ม.หอการค้าไทย เปิด ‘ไทยโมเดล’ แก้เกมสงครามภาษีสหรัฐ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอ "ไทยโมเดล" แก้เกมสงครามภาษี ด้วยการเปิดตลาดเพิ่มในสินค้าที่แข่งขันได้แลกลดภาษี ทีมเจรจาของไทยต้องพยายามลดภาษีจากระดับ 36% ให้ได้ภายในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายหากเจออัตราภาษีที่สูงกว่าหลายประเทศในเอเชียมาก ผลกระทบของอัตราภาษีนำเข้าจะทำให้ภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หดตัวลึกในสินค้าหลายรายการ นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบการลงทุนของต่างชาติ และอาจทำให้เกิดการย้ายฐานไปยังประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า
การเปิดเสรีเพิ่มเติมให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ทางการค้า เป็นสิ่งที่ต้องมองในเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วย และจะทำอย่างไรให้ "สินค้าไทย" แข่งขันได้ในระยะยาวเมื่อมีการเปิดเสรีเต็มที่ด้วยอัตราภาษี 0% เมื่อเสนอเงื่อนไขนี้ให้สหรัฐฯ แล้ว ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกันต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะนำมาสู่ประโยชน์ของผู้บริโภค โดยผู้ผลิตภายในสามารถปรับตัวหากดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และมีระบบสนับสนุนในการเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน แปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งทางด้านแบรนด์และการตลาด
หากไทยเจอกับอัตราภาษี 36% กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มส่งออกลดลงอย่างมาก หรือขยายตัวติดลบในตลาดสหรัฐ ได้แก่
- มะพร้าวแห้งและน้ำมันมะพร้าว ที่แข่งขันด้านราคากับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งมี FTA กับสหรัฐฯ และได้ GSP
- สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด เป็น commodity ที่ราคาถูก ต้นทุนสูงขึ้นทันทีเมื่อเจอภาษีมากกว่า 20% ทำให้ไม่สามารถแข่งกับฟิลิปปินส์ได้
- ข้าวหอมมะลิ แม้มีแบรนด์ แต่หากโดนภาษีนำเข้า 36% จะทำให้ผู้ซื้อหันไปยังเวียดนาม หรืออินเดีย
- อาหารทะเลแปรรูปราคากลาง เช่น ปลาทูน่ากระป๋องเกรดทั่วไป หากโดนภาษีสูง จะเสียเปรียบต่อเอกวาดอร์/ฟิลิปปินส์
- ผลไม้ผสม (ราคาต่ำ) ไม่ใช่ตลาด niche และผู้บริโภคอเมริกันมีทางเลือกในประเทศ หรือนำเข้าจากเม็กซิโก และบราซิล
ดร.อนุสรณ์ คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องจนถึงปีหน้า หากประเทศเจอกำแพงภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ๆ อาจทำให้มี SME ปิดกิจการเพิ่มขึ้น พร้อมกับแรงงานที่อาจถูกปลดออกจากงาน การลดกำลังการผลิตจากการชะลอตัวของภาคส่งออก และการขยายตัวติดลบของอุตสาหกรรม หรือภาคการบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก จะส่งผลให้มีสูญเสียตำแหน่งงาน ภาคส่งออกและห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน แรงงานที่ถูกลดชั่วโมงการทำงานและว่างงาน จะส่งผลต่อภาคการบริโภคให้ชะลอตัวลงแรง ทำให้กิจการหรือธุรกิจภายในอย่างเช่น ภาคการค้าภายในประเทศ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อ ได้รับผลกระทบไปด้วย