CKPower โชว์ศักยภาพ Q1/2025 เติบโตมั่นคง หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน
พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว และสร้างโอกาสใหม่ทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศทั่วโลก
หนึ่งในองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ทศวรรษอย่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) ในฐานะหนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ตํ่าที่สุดรายหนึ่ง
บริษัทได้วางกรอบเป้าหมายที่สำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้มากกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2586 ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมลดการใช้พลังงานเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร
- เติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 1/2568 แม้ในฤดูแล้ง
ผลการดำเนินงานของ CKPower และบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 1/2568 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปในทิศทางบวก มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วม (EBITDA + Share of Profits) จำนวน 991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 139 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (Core Net Profit) จำนวน 63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 305 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่รับรู้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 242 ล้านบาท
โดยปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี ของบริษัท โดยรายได้การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 จากปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าในช่วงต้นปี 2568 ที่มากกว่าปีก่อน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้นร้อยละ 7 รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมลดลงถึง 563 ล้านบาท เหลือเพียง 7 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงร้อยละ 99 จากปริมาณนํ้าไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 ทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- คาดเติบโตต่อเนื่อง รับปัจจัยฤดูกาล
สำหรับในไตรมาสที่เหลือของปี 2568 จะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงไตรมาสหลัง คาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังนํ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับรายงานจาก บล.ทิสโก้ (TISCO Securities) ที่ระบุว่า มุมมองเชิงบวกต่อ CKP ในปี 2025 โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณนํ้าที่แข็งแกร่งทั้งที่ โรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้ยอดขายไฟฟ้าสูงขึ้น
โดยโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเดือนมกราคม-พฤษภาคมปี 2568 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 3 และยังมีปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 363 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเลปานกลางซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณนํ้าไหลเข้า โรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย โดยต้องรอความชัดเจนของปริมาณนํ้าอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
- ความเชื่อมั่นและทิศทางอนาคต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ CKPower ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตตราสารหนี้ (Issue Rating) จาก “BBB+” เป็น “A-” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง) โดยอันดับเครดิตที่ปรับสูงขึ้นนี้สะท้อนถึงโครงสร้างหนี้ที่แข็งแกร่งขึ้น จากการบริหารหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ การทยอยลดภาระหนี้ของบริษัทย่อย และการรักษาระดับความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง ส่งผลให้ภาพรวมทางการเงินของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกัน CKPower ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 4 ชุด มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท โดยมียอดจองเกินวงเงินที่เสนอขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้จะนำไปลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังนํ้า หลวงพระบาง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทเป็นหลัก และส่วนที่เหลือจะใช้เพื่อชำระคืนตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี
สำหรับแผนงาน ปี 2568-2573 CKPower ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตจากโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ Private PPA และ ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเฟส 2 จากภาครัฐ ควบคู่ไปกับการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ด้านโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ในเฟสแรก จะทยอยแล้วก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ BEM ได้ครบทุกโครงการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังนํ้า หลวงพระบาง มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 48 ซึ่งเป็นไปตามแผน และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผนในปี 2573
“ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงาน หมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งให้ประเทศไทยได้กว่า 8.8 ล้านเมกะวัตต์/ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็น ร้อยละ 16 ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศ”