่ง EBITDA มาจากประเทศกัมพูชาราว 1.2 พันล้านบาท หรือราว 7.0% ของ EBITDA รวมของ OR ปัจจุบัน OR ยืนยันการดำเนินงานเป็นไปตามปกติ และยังไม่ได้รับผลกระทบ จึงยังอยู่ในช่วงของการติดตามสถานการณ์ต่อไป
กลุ่มค้าปลีก : คาดผลกระทบน้อย แม้มี CPALL, CPAXT และ BJC ที่มีการไปเปิดสาขาในกัมพูชา แต่ถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับสาขาทั้งหมด โดย ณ สิ้นปี 2567 CPALL มีสาขา 7-ELEVEN ทั้งหมด 15,367 สาขา ส่วนใหญ่ 99.2% เป็นสาขาในไทย ที่เหลือเป็นสาขาในกัมพูชา 112 สาขา และลาว 10 สาขา ส่วน CPAXT ธุรกิจค้าส่งมีสาขาทั้งหมด 175 แห่ง เป็นสาขาในไทย 165 แห่ง ในกัมพูชาเพียง 3 แห่ง BJC มีสาขา BIGC ทั้งหมด 2,030 สาขา ส่วนใหญ่ 98.7% เป็นสาขาในไทย (2,003 แห่ง) โดยเป็นสาขาในกัมพูชา 25 แห่ง
กลุ่มมีเดีย : ผลจากความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้กัมพูชาออกประกาศระงับการนำเข้าและฉายภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์ทุกแห่งในกัมพูชา มีผลตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 12 มิ.ย.2568 เป็นต้นไป ฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบที่จะมีต่อ MAJOR ไม่มาก
โดย MAJOR มีโรงภาพยนตร์ในกัมพูชา 33 โรง คิดเป็น 3.8% ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมดที่ MAJOR มี 863 โรง ในเชิงรายได้จากธุรกิจในกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้รวม MAJOR เท่านั้น
ปกติโรงภาพยนตร์ในกัมพูชาจะมีสัดส่วนการฉายภาพยนตร์กัมพูชา : อินโดนีเซีย : ไทย : ฮอลิวูด อยู่ที่ 30 : 20 : 20 :20 และเดือน มิ.ย-ก.ค.2568 MAJOR ก็ไม่มีการจัดผังภาพยนตร์ไทยในโปรแกรมฉายที่กัมพูชาอยู่แล้ว
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีการขายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง ไปในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่มีการค้าชายแดนกับไทย โดย SCCC มีบริษัทร่วมทุนในประเทศกัมพูชาคือ CHIPMONG INSEE CEMENT CORPORATION สัดส่วน 40% โดยมีส่วนแบ่งกำไรประมาณปีละ 200-250 ล้านบาท คิดเป็น 5-8% ของกำไรทั้งหมดของ SCCC ขณะที่ SCC มีรายได้จากกัมพูชาประมาณ 5-7% ของรายได้ทั้งหมด
กลุ่มก่อสร้าง : แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในภาคก่อสร้างมีอยู่ประมาณ 1.6 แสนคน ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทุกอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือระดับกลางและแรงงานทั่วไป บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของไทยอย่าง CK และ STECON ส่วนใหญ่จะมีการว่าจ้างแรงงานผ่านบริษัทรับเหมาช่วง (SUBCONTRACTOR) ซึ่งน่าจะมีกลุ่มแรงงานกัมพูชาอยู่ในนั้นด้วย หากขาดแรงงานกลุ่มนี้ก็จะกระทบต่อโครงการก่อสร้างทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน
กลุ่มเกษตรอาหาร : แม้ CPF มีการลงทุนในประเทศกัมพูชา แต่เป็นฐานการผลิตเพื่อขายในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก และคิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 3-4% ของรายได้รวม จึงไม่กระทบอย่างมีนัยฯ ขณะที่บริษัทอื่น เช่น TU, ITC และ GFPT ไม่มีการลงทุนในกัมพูชา จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด