ไต่สวนนัด2 คดีทักษิณ ชั้น 14 ศาลเบิกตัว 5 พยานกลุ่มหมอ-พยาบาล รพ.ราชทัณฑ์ สอบปมส่งตัวรักษาฉุกเฉิน
วันนี้ (4 กรกฎาคม) เวลา 09.00 น. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้นัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 ที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังเดินทางกลับประเทศไทยในรอบ 15 ปี และเข้ารับทราบ 3 หมายจับ
โดยทนายจำเลย มาศาล ส่วนจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลไม่มาฟังการพิจารณา ศาลไต่สวนพยานได้ 5 ปาก
พยานคนที่ 1 : แพทย์หญิง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายและออกใบส่งตัวของจำเลยเพื่อให้เดินทางไปรักษาตัวนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันและเวลาราชการ
ทั้งนี้แพทย์หญิงรายดังกล่าวได้รับมอบหมายให้ตรวจผู้ต้องขังรับใหม่ ในการซักประวัติอาการป่วย จำเลยแจ้งต่อแพทย์ว่ามีอาการเหนื่อยซึ่งคาดว่าเหนื่อยจากการเดินขึ้นบันได และอ่อนเพลีย แพทย์หญิงได้ทำการตรวจสุขภาพโดยพื้นฐานของร่างกาย
นอกจากนี้ยังรับเอกสารประวัติการรักษาจาก 2 ประเทศ ซึ่งรายงานว่าจำเลยมีอาการป่วย 10 โรค โดยแพทย์หญิงได้บันทึกประวัติการรักษาจากต่างประเทศร่วมกับการตรวจสุขภาพจัดทำเป็นประวัติเวชระเบียนเพื่อเป็นข้อมูลของจำเลย
ทั้งนี้การตรวจสุขภาพเกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยเดินทางมาที่ศาลฎีกา ในภาพรวมนอกจากการเหนื่อยหอบ ไม่มีโรคประจำตัวกำเริบ
กรณีใบส่งตัวที่แพทย์หญิงได้จัดทำขึ้นหลังการตรวจสุขภาพและบันทึกเวชระเบียนของจำเลย เป็นการจัดทำตามปกติเนื่องจากจำเลยมีโรคประจำตัวและอยู่ในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ) ซึ่งบางโรคจากข้อมูล การรักษาเกินกว่าศักยภาพที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะสามารถรักษาได้ จึงต้องมีการทำใบส่งตัวเพื่อให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตเรือนจำเดินทางไปรักษาตัวด้านนอกในวันและเวลาราชการ
ในส่วนนี้แพทย์หญิงได้มีการนำเสนอเอกสารหลักฐานในการทำใบส่งตัวล่วงหน้าที่เคยทำมาก่อนต่อศาลและศาลอนุญาตรับหลักฐานไว้
ส่วนกรณีคืนวันที่มีการส่งตัวจำเลยออกนอกเรือนจำฯ เป็นการที่พยาบาลเวรได้ติดต่อเพื่อขออนุญาตแพทย์หญิงใช้ใบส่งตัวที่ได้เตรียมไว้เพื่อส่งตัวจำเลยออกนอกเรือนจำเนื่องจากขณะนั้นพยาบาลรายงานว่าจำเลยมีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูง และทางหมอเวรมีความเห็นว่าไม่ควรสังเกตอาการเนื่องจากมีภาวะเสี่ยงต่อหนึ่งในโรคประจำตัว
อาการดังกล่าวทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์หญิงจึงอนุญาตให้ใช้ใบส่งตัวแต่ไม่ได้มีการแนะนำการรักษาตัวและไม่ได้ระบุโรงพยาบาลที่จะส่งตัว
ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
พยานคนที่ 2 : แพทย์เวรเข้าเวรในช่วง 16.30 น. ถึง 08.30 น. ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้การสรุปว่าได้รับการติดต่อจากพยาบาลเวรในสถานพยาบาลเรือนจำ ว่าจำเลยมีอาการความดันสูง อ่อนเพลีย อ่อนแรง อีกทั้งพยาบาลได้รายงานประวัติการรักษาเก่า
จึงวินิจฉัยว่าจำเลยอาจเกิดภาวะฉุกเฉินจากโรคประจำตัว ซึ่งได้แนะนำว่าไม่ควรสังเกตอาการและให้ส่งตัว เนื่องจากเล็งเห็นว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการรักษาทั้งทางอุปกรณ์ และยา
พยานคนที่ 3 : พยาบาลชายในสถานพยาบาลของเรือนจำซึ่งปัจจุบันย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย วันดังกล่าวมีการทำงานแบบ 24 ชั่วโมง หลังจากจำเลยได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตนเองได้รับมอบหมาย ให้ดูแลจำเลยทุก 4 ชั่วโมงคือ 12.00 น., 16.00 น., 18.00 น. และ 22.00 น. ทั้งนี้จำเลยอาการป่วยกำเริบหลังจากช่วง 22.00 น.
ในส่วนของอาการที่ทำให้ตัดสินใจติดต่อแพทย์หญิงเพื่อทำการส่งตัวประกอบด้วย ความดันสูง และแน่นหน้าอกประกอบกับจำเลยมีโรคประจำตัวเก่าจึงพิจารณาว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินซึ่งขณะนั้นจำเลยไม่มียารักษาอาการป่วยติดตัวมา
พยาบาลระบุว่าได้มีการปรึกษาแพทย์เวรและแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพและเริ่มประสานการส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจซึ่งขั้นตอนระหว่างการย้ายตัวจำเลยออกจากเรือนจำเพื่อไปโรงพยาบาลตำรวจใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงขณะนั้นการรักษา ที่ทำในสถานพยาบาลมีการให้ออกซิเจน
พยาบาลชายรายนี้เป็นผู้ที่ไปส่งตัวจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจจากนั้นเป็นผู้ติดตามอาการป่วยทุก 30 วัน 60 วัน 90 วัน และ 120 วันโดยเป็นการติดตามจากเอกสารของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจส่งผ่านผู้คุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ในการส่งตัวพยาบาลยืนยันว่าประเมินจากความเสี่ยงของโรคประจำตัวที่กำเริบและศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ไม่มียาในการรักษารักษาส่วนอาการความดันสูง สถานพยาบาลมียาแต่ไม่สามารถจ่ายได้เนื่องจากต้องผ่านการอนุญาตจากแพทย์
ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานประมาณ 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ในส่วนพยานรายที่ 4 และพยานรายที่ 5 เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งในวันดังกล่าวพยาบาลทั้งสองรายมีหน้าที่ช่วยตรวจสุขภาพของจำเลยแต่ได้รับคำสั่งให้รอที่หน้าห้องตรวจและเข้าไปช่วยได้ต่อเมื่อแพทย์มีการร้องขอซึ่งในวันดังกล่าวแพทย์ไม่มีการร้องขอจึงไม่ได้ทราบรายละเอียดต่างๆ ของอาการป่วยจำเลย
โดยในครั้งนี้ศาลมีข้อกำหนดในการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชน เนื่องจากนัดไต่สวนครั้งก่อนหน้านี้มีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานซึ่งศาลไต่สวนเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะคำต่อคำผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งอาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความในลำดับถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้ และอาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
รวมถึงอาจมีการนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดีจนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้ ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ศาลให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีงดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน
ในตอนท้ายศาลได้ระบุว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆมีการนำส่งเอกสารพยานหลักฐานได้แก่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์,แพทยสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น
สำหรับการนัดไต่สวนหลังจากนี้
- 8 กรกฎาคม: กลุ่มเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ไปควบคุมทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ
- 15 กรกฎาคม: กลุ่มผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ได้แก่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และอดีตผู้บัญชาการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
- 18 กรกฎาคม: กลุ่มแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ
- 25 กรกฎาคม: แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคประจำตัวของจำเลย