เคล็ดลับยานยนต์ 5 สิ่งที่ต้องระวังกับการโอนลอย มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
เคล็ดลับยานยนต์ 5 สิ่งที่ต้องระวังกับการโอนลอย มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
การโอนลอยรถยนต์ คืออะไร?
การโอนลอย คือ การที่เจ้าของรถลงนามในเอกสารการโอนและใบมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อที่กรมการขนส่งทางบก โดยทั่วไปจะมีเพียงลายเซ็นของผู้ขายในแบบคำขอโอน แต่ยังไม่มีการกรอกชื่อผู้รับโอน หรือมีการกรอกแล้วแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการที่กรมขนส่ง ทำให้ชื่อในเล่มทะเบียนรถยังคงเป็นชื่อเจ้าของเดิม
การโอนลอยรถยนต์ผิดกฎหมายไหม?
แม้การโอนลอยรถยนต์จะไม่ผิดกฎหมายโดยตรง แต่กรมการขนส่งทางบกไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะเจ้าของเดิมที่มีชื่อในเล่มทะเบียน ซึ่งยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้รถ ตามกฎหมายถือว่าการซื้อขายจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
ทำไมการโอนลอยรถยนต์ถึงได้รับความนิยม
การโอนลอยรถยนต์ได้รับความนิยมเพราะความสะดวกรวดเร็วในการซื้อขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ซื้อขายผ่านคนกลางอย่างเต็นท์รถมือสอง เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปดำเนินการที่กรมขนส่งหลายรอบ ผู้ขายได้รับเงินทันที และไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำเรื่องด้วยตัวเอง อีกทั้งคนกลางไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการโอนหลายครั้ง
5 สิ่งที่คุณต้องระวังในการโอนลอยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
1. ภาระความรับผิดชอบยังตกอยู่กับเจ้าของเดิม
ตราบใดที่ยังไม่มีการโอนเสร็จสิ้นตามกฎหมาย ชื่อในเล่มทะเบียนรถก็ยังคงเป็นชื่อของผู้ขายอยู่ หากผู้ซื้อนำรถไปก่อเหตุหรือกระทำความผิด เจ้าของรถตามทะเบียนจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบสั่งจราจรและค่าปรับ ซึ่งอาจต้องเสียเวลาไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ การก่ออาชญากรรม เช่น ชนแล้วหนี ขนยาเสพติด หรือปล้นจี้ ตำรวจจะติดตามตัวจากข้อมูลเจ้าของรถตามทะเบียน ไม่ยอมต่อภาษีประจำปี เจ้าของรถเดิมก็ยังต้องรับผิดชอบค่าปรับที่เกิดขึ้น
2. เสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงสำหรับผู้ซื้อ
ทางด้านผู้ซื้อ การใช้วิธีโอนลอยก็มีความเสี่ยง ถ้าไม่ได้ตรวจสอบประวัติรถอย่างละเอียดก่อนการโอน เช่น รถถูกขโมยมา รถดัดแปลง หรือนำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง เช่น
ผู้ขายบางรายอาจใช้เอกสารปลอมในการทำธุรกรรม ทำให้ไม่สามารถโอนรถได้รถติดไฟแนนซ์ที่ผู้ขายยังผ่อนไม่หมด คุณอาจถูกยึดรถคืนโอนไม่ได้เนื่องจากรถมีปัญหา เช่น เลขเครื่อง-เลขตัวถังไม่ตรง นำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง
3. เอกสารไม่ครบถ้วนหรือกรอกข้อมูลไม่สมบูรณ์
แม้การโอนลอยจะสะดวกทั้งสองฝ่าย แต่หากเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถโอนได้ โดยเฉพาะเอกสารสำคัญ เช่น "แบบคำขอโอนและรับโอน" รวมถึง "หนังสือมอบอำนาจ" ต้องมีลายเซ็นครบถ้วน เล่มทะเบียนต้องมีลายเซ็นเจ้าของรถ หากขาดไปหรือผิดพลาดก็ไม่สามารถโอนได้ และต้องเสียเวลาตามหาผู้ขายเพื่อแก้ไขเอกสาร
4. มีปัญหากับการต่อทะเบียน ต่อ พ.ร.บ. และอื่น ๆ
หากตกลงซื้อ-ขายด้วยการโอนลอย ถ้าผู้ซื้อซื้อไปแล้วไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์และไม่ต่อทะเบียน ตามกฎหมายถือว่าผู้ที่ยังมีชื่อในเล่มทะเบียนจะต้องรับผิดชอบ แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งผู้ซื้อไม่โอน ไม่ต่อทะเบียนจนทะเบียนขาดเกินกำหนด 3 ปี เช่น กรณีรถพังแล้วไม่ซ่อม เลิกใช้งาน ทางกรมการขนส่งทางบกจะแจ้งให้เจ้าของรถคืนทะเบียนพร้อมชำระภาษีรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด หรือในทางกลับกัน ถ้าผู้ซื้อปล่อยทะเบียนขาดเกิน 3 ปี และติดต่อเจ้าของเดิมไม่ได้ ก็ไม่สามารถจดทะเบียนใหม่ได้เช่นกัน
5. หมดอายุการโอนกรรมสิทธิ์
ตามกฎหมายการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการซื้อ-ขาย หากเกินกำหนดจะมีการปรับ แต่ในกรณีการโอนลอยส่วนมากมักมีการเซ็นเอกสารไว้ก่อนโดยยังไม่ได้กรอกชื่อผู้รับโอน แต่หากบัตรประชาชนผู้ขายหมดอายุจะทำให้ผู้ซื้อต้องกลับไปตามหาผู้ขายเพื่อขอเอกสารใหม่อีกครั้ง
แม้การโอนลอยรถยนต์จะสะดวกและรวดเร็ว แต่มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะสำหรับผู้ขาย ดังนั้น วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อยที่กรมการขนส่งทางบก แม้จะเสียเวลาและมีขั้นตอนมากกว่า แต่จะช่วยป้องกันปัญหาและความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากจำเป็นต้องทำการโอนลอยรถยนต์ ควรทำกับคนที่ไว้ใจได้และมีการทำสัญญาซื้อขายที่รัดกุม เพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิหากเกิดปัญหาขึ้น