GISTDA เดินหน้าพัฒนากำลังคนอวกาศ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศอาเซียน เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ ดิจิทัล
GISTDA เดินหน้าพัฒนากำลังคนอวกาศ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศอาเซียน เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ ดิจิทัล และระบบเศรษฐกิจใหม่
4 กรกฎาคม 2568 GISTDA จัดประชุมระดมความคิด “ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศสำหรับภูมิภาคอาเซียน” โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA, ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.จิตติ มังคละศิร รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษากว่า 50 หน่วยงานเข้าร่วม ณ ห้องประชุมพระอินทร์ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
.
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศของอาเซียน (Thailand as a Gateway to ASEAN) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ (Upskilling) และการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling) โดยเฉพาะในสาขาอาชีพแห่งอนาคต เช่น วิศวกรรมดาวเทียม การวิเคราะห์ข้อมูลจากอวกาศ ระบบ GNSS การสื่อสารดาวเทียม และ AI for Space ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ การบิน โลจิสติกส์อัจฉริยะ ดิจิทัลเทคโนโลยี และความมั่นคงเชิงพื้นที่
.
หนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุม คือ เร่งผลักดันให้หลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศในระดับอุดมศึกษา ดำเนินการอยู่บนฐาน “มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ” ที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งให้ผู้เรียนไม่เพียงแต่มีความรู้เชิงวิชาการ หากแต่สามารถสอบผ่านมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และใช้ได้จริงในตลาดโลก ซึ่ง GISTDA อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เช่น สคช., สวทช., บพค., อว. และองค์กรวิชาชีพนานาชาติ เพื่อบูรณาการแนวทางสู่ระบบรับรองที่เข้มแข็งและมีความยืดหยุ่น
นอกจากนี้ แผนการพัฒนาบุคลากรยังครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” อย่างเป็นระบบ โดยต้นน้ำมุ่งสร้างแรงบันดาลใจและทักษะพื้นฐานด้าน STEM แก่เยาวชน กลางน้ำคือการสนับสนุนหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและปลายน้ำคือการเสริมทักษะและฝึกอบรมแก่แรงงานเพื่อเข้าสู่ภาคผลิตจริงในอุตสาหกรรมอวกาศรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
.
ในเวทีนี้ GISTDA ได้ขับเคลื่อนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่เปิดสอนหรือกำลังพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในด้านการพัฒนาเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย บูรณาการข้ามศาสตร์ และสนับสนุนการเรียนรู้แบบสหกิจศึกษาหรือฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมจริง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปเป็นบุคลากรคุณภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง เวทีประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง
ทั้งในด้านการสำรวจหลักสูตรอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีอวกาศระดับโลกและภูมิภาค ตลอดจนการระบุ “ช่องว่าง” ระหว่างความต้องการของอุตสาหกรรมกับระบบผลิตบุคลากรของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน และสามารถติดตามความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนในครั้งนี้ สอดคล้องกับร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมิติสังคมและกำลังคน ที่กำหนดให้ “การพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศอย่างเป็นระบบ” เป็นกลยุทธ์หลักในการเตรียมประเทศให้สามารถแข่งขันและสร้างโอกาสในเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ความร่วมมือกับเครือข่ายภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และองค์กรวิจัย จะเป็นกลไกสำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
.
GISTDA พร้อมทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือระดับประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับหลักสูตรและระบบรับรองวิชาชีพให้เท่าทันมาตรฐานสากล และตอบโจทย์ตลาดแรงงานแห่งอนาคตในระบบเศรษฐกิจอวกาศ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว