SCB EIC เปิด 5 ปม ไทยเสี่ยงภาษีสหรัฐ แนะรัฐบาลานซ์ผลดี-ผลเสีย รอบด้าน
SCB EIC เปิด 5 ปม ไทยเสี่ยงภาษีสหรัฐ แนะรัฐบาลานซ์ผลดี-ผลเสีย รอบด้าน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐให้คู่แข่ง ที่ถูกสหรัฐเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่า โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งสำคัญในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม จะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้าและเผชิญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น
2.หากไทยเจรจายอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐ โดยไม่มีเงื่อนไข กรณีแย่ที่สุดอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพด จะมีความอ่อนไหวสูง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐมาก นอกจากนี้ไทยยังพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก และผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้แลกกับการลดภาษีตอบโต้ ผู้บริโภคในประเทศอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่อาจเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบห่วงโซ่การผลิตในประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูง
3.อุปสงค์ในประเทศจะยิ่งแผ่วลงในครึ่งหลังของปี อาจเห็นการลงทุนภาคเอกชนหดตัว การบริโภคชะลอตัวแรงขึ้นโดยเฉพาะไตรมาส 4 แผนการลงทุนอาจชะลอออกไป ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐและอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐเก็บไทยที่อาจสูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญหากถูกตั้งกำแพงภาษีสหรัฐต่ำกว่า การลงทุนจากต่างประเทศอาจถูกดึงดูดไปประเทศคู่แข่งแทนได้ และการที่สหรัฐกับจีนมีข้อตกลงเก็บภาษีตอบโต้อัตราต่ำลงมากในช่วง 1-2 เดือนก่อน อาจเป็นปัจจัยดึงดูดให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาส่งออกจากไทยไม่มากเช่นเดิม การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และชะลอลงแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐเต็มที่ อาจทำให้การจ้างงานลดลง ส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศที่ซบเซาลง
4.มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็นคณะการการนโยบายด้านการเงิน(กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ให้สอดคล้องแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่กนง.เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจาสหรัฐ ไม่สำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น
5.ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐให้รอบด้าน การเจรจาขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุล ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากอัตราภาษีตอบโต้ที่ลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข ไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น การหาตลาดใหม่ และเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : SCB EIC เปิด 5 ปม ไทยเสี่ยงภาษีสหรัฐ แนะรัฐบาลานซ์ผลดี-ผลเสีย รอบด้าน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th