จากพนักงาน Google สู่ผู้ก่อตั้ง Antidotes เครื่องหอมไทยที่ใส่ใจในกลิ่นและแพ็กเกจสุดประณีต
“สำหรับเรา กลิ่นคือสิ่งที่ช่วยให้เรามั่นใจขึ้น รู้สึกดีขึ้น เติมเต็มชีวิตของเรามากขึ้น เราจึงเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า Antidotes ที่แปลว่ายาถอนพิษ ถ้าเปรียบกับเครื่องหอม มันคือสิ่งที่ช่วยให้เราขจัดความเครียดต่างๆ ออกไป ช่วยให้คนรู้สึกเติมเต็มและมั่นใจในการแสดงออก”
ช่วงหนึ่งในการสนทนา มิก–วุฒินันท์ ปฐมภควันต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Antidotes อธิบายความหมายของชื่อแบรนด์ให้เราฟัง
เขาและ ฝน–กัญญารัตน์ อาจชน รวมทั้ง นู่–ทรัพย์กุลธร อุทัยไพศาลวงศ์ พาร์ตเนอร์ผู้หลงใหลในเครื่องหอมยังเลือกใช้สี Seafoam Green หรือสีเขียวโฟมทะเลมาเป็นสีประจำแบรนด์ สีเขียวโฟมทะเลซึ่งเป็นส่วนผสมของสีเขียว ฟ้า และเทา มีความหมายสื่อถึงโชค ความสดชื่น และการเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเสริมความหมายของการเป็นเครื่องหอมที่ใช้แล้วรีเฟรช เติมเต็ม และเสริมความมั่นใจไปอีกชั้น
จากชื่อ จากสี ไหนจะแพ็กเกจจิ้งที่มัดห่ออย่างประณีต หลายคนอาจเข้าใจผิดว่านี่เป็นแบรนด์เครื่องหอมจากต่างประเทศ แต่แท้จริงแล้ว Antidotes คือแบรนด์เครื่องหอมไทยแท้
ที่น่าสนุกก็คือ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ไทย Antidotes ก็ไม่ได้จำกัดกรอบการสร้างสรรค์ว่าจะต้องใช้วัตถุดิบไทย หรือคิดว่าจะขายแค่กลิ่นแบบไทยจ๋าๆ เท่านั้น
ไลน์สินค้าของแบรนด์ยังเต็มไปด้วยกลิ่นสนุกซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสถานที่และวัฒนธรรมมากมาย ดมแล้วรู้สึกถึงความซับซ้อนแต่ไม่ได้เข้าใจยากจนเกินไป มีความเป็น universal
ล็อบบี้โรงแรม สนามกอล์ฟสกอตแลนด์ สวนเซน พวงมาลัย บาร์สปีกอีซี่ คือตัวอย่างของกลิ่นเหล่านั้น
ใครจะเชื่อว่านี่คือแบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นงานเสริมของเพื่อนร่วมงานคนไทยในบริษัทเทคฯ ระดับโลก ที่เจอกันในสิงคโปร์แล้วดันรู้ว่ามีความชอบเหมือนกัน ทำขายออนไลน์เล่นๆ ช่วงโควิด ก่อนจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานและกลับมาตั้งแบรนด์จริงจังที่ประเทศบ้านเกิด
ความกล้าในการทำธุรกิจ แนวคิดแบบ universal scent นี้มาได้ยังไง เราอาจต้องย้อนกลับไปดูกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น
น้ำหอมคือตัวตน
ใครเคยไปทำงานต่างประเทศหลายคนอาจเคยรู้สึกเหมือนกัน คือเมื่อได้ไปอยู่ต่างที่ต่างถิ่น เราต่างโหยหาสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’
มิกก็เช่นกัน หลายปีก่อนเขาย้ายไปทำงานที่ Google สิงคโปร์ อยู่ไปนานวันเข้า เขาก็อยากทำให้ที่อยู่อาศัยเป็นบ้านของตัวเองมากขึ้น สิ่งที่ชายหนุ่มทำคือสร้างบรรยากาศในบ้านด้วยกลิ่น
เขาเชื่อว่า กลิ่นของบ้านสามารถบ่งบอกคาแร็กเตอร์และอารมณ์ในแต่ละวันของเจ้าของบ้านได้
“วันไหนเพื่อนมาเที่ยว เราก็อยากให้เพื่อนรู้ว่าเราชอบกลิ่นแบบไหน ก็เลยเริ่มสะสมน้ำหอมปรับกลิ่นสำหรับบ้านมาเรื่อยๆ และรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น”
ที่ Google สิงคโปร์ มิกได้รู้จักกับฝน เพื่อนร่วมงานคนไทยอีกคนที่ทำงานด้วยกันบ่อยๆ แต่เขาไม่เคยรู้เลยว่าหญิงสาวจะมีแพสชั่นเรื่องน้ำหอมแบบเดียวกัน จนช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ทุกคนต้องเวิร์กฟรอมโฮมกันหมด
“ตอนวิดีโอคอลกันผมเห็นว่าแบ็กกราวด์ของเขาเต็มไปด้วยเครื่องหอม ซึ่งเยอะกว่าที่ผมมีอีก” มิกย้อนวันวาน เรียกเสียงหัวเราะจากวงสนทนา
มากกว่าแพสชั่น
เมื่อรู้ว่ามีแพสชั่นร่วมกัน ทั้งสองคนจึงชวนกันมาทำ side project ผสมน้ำหอมที่อยากได้ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งลงลึกกับมัน จนถึงจุดหนึ่งก็อยากทำแบรนด์
“ตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงธุรกิจหรือเรื่องกำไรขาดทุนเลย โปรเจกต์นี้เป็นการลองทำสิ่งที่ตื่นเต้นและมีแพสชั่นร่วมกัน ความน่าสนใจคือเราชอบอะไรเหมือนกัน แต่มีสกิลที่แตกต่าง” มิกบอกว่าจุดเด่นของฝนคือด้วยความเป็นเด็กอักษรฯ ที่ชอบเรื่องราวและวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก เวลาศึกษาเรื่องอะไรเธอจะค้นคว้าและลงมือทำอย่างจริงจัง ในเรื่องการทำน้ำหอมเช่นกัน ขณะที่มิกเชี่ยวชาญเรื่องการตลาด และผู้ที่เป็นคล้ายจิ๊กซอว์มาต่อเติมภาพให้สมบูรณ์คือนู่ ผู้เชี่ยวชาญในการปั้นแบรนด์และแพ็กเกจจิ้ง
ทว่าการลาออกจากงานประจำอันมั่นคง บอกลาจากองค์กรที่เป็นความฝันของใครหลายคนมาสร้างธุรกิจที่ไม่รู้ว่าปลายทางจะสำเร็จหรือล้มลุกคลุกคลาน ก็นับเป็นความเสี่ยงที่ใช่ว่าทุกคนจะกล้าแบกรับ แล้วอะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจนั้น
“สำหรับผมมี 2 อย่าง อย่างแรกคือถามตัวเองว่าเราตั้งใจจะทำสิ่งนี้จริงๆ หรือเปล่า ผมรู้แล้วว่าทีมมีแพสชั่นเรื่องน้ำหอม ดังนั้นเราจะไม่ทำพาร์ตไทม์กับสิ่งนี้อีกแล้ว อย่างที่สอง คือเรามีความพร้อมที่จะทำสิ่งนี้หรือเปล่า ตอนเราลาออก เราไม่ได้ดีดนิ้วออกเลย แต่เราต้องรู้ว่าเราออกมาแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน และเราจะวางแผนธุรกิจยังไง” มิกตอบ ก่อนที่ฝนจะเสริม
“หลายๆ คนมักจะถามว่าเรามีไอเดียธุรกิจ เราทิ้งงานประจำไปทำตามแพสชั่นเลยดีไหม สำหรับฝน แต่ละคนมีจังหวะเวลาของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน เราทำ Antidotes เป็น side project ควบคู่ไปกับงานประจำมา 2-3 ปี
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ในช่วงเวลาที่เราตั้งไข่ไอเดียธุรกิจ เราไม่สามารถเร่งได้ มันมีหลายๆ อย่างที่ใช้เวลาเป็นต้นทุน มันคือกระบวนการเฝ้ารอ การคิดการทำ R&D เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ถ้าลาออกมาทำเต็มๆ เราอาจจะสติแตกและเลิกไปแล้ว เพราะมันใช้เวลานานมากในการตั้งไข่
“เพราะฉะนั้นต้นทุนที่สำคัญที่สุดของเราไม่ใช่เงิน แต่คือเวลาที่ได้ทดลอง”
กลิ่นที่สนุกและ universal
สิ่งที่เป็นจุดร่วมอีกประการของผู้ก่อตั้งทั้งสามคือพวกเขาเชื่อว่า เครื่องหอมไทยสามารถไปได้ไกลถึงระดับสากล
“ตอนทำงานอยู่สิงคโปร์ ที่นั่นเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก และทุกคนก็ยินดีที่จะลองสิ่งใหม่ เขาจะเปิดรับถ้าสินค้าและบริการต่างๆ มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีจริง” มิกบอก
ถึงตรงนี้ ฝนเสริมว่า “เราอยากนำเสนอแบรนด์ที่มีความเป็น global citizen อยู่ในนั้น เป็นเครื่องหอมแบรนด์ไทยที่กลิ่นไม่ได้ยึดติดกับที่ไหน นำเสนอความเป็นตัวเราที่ภูมิใจในความเป็นไทยแต่ก็มีความเป็นอินเตอร์”
เพราะอย่างนั้น เครื่องหอมของ Antidotes จึงไม่มีการจำกัดกรอบเรื่องที่มาของกลิ่น สังเกตได้จากกลิ่นแต่ละกลิ่นที่จะเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่พวงมาลัย สนามกอล์ฟสกอตแลนด์ ยันล็อบบี้โรงแรม
“หอม มีเอกลักษณ์ และเข้าถึงง่าย นี่เป็นเงื่อนไขในการทำเครื่องหอมของเรา มันต้องมีคาแร็กเตอร์อะไรบางอย่างที่เราดมแล้วต้องรู้สึกได้ แต่ต้องไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ ที่สำคัญคือมันถ่ายทอดประสบการณ์ที่เราโหยหา” ฝนบอก แล้วยกตัวอย่างกลิ่นล็อบบี้โรงแรม (White Sensation) ให้ฟัง กลิ่นนี้เป็นกลิ่นแรกๆ ที่แบรนด์ทำ เป็นกลิ่นที่ขายดีที่สุด ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เธอไปพักผ่อน แล้วอยู่ๆ ก็สงสัยขึ้นมาว่า ‘ทำไมฉันจะตื่นขึ้นมาในโรงแรมทุกวันไม่ได้ล่ะ’
ทุกกลิ่นมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง และไม่ใช่แค่กลิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากการท่องเที่ยวเท่านั้น บางกลิ่นพวกเขาก็หยิบยกองค์ประกอบบางอย่างมาจากวัฒนธรรมที่เคยประสบพบเจอ เช่น พวงมาลัย สวนเซน ป่าเกียวโต หรือวัฒนธรรมชนเผ่า ซึ่งล้วนถูกนำมาเล่าให้น่าสนใจผ่านศาสตร์ของกลิ่น
ซับซ้อนแต่เข้าใจง่าย
ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้ทึกทักตามใจว่าชอบกลิ่นไหน ลูกค้าก็น่าจะชอบด้วย การออกน้ำหอมออกมาได้สักกลิ่นนั้นผ่านการรีเสิร์ชกับคนหลักร้อย และวิเคราะห์ข้อมูลว่ากลิ่นนั้นคือกลิ่นที่ใช่จริงๆ หรือเปล่า
มิกเล่าเกร็ดสนุกให้ฟังว่า ด้วยธรรมชาติของคนไทยที่คุ้นเคยกับดอกไม้ใบหญ้า เราอาจคิดว่ากลิ่นดอกไม้อาจไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น แต่กับคนสิงคโปร์หรือคนชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง พวกเขาโปรดปรานกลิ่นเหล่านี้พิเศษเพราะโหยหาธรรมชาติ
ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนจะตัดสินใจออกกลิ่นอะไร พวกเขาต้องมั่นใจว่ากลิ่นนั้นจะตรงกับคาแร็กเตอร์ของลูกค้า ซึ่งเป็นคนช่างเลือก ใส่ใจรายละเอียด กล้าแสดงตัวตน ชอบความซับซ้อนแต่ไม่ได้เข้าใจยาก เหมือนกับคาแร็กเตอร์ของแบรนด์
“สำหรับเรา กลิ่นคือสิ่งที่ช่วยให้เรามั่นใจขึ้น รู้สึกดีขึ้น เติมเต็มชีวิตของเรามากขึ้น เราจึงเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า Antidotes ที่แปลว่ายาถอนพิษ ถ้าเปรียบกับเครื่องหอม มันคือสิ่งที่ช่วยให้เราขจัดความเครียดต่างๆ ออกไป ช่วยให้คนรู้สึกเติมเต็มและมั่นใจในการแสดงออก” มิกอธิบาย
จุดขายคือประสบการณ์
สินค้าของ Antidotes แบ่งได้ออกเป็น 2 หมวดง่ายๆ คือ Home และ Body
Home คือผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้บรรยากาศในพื้นที่ที่เราอยู่ดีขึ้น ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นบ้าน รถ หรือที่ทำงาน Home Fragrance มีตั้งแต่เทียน ดิฟฟิวเซอร์ และเครื่องหอม ส่วน Body คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย ทั้งน้ำหอมและบอดี้ออยล์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเฉพาะที่ทำให้บอดี้ออยล์มีเนื้อสัมผัสที่พิเศษ
กลิ่นที่ปลอบประโลมใจ จากวัตถุดิบและเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์สินค้าให้มีคุณภาพ เหล่านี้คือการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ดีๆ ที่ลูกค้าจะสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม
“นอกจากกลิ่นที่ได้รับ สัมผัส สี หรือกล่อง ต้องแตกต่าง ตั้งแต่ความนูนบนกล่องที่ถ้าไม่จับเองก็จะไม่รู้สึกเลย ทุกๆ กล่องเรายังผูกโบด้วยมือให้ลูกค้า พนักงานทุกคนจะต้องผ่านการสอบผูกโบในกระบวนการการเทรนนิ่ง นี่คือประสบการณ์ที่เราอยากให้ลูกค้าได้เห็น รู้สึก และสัมผัส ถึงแม้เขาจะซื้อให้ตัวเอง เราก็อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้เปิดของขวัญให้ตัวเองทุกครั้งที่เปิดกล่อง Antidotes” นู่อธิบายถึงความใส่ใจในแพ็กเกจจิ้ง
“สุดท้ายแล้ว การทำแบรนด์มันคือการย้อนกลับไปตอบคำถามว่า เราอยากให้คนรู้สึกกับแบรนด์ของเรายังไง ถ้าเราสามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ มันก็จะสร้างการเชื่อมโยงทางความรู้สึก (emotional connection) ที่เรามีกับลูกค้า ให้เขารู้สึกว่า เขากับแบรนด์ของเรามีตัวตนคล้ายๆ กัน” ฝนเสริม
“เวลาลูกค้าเลือกน้ำหอม เขาไม่ได้เลือกแค่กลิ่นที่เหมาะกับตัวเขา แต่บางทีเขาเลือกเพราะคาแร็กเตอร์แบรนด์และประสบการณ์ที่เหมาะกับเขา”
คู่แข่ง = ข้อดี
เพราะผู้ก่อตั้งอย่างมิกและฝนทำงานการตลาด เชี่ยวชาญการยิงแอดฯ ในช่วงแรกเริ่ม Antidotes จึงเน้นขายทางออนไลน์เป็นหลัก ก่อนที่ผ่านไปไม่นาน นู่ที่ทำงานด้านแบรนดิ้งมาตระหนักได้ว่า การขายเครื่องหอมคือการขายประสบการณ์ เมื่อเห็นโอกาส เขาจึงชวนทีมทุกคนมาสร้างหน้าร้านด้วยกัน
Antidotes ตั้งตัวเองเป็นแบรนด์ระดับสากล ตลาดของลูกค้าที่พวกเขาโฟกัสจึงมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นั่นส่งผลถึงการเลือกโลเคชั่นในการตั้งร้านด้วย
ตอนนี้แบรนด์ของพวกเขามีทั้งหมด 2 สาขา ตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลพระราม 9 โดยมีแผนจะขยับขยายไปสู่อีก 2 สาขาใหม่ในไม่กี่เดือนนี้ นั่นคือสาขาไอคอนสยาม และสาขาสยามดิสคัฟเวอรี
วัดจากโลเคชั่น หลายคนอาจจะพอเดาออกว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชุกชุม แต่สิ่งที่เราสนใจคือ ทำไมพวกเขาจึงเลือกขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่มีคู่แข่งเปิดเคาน์เตอร์แบรนด์กันมากมาย
“เมื่อก่อนเราจะกลัวการแข่งขัน กลัวว่ามาที่นี่จะมีคู่แข่งเยอะ เราจะสู้เขาได้ยังไง แต่พอได้มาอยู่ในห้าง เราค้นพบว่าการอยู่ในที่ที่มีการแข่งขันสูงๆ มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มันดีเสียอีก เพราะหมายถึงเรามาอยู่ในที่ที่มีกลุ่มลูกค้าเดิมอยู่แล้ว เราก็สามารถแสดงตัวให้คนที่เขาสนใจได้เห็นมากขึ้น อีกอย่างที่ค้นพบคือ ลูกค้าน้ำหอมส่วนใหญ่เขาก็ชอบไปเดินในที่ที่มีน้ำหอมให้เลือกหลายๆ แบรนด์ ดังนั้นเราต้องเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีการแข่งขันสูงๆ เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัว แต่มันคือโอกาสที่ทำให้เราได้นำเสนอตัวเอง” ฝนตอบ
“ที่ที่มีการแข่งขันเยอะไม่ใช่ competition แต่เราอยากให้มองว่าเป็น destination หมายถึงว่าคุณกำลังอยู่ในจุดหมายของคนที่ต้องการสิ่งนี้”
น้ำหอมในดวงใจ
13,000 ล้านบาท คือตัวเลขประมาณขนาดของตลาดเครื่องหอมเมืองไทยในปี 2025–สถิตินี้ที่มิกบอก ทำให้เรารู้ว่าตลาดนี้นั้นใหญ่กว่าที่เราประเมินไว้
“ตลาดนี้เป็นตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นทุกๆ ปี ปัจจัยมี 2 อย่างคือเด็กเจนฯ Z โตขึ้น และทุกคนอยากแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง น้ำหอมก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือของเขา อีกปัจจัยคือตอนนี้คนต่างชาติเริ่มมองเห็นคุณค่าวัตถุดิบต่างๆ ของไทย ดังนั้นการซื้อน้ำหอมที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบเหล่านี้มันก็ช่วยให้ตลาดนี้เติบโตขึ้น” ชายหนุ่มเล่า
“ถ้าให้เสริมเรื่องเทรนด์ ฝนคิดว่าตอนนี้ตลาดน้ำหอมเริ่มเติบโตไปสู่ความเฉพาะกลุ่ม (niche) มากขึ้น จากแต่ก่อนแบรนด์ที่เรารู้จักก็จะมีแต่แบรนด์ใหญ่ๆ แต่ตอนนี้เราเห็นการเติบโตของ Le Labo หรือ MFKกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งก็มาจากการที่ผู้บริโภคเปิดรับกลิ่นใหม่และหากลิ่นที่แสดงตัวตน นอกจากนี้ น้ำหอมยังเข้าไปสู่การเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เคยได้ยินไหมว่ามีคนทำน้ำหอมเพื่อฉีดก่อนนอน หรือแบรนด์ใหญ่ๆ ก็ออกน้ำหอมสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เทรนด์อีกอย่างที่มองเห็นคือน้ำหอมกลายเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของแบรนด์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ห้าง หรือแบรนด์เสื้อผ้าก็ต้องมีน้ำหอมกลิ่นของตัวเอง เพราะกลิ่นคือส่วนหนึ่งในการแสดงตัวตน เราจะได้เห็นการใช้กลิ่นในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น” ฝนสมทบ
ในอนาคต ทีม Antidotes ยังอยากขยายอาณาจักรของแบรนด์ให้มีสินค้าไลฟ์สไตล์เยอะขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบอดี้ออยล์ที่แตกไลน์ไปสู่ความเป็นสินค้าสกินแคร์แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นน้ำหอม
“เราอยากเติบโตเป็น top-of-mind ของแบรนด์ไทยเวลาเรานึกถึงเครื่องหอม” ฝนทิ้งท้ายด้วยแววตาเป็นประกาย
3 สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของ 3 ผู้ก่อตั้ง Antidotes
• นู่–ทรัพย์กุลธร อุทัยไพศาลวงศ์ : storytelling
“storytelling อาจเป็นคำที่ได้ยินบ่อย แต่เราจะสังเกตเห็นได้ว่าท่ามกลางแบรนด์ยุคนี้ที่ทำมาร์เก็ตติ้งเหมือนกัน แบรนด์ที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่ทำ storytelling อย่างลงลึกจริงๆ เพราะฉะนั้น การหาเรื่องราวและตัวตนจึงเป็นหนึ่งในเส้นทางที่สำคัญของการสร้างแบรนด์”
• มิก–วุฒินันท์ ปฐมภควันต์ : คุณภาพและทีม
“เราอยากได้ลูกค้าที่ใช้สินค้าของเราแล้วชอบจริงๆ รู้สึกว่าสินค้าของเรามีคุณค่ากับเขาจริงๆ นอกเหนือจากนั้นคือทีม ถ้าทีมแต่ละคนมีจุดโฟกัสที่ไม่เหมือนกัน มันจะทำให้แบรนด์ถูกมองรอบด้านมากขึ้น เพราะเราใส่ใจในทุกมุมของแบรนด์”
• ฝน–กัญญารัตน์ อาจชน : สินค้าและความรู้เรื่องบัญชี
“การตลาดไม่ว่าจะดีแค่ไหน มันก็จะพาคนเข้ามาหาเราได้ครั้งเดียว แต่สินค้าคือสิ่งที่ทำให้คนกลับมา คือสิ่งที่เป็น marketing tool ที่ดีที่สุด อีกอย่างที่สำคัญคือความรู้ทางด้านการจัดการบัญชี เพราะหลายๆ อย่างในธุรกิจ สุดท้ายมันลงไปสู่การจัดการระบบ การบริหารบัญชี และการจัดการการเงิน มันจะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนได้ในระยะยาว มันคือกระดูกสันหลังของบริษัทที่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จไม่ค่อยพูดถึง”