“นฤตม์” มอง 1 ส.ค. ยังไม่ใช่วันตัดสินภาษีทรัมป์ พร้อมชู 5 แนวทาง สู้เกม
วันนี้ (14 ก.ค.68) ภายในงานเสวนาโต๊ะกลม “กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of (Re)Deal” โดยมีผู้เสวนาจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนร่วมพูดคุยถึงข้อเสนอและแนวทางการรับมือผลกระทบของไทยต่อจากนี้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการด้านภาษีของสหรัฐ และแนวทางการเตรียมการของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน ที่มองว่าเป็นเกมระยะยาวและมาตรการต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในวันที่ 1 ส.ค. 2568 มองยังไม่ใช่วันพิพากษาภาษีสหรัฐ แต่จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถรักษาสมดุลกับประเทศมหาอำนาได้ อาทิ สหรัฐ จีน ตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป อินเดีย โดยภาครัฐต้องมีนโยบายยืดหยุ่น คล่องตัว ที่ปรับตามสถานการณ์ได้ ขณะที่เอกชนต้องค้นหาจุดแข็ง หากดูแล้วเซ็กเตอร์ไหนภาครัฐช่วยเหลือแล้วแต่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องทรานฟอร์มไปสู่ธุรกิจใหม่
ทั้งนี้มาตรการภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน นอกเหนือไปจากอัตราภาษีตอบโต้แล้วยังมีภาษีการส่งผ่านสินค้า (Transshipment) ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการกำหนดนิยาม Local Content และภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศแล้วในอลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้น รวมถึงคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้รับการยกเว้นแต่ในอนาคตไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตามอัตราภาษีมาตรา 232 นี้เท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ แต่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐที่มีอัตราภาษี 0% ส่วนเรื่องการจำกัดการส่งออกชิป AI ซึ่งไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมี Global Minimum Tax ที่ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น บีโอไอจึงได้เตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มเครดิตภาษี มาช่วยบรรเทาผลกระทบ
นายนฤตม์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยด้านภาษีไม่ใช่ตัวตัดสินเพียงหนึ่งเดียวในการลงทุน โดยทิศทางจากนี้ไป ประเทศไทยจะต้องผูกซัพพลายเชนกับสหรัฐให้มากขึ้น ทั้งการลงทุนสหรัฐในไทยและการลงทุนไทยในสหรัฐ เป้าหมายสำคัญคือทำให้ไทยเป็นพันธมิตรในซัพพลายเชนของสหรัฐในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และด้านดิจิทัล และให้สหรัฐฯ มองไทยเป็นฐานในการขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของสหรัฐในไทยมี 135 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และหากรวมบริษัทสหรัฐที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์จะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ และอาหาร
สำหรับทิศทางในอนาคต ประเทศไทยยังคงมุ่งเป้าไปที่บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี โดยมี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐ ได้แก่
1. เซมิคอนดักซ์เตอร์ (Semiconductor) และแอดวานซ์ อิเล็กทรอนิกส์ (Advanced Electronic) ตั้งแต่การผลิตชิป ซึ่งไทยโดดเด่นด้านการประกอบและทดสอบขั้นสูง รวมถึงการผลิตฮาร์ดดิสก์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ และชิ้นส่วนการผลิตโน้ตบุ๊ก
2.ดิจิทัลและ AI ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ดาต้าเซ็นเตอร์ ระดับ Hyperscale และบริการคลาวด์มาตรฐานสูง
3. ยานยนต์ ทั้งรถยนต์ของสหรัฐ อาทิ Ford และ Big Bike อย่าง Harley-Davidson ซึ่งมีการลงทุนในไทยอยู่แล้วและมีแผนอัปเกรดไปสู่ EV รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์
4. อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Technology) ผสมผสานเทคโนโลยีสหรัฐกับวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย รวมถึงไบโอเทคทางการแพทย์
5. การเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เชิญชวนบริษัทสหรัฐฯ มาตั้งสำนักงานใหญ่ (Regional Headquarter) หรือเป็นฐานศูนย์วิจัยในภูมิภาค (R&D)
นายนฤตม์ กล่าวด้วยว่า ภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจลงทุน แต่มีอย่างน้อย 5 เรื่องหลักที่สำคัญและประเทศไทยมีความได้เปรียบในภูมิภาค ได้แก่
1.โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟ นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และสนามบิน
2.การมีซัพพลายเชนในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
3.บุคลากร ทั้งแรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิค รวมถึงมาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติผ่าน Smart Visa และ Residence
4.สิทธิประโยชน์และมาตรการจากภาครัฐ ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้
5.การเข้าถึงตลาด (Market Access) ไทยมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่เกือบ 70 ล้านคน มี FTA 17 ฉบับ ครอบคลุม 24 ประเทศ และกำลังเจรจากับ EU เกาหลี และแคนาดา
“หากไทยสามารถเจรจาภาษี Reciprocal Tariffs อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็คิดว่า 5 ปัจจัยที่กล่าวมานี้จะเป็นจุดแข็งของไทย ทำให้เราเป็นประเทศดึงดูดการลงทุนที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาค”