“จ่ายสด-ลดเครดิต” ธุรกิจตั้งการ์ด ชี้สภาพคล่องฝืดจัด เสี่ยงเบี้ยวหนี้
ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบการค้าในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับมหภาคจนถึงรากหญ้า ลามเข้าสู่กลไกสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในระบบการค้าไทยอย่าง “เครดิตเทอม” หรือการให้เงื่อนไขชำระเงินล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
ผู้ประกอบการในหลายภาคส่วนเริ่มส่งสัญญาณความกังวลและปรับกลยุทธ์อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ส่งออก ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งต่างประเมินความเสี่ยงของการเบี้ยวหนี้หรือชำระเงินล่าช้า และเริ่มขยับเงื่อนไขเครดิตให้เข้มงวดขึ้น ทั้งการลดระยะเวลาชำระเงิน วางเงินมัดจำล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งยกเลิกการให้เครดิตกับลูกค้าใหม่
“ข้าว”ลดปริมาณขาย ลดเสี่ยงเบี้ยวเงิน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในอุตสาหกรรมการค้าข้าว การให้เครดิตเทอมหรือการให้ระยะเวลาผ่อนชำระเงินหลังส่งมอบสินค้า เป็นเรื่องปกติที่ใช้แทนการเปิดแอล/ซี (L/C) ซึ่งต้องชำระเงินล่วงหน้า หรือชำระทันทีเมื่อสินค้าขึ้นเรือ ปัจจุบันผู้ส่งออกส่วนใหญ่แข่งขันกันไม่เพียงแต่เรื่องราคา แต่รวมถึงเงื่อนไขเครดิตเทอมด้วย เช่น ให้ระยะเวลาชำระเงิน 45 วัน บางรายให้ถึง 60 หรือแม้แต่ 90 วัน ทั้งนี้เงื่อนไขเครดิตจะพิจารณาตามความน่าเชื่อถือของลูกค้าแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน ทั้งจากจีน สหรัฐฯ และประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ ผู้ส่งออกเริ่มมีความกังวลว่าจะมีลูกค้าบางรายที่ไม่สามารถชำระเงินตามเครดิตเทอมได้ เช่น บางรายครบกำหนด 30 หรือ 60 วันแล้วก็ยังไม่จ่าย หรืออาจขอทยอยจ่ายบางส่วน ทำให้ผู้ส่งออกเริ่ม “ตั้งการ์ด” มากขึ้น โดยการรับออร์เดอร์ในปริมาณที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงจากหนี้สูญที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งกำไรและสภาพคล่อง
“อาหาร”ลูกค้าใหม่จ่ายสด
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การให้เครดิตเทอมแก่ลูกค้าในธุรกิจอาหาร ปัจจุบันหากเป็นลูกค้าใหม่ เดี๋ยวนี้ไม่ให้เครดิตแล้ว เพราะกังวลว่าขายของแล้วไม่ได้เงินซึ่งจะหนักกว่าที่เราขายไม่ได้ ส่วนลูกค้าเก่าที่ค้ากันมานาน 20-30 ปียังให้เครดิตต่อ 30-60 วัน ซึ่งก็ต้องดูเครดิตลูกค้าด้วยว่า ที่ผ่านมาเขาชำระอย่างไร มีการติดขัดหรือไม่ ถ้าไม่ติดขัดอะไรก็ไปต่อได้
หรือลูกค้าอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่ากลาง ๆ ใช้วิธีจ่ายเงินก่อน พอมีใบสั่งซื้อ (PO) ให้จ่ายมาก่อน 30% เพื่อโรงงานได้เริ่มการผลิตได้ อย่างน้อยเรื่องแพ็กเกจจิ้ง เรื่องวัตถุดิบและอื่นๆ ก็มีการผ่อนเบาได้ว่าผลิตแล้วมีคนเอาสินค้า โดยเฉพาะสินค้า Custom-made หรือสินค้าสั่งผลิตพิเศษไม่เหมือนคนอื่น หรือสินค้าที่มีความแตกต่าง จะเก็บมัดจำสินค้า 100% เพราะหากผลิตแล้วลูกค้าไม่รับของ สินค้าก็จะขายให้คนอื่นไม่ได้
เก็บเงินสด ลดเสี่ยง ลดหนี้
ด้านนายสรเทพ โรจน์พจนารัช เจ้าของร้านอาหารในเครือสตีฟ คาเฟ่ และประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า ร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ดส่วนใหญ่จะซื้อของสดจากตลาดในตอนเช้าตรู่และต้องจ่ายเงินสดทันที ซึ่งเป็นวิธีซื้อ-ขายแบบไม่ใชเครดิต ส่วนร้านอาหารขนาดกลาง (SMEs) จะมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 ประเภท
คือของที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต (ซึ่งไม่มีเครดิต) และของสดที่สามารถขอเครดิตเทอมได้ โดยจากการสอบถามในชมรมธุรกิจร้านอาหาร บางแห่งปัจจุบันซัพพลายเออร์ของสินค้าสดให้เครดิตเทอมยาวขึ้นจาก 30-45 วัน เป็น 60 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บกระแสเงินสดไว้
ในเรื่องของเครดิตเทอม ร้านอาหารในระดับนี้มักจะขอขยายเครดิตเทอมออกไปเพื่อเก็บกระแสเงินสด โดยบางร้านขยายจาก 30 วันเป็น 40 วัน หรือจาก 45 วันเป็น 60 วัน โดยการขยายเครดิตเทอมนี้ช่วยให้ร้านสามารถประคองกระแสเงินสดในช่วงที่ยอดขายลดลง 40% จากผลกระทบเศรษฐกิจ
ด้านนายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด กล่าวว่า ในระบบแฟรนไชส์จะต้องเก็บเงินก่อนการเริ่มงาน ทั้งเงินค่าสินค้าและการก่อสร้างก่อนดำเนินการ เช่น ร้านอีซี่ส์ จะเก็บเงินสด 100% ตั้งแต่ก่อนการลงมือทำ เช่น หากเป็นคีออสที่มูลค่าน้อยๆ จะเก็บเงิน 100% แต่หากเป็นช้อปที่มูลค่าสูงเป็นหลักล้าน อาจแบ่งการเก็บเงินเป็น 2 หรือ 3 งวด อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี บางรายอาจขอขยายระยะเวลาเครดิตเทอม แต่ทางบริษัทยังคงใช้ระบบเดิมในการให้เครดิต โดยเน้นที่การชำระเงินสดก่อนและตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของลูกค้าให้ชัดเจนก่อนทุกครั้ง
อสังหาฯอ่วม ยี่ปั๊วเล็งลดเครดิตเทอม
นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ริชี่เพลช 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY ฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย ประเมินว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กประเภทธุรกิจเอสเอ็มอี สายป่านสั้น สถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ หากซื้อวัสดุอุปกรณ์ และมีการผิดนัดชำระ
ตัวแทนจำหน่ายหรือเจ้าของธุรกิจจะค่อนข้างเข้มงวดและอาจถูกปรับเวลาลงเช่นเคยให้เครดิต 90 วันอาจเหลือ 30 วัน มัดจำมากขึ้น เป็นต้น หรือตัวแทนจำหน่ายอาจไม่ไว้วางใจ แม้ว่าเครดิตดี อาจจะเข้มงวดไว้ก่อน โดยปรับลดเวลาให้สั้นลง เพื่อตรวจดูสุขภาพการเงิน แต่หาก มีความตรงต่อเวลาไม่ผิดนัดชำระก็จะกลับไปใช้สูตรเดิมที่ 90 วัน
“การสั่งจ่ายสินค้า โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง กระเบื้อง กระจก ฯลฯ มีหลายรูปแบบ ทั้งเงินสด การวางมัดจำ เพื่อผลิตที่เหลือจ่ายตามช่วงงานวันเวลาที่กำหนด แต่หากรายใดมีสภาพคล่องลดลง เคยให้เครดิต 1-2 เดือนอาจลดลงเหลือเพียง 1 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก ส่วนบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มักสั่งสินค้ากับผู้ผลิตรายเดิม ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ให้เสียเครดิต ที่สำคัญหากมองว่าตลาดไม่ดีส่วนใหญ่จะชะลอโครงการออกไป”
เช่นเดียวกับ นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้รับผลกระทบจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ มีผลต่อสภาพคล่อง ดังนั้นการทำงานภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุน รวมถึงค้ำประกันค่าใช้จ่ายล่วงหน้าให้ก่อน โดยเฉพาะผู้รับเหมารายเล็กหรือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่เช่นนั้นอาจล้มหายตายจากและผลที่ตามมาภาครัฐได้รับความเสียหายจากความล่าช้าของโครงการ
กลุ่มสมาร์ทโฟน หั่นเหลือ 7 วัน
นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวว่า เจมาร์ท มีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ ให้กับร้านค้ามือถือรายย่อย หรือลูกตู้ ผ่านเจมาร์ท ดิสทริบิวชัน โดยที่ผ่านมามีการติดตาม หรือ มอนิเตอร์เรื่องเครดิทเทอมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้นปีที่ผ่านมามีการทบทวนเวลาในการให้เครดิตเทอมแล้ว โดยมีระยะเวลาไม่เท่ากันแล้วแต่ประเภทสินค้าและประวัติของลูกค้า โดยมีตั้งแต่ 7 วัน 14 วัน จากเดิมเคยให้นานสุด 30 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาสั้น (short term) เนื่องจากลักษณะของสินค้าไอทีที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว
ด้านนายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการทำตลาดของบราเดอร์ นั้นขายผ่านดิสบิวเตอร์ 2 ราย คือ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS และ บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นดิสบิวเตอร์รายใหญ่ของไทย โดยให้เครดิตเทอม 30 วัน ซึ่งถือว่าไม่เครดิตเทอม ที่ไม่ยาว และสอดคล้องกับสต็อกสินค้าที่ให้กับดิสบิวเตอร์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีแผนลดระยะเวลาการให้เครดิตกับลูกค้า โดยลูก
โรงงาน-โรงแรม เครดิตเทอมคงเดิม
นายอัครวิทย์ สุกใส นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่าแฟคตอริ่ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สัญญาเครดิตการค้าหรือเทอมการชำระเงินปัจจุบัน ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนใหญ่การรับซื้อลูกหนี้การค้ายังชำระได้ตามปกติตั้งแต่ 60-180 วัน ตอนนี้เฉลี่ยไม่เกิน 90 วัน โดยยังไม่มีปัญหาเครดิตเทอม แต่การใช้วงเงินไม่แน่นอน คือบางเดือนมียอดใช้วงเงินมาก/น้อย อย่างไรก็ตามยังเห็นสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังไม่มีนัยสำคัญ
“มองว่าช่วงสุญญากาศทางการเมือง เป็นสภาวะที่อาจจะสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุน โดยเฉพาะความต่อเนื่องนโยบายระยะกลางหรือระยะยาวหรือจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อมูลค่าการลงทุนหรือยอดการผลิต หากไม่มีความชัดเจนเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือนโยบายของภาครัฐอาจจะส่งผลระยะยาวทั้งเรื่องออร์เดอร์/ปริมาณของการผลิตอาจชะลอออกไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด รวมถึงเครดิตเทอมปัจจุบันยังอยู่ในระดับปกติเฉลี่ย 90 วัน”
เช่นเดียวกับนายเทียนประสิทธิ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ปกติเครดิตเทอม ของธุรกิจโรงแรมจะอยู่ที่ 1-3 เดือน ซึ่งก็แล้วแต่โรงแรม ซึ่งในขณะนี้แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่โรงแรม ก็คงไม่ได้มีการเลื่อนการจ่ายเงิน เพราะคงไม่อยากมีใครเสียเครดิต ยกเว้นว่าโรงแรมเล็กๆที่อาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ซึ่ง น่าจะเป็นโรงแรมในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซัน ที่ล่าสุดมีต้นทุนสูงขึ้น จากกรณีรัฐบาลสั่งให้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 500 บาท
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการในการช่วยเหลือธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง คือ ในช่วงนี้ผู้ประกอบการต้องจ่ายภาษีที่ดิน จึงอยากให้ทางรัฐบาลออกมาตรการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเลื่อนจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยออกไปก่อน 3-4 เดือน
เพ็ทช้อป จำกัดเครดิต-วงเงิน
ด้านผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง อาหารสัตว์ อุปกรณ์ของเล่นของสัตว์เลี้ยงรายหนึ่ง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ซึ่งวันนี้มีหลายร้านที่ต้องปิดกิจการแบบถาวร ทำให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์ สแน็ค ของเล่นสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบไปด้วย
ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับเครดิตการค้ากับร้านค้า เช่น หากเป็นร้านใหญ่ออร์เดอร์ต่อเนื่อง ปรับลดเครดิตเหลือ 30 วัน จากเดิม 45-60 วัน และบางร้านจะจำกัดวงเงินการทำธุรกิจตั้งแต่ 1-3 ล้านบาทด้วย ส่วนร้านค้าที่สั่งออร์เดอร์ไม่ต่อเนื่อง หรือมีความเสี่ยงว่าจะปิดกิจการ จะซื้อ-ขายเป็นเงินสดเท่านั้น จากเดิมที่เคยให้เครดิต 30 วัน