กฎหมายไทยกับความสามารถในการลืมอดีต: ไม่มีบทเรียน ไม่มีการเยียวยา ไม่มีอนาคต
ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่เปื้อนเลือด ความทรงจำอาจเป็นภัย กฎหมายจึงถูกนำมาใช้ไม่ใช่เพื่อความยุติธรรม แต่เพื่อปิดบังความจริง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่แม้จะเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำซากจากรัฐมายาวนาน แต่กลับไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการเผชิญหน้ากับอดีต เราไม่มีการไต่สวนผู้กระทำผิด ไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริง ไม่มีการเยียวยาเหยื่ออย่างเป็นระบบ และที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่มี ‘เจตจำนง’ ในการจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเลย
ลองทบทวนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 ตากใบ 2547 หรือการสลายการชุมนุมปี 2553 ไม่เพียงผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยนับพันไม่เคยได้รับความยุติธรรม แต่สังคมไทยยังถูกออกแบบให้ ‘ลืม’ เหตุการณ์เหล่านี้อย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนการที่กฎหมายและรัฐทำงานร่วมกันอย่างเงียบเชียบและทรงพลัง
เราลืมเพราะอยากลืม หรือเพราะระบบกฎหมายทำให้เราลืมได้อย่างสบายใจ
หากถามว่าเหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถเผชิญหน้ากับอดีตได้ คำตอบหนึ่งที่มักถูกหยิบยกคือ ‘เพื่อความสงบสุข’ หรือ ‘เพื่อความปรองดองของชาติ’ แต่น่าเศร้าที่ความปรองดองที่ว่านั้นกลับตั้งอยู่บนการปิดปากเหยื่อ ไม่ใช่การทำให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบ
ในประเทศที่ผ่านเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หลายแห่งเลือกใช้ ‘ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ (Transitional Justice) เพื่อสานรอยร้าวในอดีตให้กลายเป็นบทเรียนร่วมกัน ทั้งในแอฟริกาใต้ที่ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและให้อภัย ชิลีที่นำตัวผู้นำทหารขึ้นศาล ไปจนถึงเกาหลีใต้ที่ปฏิรูประบบความมั่นคงหลังยุคทหาร แต่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับหลักการนี้อย่างจริงจัง แม้จะมีความพยายาม เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ที่จัดตั้งขึ้นหลังปี 2553 รายงานของ คอป.ยืนยันชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อประชาชน และเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและตำรวจ 1 แต่รายงานดังกล่าวไม่เคยถูกใช้เป็นนโยบายรัฐ ไม่มีการดำเนินคดี และไม่มีการเยียวยาตามข้อเสนอ
กรณีนี้จึงไม่ใช่ความล้มเหลวจาก ‘ช่องว่างทางกฎหมาย’ หากแต่เป็นการ ‘เลือกใช้กฎหมาย’ อย่างมีเป้าหมายเพื่อกลบฝังความจริงและปิดทางไม่ให้เกิดความรับผิดใดๆ ต่ออาชญากรรมที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง กฎหมายจึงไม่ใช่เครื่องมือกลางที่สร้างความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับกลายเป็นอาวุธในมือของผู้มีอำนาจที่สามารถตีความและบังคับใช้ตามอำเภอใจ เลือกว่าจะใช้กฎหมายฉบับใด กับใคร และในสถานการณ์แบบไหน การไม่เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุม การออกคำสั่งให้คดีบางประเภท ‘ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม’ หรือการให้เอกสิทธิ์กับผู้กระทำความผิดโดยอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ล้วนเป็นการบ่งชี้ว่า กฎหมายไม่ได้ล้มเหลวเพราะเขียนไว้ไม่ดี แต่ล้มเหลวเพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาโครงสร้างดังกล่าวเอาไว้
การเลือกใช้กฎหมายจึงไม่ใช่แค่การบริหารประเทศเชิงเทคนิคของรัฐ แต่คือการตัดสินใจอันเป็นการบริหารเชิงอำนาจ ที่สะท้อนความลำเอียงในโครงสร้างการเมืองไทย เราจึงไม่อาจพูดได้ว่าประเทศนี้ ‘ขาดกฎหมาย’ หรือ ‘กฎหมายไม่เข้มแข็ง’ ตรงกันข้าม เรามีกฎหมายมากมายที่ถูกออกแบบมาอย่างรัดกุม แต่กลับใช้เพื่อควบคุม คุกคาม และทำให้ฝ่ายที่ตั้งคำถามกับรัฐกลายเป็นผู้กระทำผิด ขณะที่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับถูกกันไว้บนแท่นแห่งความชอบธรรม โดยไม่ต้องตอบคำถามใดๆ ต่อสาธารณะ นี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยบังเอิญ แต่คือกระบวนการกลบเกลื่อนความจริงที่ถูกทำซ้ำอย่างเป็นระบบ และกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ความอยุติธรรมดำรงอยู่ได้โดยไร้เสียงโต้แย้ง
ในประเทศนี้ การนิรโทษกรรมกลายเป็นพิธีกรรมมากกว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม
นอกจากการปิดกั้นข้อเท็จจริง รัฐไทยยังมีวัฒนธรรม ‘นิรโทษกรรมลอยนวล’ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่ปี 2519 จนถึงยุค คสช. ผู้ที่อยู่ฝ่ายรัฐหรือกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองมักรอดพ้นจากความรับผิดด้วยกลไกกฎหมาย เช่น การตรากฎหมายย้อนหลัง การอ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายหากอ้างว่า “ทำโดยสุจริต”
แม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3768/2546 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็สะท้อน`แนวคิดดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธยิงใส่ประชาชน ไม่ได้ถือว่ามีเจตนาฆ่า เพราะเป็นการ ‘ปฏิบัติตามคำสั่ง’ ของผู้บังคับบัญชา การนิรโทษกรรมในบริบทไทยจึงไม่ได้เกิดจากความเข้าใจในหลักการสมานฉันท์ แต่เป็นเครื่องมือปกป้องผู้มีอำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ และเมื่อรัฐออกแบบให้ ‘ไม่มีใครผิด’ กฎหมายย่อมหมดความหมาย เพราะมันไม่ได้ถูกใช้เพื่อจัดระเบียบความเป็นธรรม แต่ถูกใช้เพื่อยืดอายุของความไม่เป็นธรรมต่อไป และสะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบผ่านกลไกกฎหมาย เพื่อปกป้องผู้กระทำผิดในนามของรัฐ แทนที่จะใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมและเยียวยาผู้เสียหาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การใช้กฎหมายในลักษณะเลือกปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองได้เพิ่มจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีที่มิได้ใช้ความรุนแรง แต่กลับต้องเผชิญข้อกล่าวหาร้ายแรง เช่น มาตรา 112 และ 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตัวอย่างเช่น กรณีของเยาวชนและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,800 รายที่ถูกดำเนินคดีตามข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคม สถานการณ์เช่นนี้ได้นำไปสู่การถกเถียงในสังคมว่า การนิรโทษกรรมสามารถเป็นกลไกในการ ‘คืนความเป็นธรรม’ ให้แก่พลเมืองได้หรือไม่
กรณีแคมเปญ ‘Free Ratsadon’ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกคดีแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเสนอใช้แนวทางนิรโทษกรรมในมิติที่ต่างจากอดีต ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองอำนาจรัฐ แต่เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะเดียวกันในระดับรัฐสภาพรรคก้าวไกล (หรือพรรคประชาชน) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยยกเว้นไม่ครอบคลุมคดีอาญาที่มีความรุนแรง เช่น การฆ่าผู้อื่น หรือทำร้ายร่างกาย การเสนอดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงทางหลักการว่า จะสามารถมีนิรโทษกรรมที่ตั้งอยู่บนหลักความจริงและการมีส่วนร่วมของสาธารณะได้หรือไม่
รูติ ไทเทล (Ruti Teitel; 2000) เสนอว่า กระบวนการนิรโทษกรรมที่ชอบธรรมควรดำเนินควบคู่กับการเปิดเผยข้อเท็จจริง (Truth-telling) และยอมรับความผิด (Acknowledgment of Wrongdoing) มิใช่เพียงการลบล้างความผิดโดยรัฐฝ่ายเดียว เพราะหากยังปล่อยให้รัฐสามารถกำหนดได้เพียงฝ่ายเดียวว่าใครควร ‘ได้รับการอภัย’ โดยไม่ต้องอธิบายว่าใครคือ ‘ผู้เสียหาย’ และ ‘อะไรคือความจริง’ กระบวนการยุติธรรมย่อมตกอยู่ภายใต้เงาของอำนาจ มากกว่าการเป็นฐานของความเป็นธรรมร่วมของสังคม
เมื่อความจริงไม่มีพื้นที่ ความเงียบจึงกลายเป็นนโยบาย
เมื่อ ‘ความจริง’ ไม่มีพื้นที่ ความเงียบจึงกลายเป็นนโยบายโดยพฤตินัยของรัฐ ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ไม่ได้เงียบเพียงเพราะสังคมไม่พูดถึง แต่ถูกทำให้เงียบผ่านกลไกเชิงโครงสร้างที่ครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่การไม่เปิดเผยรายงานอย่างเป็นทางการ การควบคุมการสื่อสารสาธารณะ การออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายความมั่นคง ตลอดจนการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือฟ้องกลับผู้ที่กล้าท้าทายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม นักข่าว นักวิชาการ หรือแม้แต่ญาติของผู้เสียหาย กระบวนการนี้ไม่เพียงลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การ ‘ลงโทษซ้ำ’ (Re-victimization) ซึ่งแปลว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง กลับต้องกลายเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีของ พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากการถูกยิงในวัดปทุมวนาราม ระหว่างเหตุการณ์ปี 2553 ที่ยังคงออกมาเรียกร้องความจริงอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกคุกคามโดยรัฐและยังไม่เคยได้รับความยุติธรรม
ในกระบวนการนี้ ความจริงถูกทำให้เป็นภัยกลายเป็นสิ่งอันตรายและผิดกฎหมาย (Criminalization of Truth) แนวโน้มเช่นนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ มิเชล ฟูโกลต์ (Michel Foucault; 1980) ที่กล่าวว่า ความรู้และอำนาจมิได้แยกขาดจากกัน แต่ดำรงอยู่ร่วมกันเสมอ ผู้ที่มีอำนาจในการกำกับการผลิตและเผยแพร่ความรู้ ก็ย่อมสามารถควบคุม ‘ความจริง’ ในระดับโครงสร้างได้ด้วย และในบริบทเช่นนี้ ความยุติธรรมย่อมไม่เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงตามกระบวนการ แต่เกิดจาก ‘ผู้มีอำนาจกำหนดว่าอะไรคือความจริง’ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายไม่มีพื้นที่ทางสังคมหรือทางกฎหมายในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง
ในแง่นี้แนวคิดเรื่อง ‘ความทรงจำสาธารณะ’ (Public Memory) และ ‘ความจำเลือกจำ’ (Selective Memory) ของรัฐ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสถาปนาและคงไว้ซึ่งอำนาจผ่านการควบคุมการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่รัฐเป็นผู้กระทำความรุนแรง เช่น 6 ตุลาฯ 2519 หรือพฤษภาฯ 2535 ที่ไม่ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ หรือหากถูกกล่าวถึง ก็ถูกนำเสนอในกรอบที่ลบความรับผิดชอบของรัฐออกไปอย่างสิ้นเชิง นักวิชาการอย่าง พอล คอนเนอร์ตัน (Paul Connerton; 2008) จึงเสนอว่า การลืม (Forgetting) ไม่ใช่การขาดการจดจำ แต่คือกระบวนการที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบโดยผู้มีอำนาจ และในบริบทรัฐเผด็จการหรือลัทธิอำนาจนิยม ‘การลืมที่จัดการได้’ นี้คือเครื่องมือของการกดขี่
ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกกรณีคือรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จัดทำขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ทว่ารายงานกลับไม่เคยถูกเผยแพร่อย่างทั่วถึง หรือถูกนำมาใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบายใดๆ การปล่อยให้รายงาน ‘ถูกเก็บ’ อย่างเงียบงันนั้น ไม่ใช่เรื่องของความบกพร่องเชิงระบบเท่านั้น แต่สะท้อนถึง ‘เจตจำนงของรัฐ’ ในการควบคุมว่า ประชาชนควรหรือไม่ควร ‘จำอะไร’ เกี่ยวกับความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้กระทำ (ดูเพิ่มเติม: Stanley Cohen, 2001, States of Denial: Knowing about Atrocities and Suffering)
เหยื่อถูกทำให้เป็นเพียงตัวละครรองในประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากเล่า
เหยื่อถูกทำให้เป็นเพียงตัวละครรองในประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากเล่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 และ 29 จะระบุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงความยุติธรรม การได้รับความคุ้มครองจากรัฐ และการได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม แต่ในความเป็นจริง สิทธิเหล่านั้นกลับเป็นเพียงถ้อยคำในกระดาษ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 ต้องใช้เวลาหลายปีในการพิสูจน์ว่า ‘ญาติของตนคือผู้บริสุทธิ์’ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ตามข้อกล่าวหาของรัฐในช่วงวิกฤต ทั้งที่หลักฐานหลายด้านอย่าง Including ภาพถ่าย วิดีโอ และคำให้การของพยาน ชี้ชัดว่าผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ และไม่ได้มีส่วนในการใช้ความรุนแรงใดๆ
ในบางกรณี รัฐเลือกที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ในลักษณะที่ไม่ใช่การ ‘ยอมรับความรับผิดชอบ’ แต่เป็นการ ‘ทำบุญ’ แบบอุปถัมภ์ทางการเมือง เงินชดเชยจึงไม่ได้มาพร้อมกับการรับรองสิทธิหรือสถานะผู้เสียหาย ไม่มีกระบวนการตรวจสอบอิสระ ไม่มีระบบประเมินความเสียหาย หรือแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน ต่างจากหลักการสากลที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ เช่น Basic Principles and Guidelines on the Right to a Remedy and Reparation for Victims of Gross Violations of International Human Rights Law and Serious Violations of International Humanitarian Law (2005)ซึ่งระบุว่า “เหยื่อมีสิทธิได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที เพียงพอ และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งในรูปของค่าชดเชย (Compensation) การฟื้นฟู (Rehabilitation) การแสวงหาความจริง (Truth-seeking) และการรับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำ (Guarantees of non-repetition)”
การที่รัฐไม่มีระบบรับรองสถานะผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ ไม่เพียงทำให้เหยื่อเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ยังหมายถึงการถูกตัดสิทธิทางสังคมอื่นๆ ไปโดยปริยาย เช่น ลูกหลานของผู้เสียชีวิต อาจไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาฟรีหรือทุนการศึกษา สำหรับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือภรรยาและบิดามารดาไม่สามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตระยะยาว ทั้งที่ความสูญเสียเชิงจิตวิญญาณและการบาดเจ็บทางใจอาจดำรงอยู่นานหลายทศวรรษ นักวิชาการอย่าง ลิซา มาการ์เรลล์ (Lisa Magarrell; 2007) ชี้ให้เห็นว่า “ความยุติธรรมที่แท้จริงไม่อาจแยกจากการเยียวยาในระดับบุคคลและโครงสร้าง”8หากไม่มีการยอมรับสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้เสียหายอย่างจริงจัง รัฐไม่เพียงปฏิเสธอดีต แต่ยังทำลายอนาคตของความเป็นธรรมในสังคมไปพร้อมกัน
ความทรงจำคือหน้าที่ ไม่ใช่ทางเลือก
หากความยุติธรรมจะมีความหมายในประเทศนี้ มันต้องเริ่มจากการยอมรับว่า ใครคือผู้เจ็บปวด ใครคือผู้ถูกกระทำ และใครคือผู้ที่ถูกทำให้เงียบและถูกลืม การนิรโทษกรรมลอยนวล การบิดเบือนข้อเท็จจริง และการปิดปากผู้เรียกร้องความจริง ไม่เคยเป็นหนทางนำพาสังคมให้พ้นจากวงจรความรุนแรงทางการเมือง ตรงกันข้ามมันกลับตอกย้ำความไม่เป็นธรรมให้ฝังลึกยิ่งขึ้น
ในโลกที่ความทรงจำมักถูกจัดวางให้อยู่ใต้การควบคุมของรัฐ การเรียกร้อง ‘ให้จำ’ จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของอดีต แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตร่วมกัน กฎหมายที่ดีต้องไม่เพียงใช้ลงโทษ แต่ต้องทำหน้าที่ ‘จดจำ’ ความรุนแรงและปกป้องผู้ที่เคยถูกลิดรอนสิทธิ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อีกต่อไป
ข้อเสนอเชิงโครงสร้างจึงต้องมุ่งไปสู่การเปลี่ยนระบบการจดจำของรัฐไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงอย่างอิสระ การแก้กฎหมายที่เปิดทางให้นิรโทษกรรมโดยไร้ขอบเขต การรับรองสิทธิในการเยียวยาทางกฎหมายและจิตใจ การบรรจุเหตุการณ์ทางการเมืองในหลักสูตรการศึกษา การสร้างพื้นที่รำลึก และการเปิดพื้นที่สื่อให้สะท้อนความจริงโดยปราศจากความกลัว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงความหวังของผู้เคยสูญเสีย แต่คือความจำเป็นร่วมกันของสังคม หากเราต้องการสร้างประชาธิปไตยที่หยั่งรากในความเป็นธรรม
เพราะตราบใดที่เรายังไม่ยอม ‘จดจำ’ กฎหมายก็จะยังคงเป็นอาวุธของผู้มีอำนาจ มากกว่าจะเป็นหลักประกันของผู้ถูกกระทำ และตราบใดที่ความเงียบยังถูกทำให้กลายเป็นนโยบาย ความรุนแรงก็จะกลับมาในรูปแบบเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าเราจะจำได้และจำเป็น
เชิงอรรถ
- iLaw. “ข้อเสนอจาก คอป. ที่ไม่เคยถูกนำไปใช้” https://ilaw.or.th/node/3653
- รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44. ดูเพิ่มเติมที่ Human Rights Development Foundation. https://hrdfoundation.org/?p=1751
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2564). “คำพิพากษาคดีปี 53” https://tlhr2014.com/archives/33823
- Human Rights Watch. (2011). Descent into Chaos https://www.hrw.org/report/2011/05/03/descent-chaos/thailands-2010-red-shirt-protests-and-government-crackdown
- iLaw. “คดีความมั่นคงกับการปิดปากนักเคลื่อนไหว” https://ilaw.or.th/node/5995
- OHCHR. (2005). Basic Principles and Guidelines on the Right to a Remedy and Reparation for Victims. https://www.ohchr.org/en/instruments-mechanisms/instruments/basic-principles-and-guidelines-right-remedy-and-reparation-victims
- Hayner, P. B. (2001). Unspeakable Truths: Transitional Justice and the Challenge of Truth Commissions. Routledge.
- Teitel, R. G. (2000). Transitional Justice. Oxford University Press.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3768/2546.
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (2567). สถิติคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง 2563–ปัจจุบัน.
- พรรคก้าวไกล. (2566). ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนจากการแสดงออกทางการเมือง พ.ศ. …..
- อุเชนทร์ เชียงเสน. (2563). “นิรโทษกรรมแบบลวง: การเมืองของความเงียบและการให้อภัยในสังคมไทย.” วารสารรัฐศาสตร์ปริทรรศน์.
- Cohen, S. (2001). States of Denial: Knowing about Atrocities and Suffering. Cambridge: Polity Press.
- Connerton, P. (2008). Seven types of forgetting. Memory Studies, 1(1), 59–71. https://doi.org/10.1177/1750698007083889
- Foucault, M. (1980). Power/Knowledge: Selected Interviews and Other Writings 1972–1977(C. Gordon, Ed.). New York: Pantheon Books.
- Human Rights Watch. (2011). Descent into Chaos: Thailand’s 2010 Red Shirt Protests and the Government Crackdown. New York: Human Rights Watch.
- Amnesty International Thailand. (2021). Thailand: “My face burned with shame”: The treatment of women and girls in Thailand’s criminal justice system. London: Amnesty International.
- บทสัมภาษณ์และคำแถลงของ นางพะเยาว์ อัคฮาด ที่ปรากฏในสื่อไทย เช่น BBC Thai, iLaw, และ The Matter