โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

“เราโทษตัวเองว่าเป็นคนส่งเขาไปตาย” ฟังเสียงครอบครัวผู้เสียหาย ในวันที่ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ ยังมีช่องโหว่-ขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง

The MATTER

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Politics

2 ปีที่แล้ว ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยได้บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ) อย่างเป็นทางการ โดย พ.ร.บ.นี้ มีหลักการสำคัญ คือ ‘ป้องกัน ปราบปราม เยียวยา การทรมานและอุ้มหาย’ ซึ่งสร้างความหวังให้กับครอบครัวผู้เสียหายในการเรียกร้องความยุติธรรมเป็นอย่างมาก

เนื่องจาก พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ กำหนดฐานความผิดของการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับให้สูญหาย รวมทั้งห้ามส่งบุคคลกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน

สถิติการบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทย ที่ UN WGEID บันทึกไว้ มีอย่างน้อย 77 กรณี เช่น กรณีสุรชัย แซ่ด่าน, ลุงสนามหลวง, บิลลี่–พอละจี และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ขณะที่การทรมานฯ ในประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2563 คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) มีการรับเรื่องการทรมานอุ้มหาย 258 กรณี และในปี 2567 พบข้อเรียกร้องการทรมาน 27 กรณี และการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี 28 กรณี

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบข้อบกพร่องหลายประการ หลัง พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เช่น การกำหนดอายุความ การนิยามการทรมาน การรับฟังพยานหลักฐาน จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพข้อบกพร่องอย่างกระจ่าง The MATTER พูดคุยกับครอบครัวผู้เสียหาย 3 ครอบครัวถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากกระบวนยุติธรรม รวมถึงพูดคุยถึงตัวตนและชีวิตของผู้เสียหาย เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน

กรณีพลทหารวรปรัชญ์ คดีแรกที่มีคำพิพากษา

ฝน แม่ของ เน–วรปรัชญ์ พัดมาสกุล ทหารเกณฑ์ชลบุรี อายุ 18 ปี ที่ถูกทำร้ายร่างกายจากการซ่อมวินัยจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เริ่มต้นพูดคุยกับเราว่า ครูฝึกของหน่วยฝึกทหารใหม่โทรมาแจ้งว่า น้องเนมีภาวะหัวใจหยุดเต้น และชีพจรเต้นช้า จึงมีการนำส่งไปโรงพยาบาลชลบุรี

เธอกล่าวต่อ ที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดเรื่องลักษณะนี้ขึ้น มีเพียงวันที่เดินทางไปเยี่ยมลูกชายที่หน่วยฝึก ที่เธอมีถามเขาว่าอยู่ได้ไหม เขาตอบว่า “อยู่ได้แม่ เดี๋ยวอีกไม่กี่วันนี้แม่มารับหนูนะ วันที่มารับ แม่ลางานทั้งวันไปเลย เพราะจะพาแม่ไปกินชาบู”

“แม่กับน้องเนคุยกันเหมือนเพื่อน เหมือนพี่เหมือนน้องคุยกัน ไม่ใช่สไตล์แม่กับลูกคุยกัน”

แม่ฝนพูดถึงอุปนิสัยเนว่า น้องเป็นคนเงียบๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นคนเฮฮา เป็นคนสนุกสนานตามวัยของเขา ชอบอยู่บ้านเลี้ยงน้อง ชอบเล่นเกม

“น้องมีการสร้างทีมกับเพื่อนๆ เพื่อจะไปแข่งกีฬาอีสปอร์ต นอกจากนี้ น้องเนยังคอยช่วยแม่และยายขายของ เอาของที่เหลือไปเดินขายตามร้านอาหาร ตามร้านจิ้มจุ่ม ร้านหมูกระทะ”

การสูญเสียลูก กลับกลายเป็นตราบาปของพ่อและแม่

แม่ฝนตอบเสียงสั่นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อจิตใจของเธอมาก เพราะว่าเลี้ยงเนมาตั้งแต่เล็ก เขาไม่เกเร และที่สำคัญ เนไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่เกิดจากการกระทำของบุคคล ที่สามารถป้องกันและยับยั้งเรื่องที่เกิดขึ้นได้

“มันกลายเป็นว่าทั้งแม่และพ่อโทษตัวเองว่าเป็นคนส่งน้องไปตาย กลายเป็นตราบาป เพราะวันที่รายงานตัว วันที่ไปสมัคร แม่เป็นคนพาน้องไป ส่วนวันส่งน้องเข้าไปรายงานตัวคือพ่อ”

เธอระบุต่อ ช่วงแรกกินยาคลายเครียด กินยานอนหลับ กว่าจะกลับมายืนจุดนี้ได้ก็ยากมาก แต่วันนี้เราพยายามเปลี่ยนความคิด ถามว่าทำใจได้ไหม ยังทำใจไม่ได้ ไม่มีใครทำใจยอมรับในจุดๆ นี้ได้ ต่อให้ระยะเวลาจะผ่านมาเป็นปีแล้วก็ตามที แต่ว่าสิ่งที่ทำได้คือ เราต้องทวงความเป็นธรรมให้กับน้อง เราต้องดึงตัวเองกลับมา เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้เขามากที่สุด

“เพราะผลชันสูตรของน้องมันโหดร้ายเกินกว่าที่ร่างกายเด็กคนหนึ่งจะรับได้ กระดูกซี่โครงมนุษย์มี 12 คู่ ของน้องเนหักไป 11 คู่ ไหปลาร้าขวาหัก สะบักขวาหัก กระดูกสันหลังระดับอกหัก กระดูกสันหลังระดับเอวหัก แล้วน้องเป็นคนตัวใหญ่ น้องสูงตั้ง 180 ซม. น้องต้องโดนขนาดไหน น้องต้องอดทนขนาดไหน น้องต้องเจ็บขนาดไหน มันเป็นสิ่งแม่คนหนึ่งไม่สามารถยอมรับได้”

แม้ว่าจะมีคำพิพากษาออกมาแล้ว แต่ครอบครัวยังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์

แม่ของพลทหารวรปรัชญ์ กล่าวว่า ตอนนี้พ่อกับแม่กำลังทำหนังสืออุทธรณ์ ให้ทนายยื่นเอกสารอุทธรณ์เพิ่มเติม เพราะในเบื้องต้นคำพิพากษาออกมาคือมาตรา 5 แล้วก็มาตรา 35 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ ซึ่งอัตราโทษของมาตรา 35 วรรค 3 โทษสูงสุดคือจำโทษตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม 5 แสนบาท และจากกองทัพบกที่ได้รับตามสิทธิอีก 2 แสนบาท

และในตอนนี้เธอและครอบครัวให้ทางกระทรวงยุติธรรม ช่วยเรื่องกฎหมายและประสานงานเบื้องต้นไปยังกองทัพบก ในการออกมารับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตรง เธอให้เหตุผลว่า เคสน้องเนเป็นเคสแรกที่มีคำตัดสิน แต่จะอุทธรณ์ต่อ จะทำให้เป็นแบบอย่างของกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกกับเด็กๆ รุ่นหลัง

“เนื่องจากวันนี้แม่เลือกชีวิตน้องกลับมาไม่ได้แล้ว แต่แม่สามารถทำเพื่อเด็กๆ พลทหารรุ่นหลังได้ โดยใช้เคสน้องเป็นตัวอย่าง มาเป็นบรรทัดฐานว่า ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีหน้าที่การงานดีขนาดไหน ก็ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง”

ทั้งนี้ เธอพูดเสริมถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบว่า ความจริงแล้ว เด็กๆ ไม่ได้กลัวการที่จะต้องไปฝึก กลัวการที่จะไปเป็นทหาร แต่สิ่งที่เด็กๆ และครอบครัวกลัวคือ การถูกซ้อมทรมาน การโดนทำร้ายร่างกาย การกระทำนอกเหนือจากคำสั่ง การแอบทำอะไรที่ปิดหูปิดตาผู้บังคับบัญชา การละเมิดวินัยทหาร พวกเขากลัวตรงนี้มากกว่า

ครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึก ต้องมีวุฒิภาวะ มีสามัญสำนึก และจิตสำนึกของครูให้มากกว่านี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพจิตของผู้ฝึกโดยใช้หน่วยพยาบาลที่ไม่ใช่ของทหาร เพราะหากลองสังเกตจะเห็นว่าเหตุการณ์พลทหารเสียชีวิต มักเกิดขึ้นจากหน่วยฝึกทหารใหม่

“มันกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เดิมๆ จะให้มีอีกสักกี่ศพถึงจะหยุดเรื่องนี้ได้”

กรณีพลทหารกิตติธร คดีแรกที่อัยการสั่งฟ้อง

22 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า อัยการสั่งฟ้องนายทหารผู้รับผิดชอบการฝึกพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ที่เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งนับว่าเป็นคดีแรกที่อัยการสั่งฟ้อง หลังกฎหมายทรมานอุ้มหายฯ เริ่มบังคับใช้

เรื่องราวการสูญเสียพลทหารกิตติธร เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ครอบครัวของพลทหารกิตติธรเดินทางไปรับเขาที่ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย แต่กลับพบว่าเขามีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น ซึ่งภรรยาของเขาระบุว่า ก่อนหน้านี้เขามีบาดแผลที่หัวเข่าที่เกิดจากการฝึกซ้อม ทั้งยังป่วยมาแล้วหลายวันและได้ขอให้ผู้บังคับบัญชาพาตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อครอบครัวได้เห็นอาการของพลทหารกิตติธร ภรรยาของเขาจึงขอให้ทางค่ายทหารออกใบลา แล้วนำตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชในบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าพลทหารกิตติธรติดเชื้อในกระแสเลือด แต่เมื่อพักรักษาตัวได้ 2 วัน อาการของเขาก็ไม่ดีขึ้น จนในช่วงเช้าของวันที่ 16 กรกฎาคม พลทหารกิตติธรถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แต่เขาเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน

สุวิทย์ พ่อของพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ในวันสุดท้าย จำได้แม่น เขาถูกปล่อยให้กลับบ้าน และก่อนหน้านั้นสักประมาณอาทิตย์หนึ่ง เขาโทรมาบอกว่าไม่ค่อยสบาย พอถามว่าทำไมไม่สบาย เขาบอกว่าโดนซ้อมเพราะเรื่องบุหรี่ ในค่ายเป็นเขตปลอดบุหรี่ และขณะที่ถูกจับได้ ไม่มีใครยอมรับผิด นอกจากเขา ทำให้เขาถูกลงโทษเพียงคนเดียว

“วันที่เราไปรับเขา อาการของเขาก็หนักแล้ว จึงถามกับคนในค่ายว่าทำไมส่งเขาไปโรงพยาบาล ซึ่งได้คำตอบกลับมาว่าขอแล้ว แต่ไม่มีการส่งตัว”

เขาพูดต่อ ผมกับภรรยาจึงรีบพาเขาไปโรงพยาบาล แต่หลังจากผ่านไปประมาณ 2 คืน อาการเขาไม่ค่อยจะดี ผมและครอบครัวก็ขอร้องหมอว่า ย้ายโรงพยาบาลได้ไหม ให้ไปที่โรงพยาบาลใหญ่ หมอบอกย้ายก็ย้าย แต่พอไปถึงที่โรงพยาบาลใหญ่ หมอที่นั่นบอกว่า ปอดเขาไม่ดี ทั้งสองข้างเป็นฝ้าหมดแล้ว อาจจะต้องมีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

“ตอนนั้นทั้งพ่อและแม่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะให้เขารักษา ให้เขาผ่าตัด ให้เขาเจาะคอดีไหม แต่เราก็ตกลงกับหมอให้รักษาให้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม สักประมาณเที่ยง เขาก็เสีย”

ครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยาที่มากพอ

พ่อของพลทหารกิตติธร ตอบว่า ยังไม่มี มีเพียงจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่ช่วยเยียวยาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนทางค่ายทหารยังไม่มีการเยียวยาใดๆ

“ใจเราอยากให้เขารับผิดชอบ มาขอโทษกับเราตรงๆ พร้อมกับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอยากให้ผู้มีอำนาจในค่าย ผู้บังคับบัญชาได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ขอให้เคสของเราเป็นเคสสุดท้าย”

เขากล่าวปิดท้ายว่า เขาและครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างมาก หลังลูกเสียชีวิต พลทหารกิตติธรเป็นลูกชายคนโต ที่คอยช่วยเหลือทุกอย่างในบ้าน เคยไปทำงานที่เกาหลี ส่งเงินมาช่วยพ่อแม่ ผ่อนรถ ผ่อนหนี้ ช่วยพ่อแม่ทุกอย่าง ตอนนี้ลูกชายไม่อยู่แล้ว ภาระก็ตกมาที่คนเป็นพ่อคนเดียว

คดีอุ้มหาย ‘ช่องโหว่’ ในกฎหมายทรมานอุ้มหายฯ

สหายภูชนะ หรือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ โดยพบศพที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม เมื่อปี 2561 ซึ่งการบังคับสูญหายและการถูกพบเป็นศพที่เกิดกับชัชชาญ ถือเป็น 1 จาก 9 กรณีของผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2557 และถูกบังคับให้สูญหายในระหว่างปี 2559-2563

ปัจจุบันกรณีชัชชาญ ยังไม่มีการดำเนินคดี เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แม้ว่าประเทศไทยจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ มาแล้ว 2 ปี

เต๋อ ลูกชายของชัชชาญ เริ่มต้นคุยกับเราว่า ตอนปลายปี 2561 เขาส่งไลน์คุยกับพ่อ ซึ่งพ่อส่งข้อความทิ้งไว้ในไลน์กลุ่มครอบครัวว่า “จะติดต่อไม่ได้สักอาทิตย์หนึ่งนะ พอดีประยุทธ์ข้ามมา เจ้าหน้าที่รัฐเยอะ พ่อขอกบดานสักอาทิตย์นึง” นั่นเป็นไลน์สุดท้ายที่ครอบครัวได้คุยกัน หลังจากนั้นก็เจอข่าวว่าพ่อกลายเป็นศพ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561

เขายอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่มีสัญญาณผิดปกติอย่างชัดเจนว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น แต่ในช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่ผู้ลี้ภัยหายไป ประมาณ 1-2 ราย เช่น โกตี๋ อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง “แต่ในกลุ่มที่เป็นผู้ลี้ภัยเอง พวกเขาก็คุยกันประมาณว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ คือไม่ได้ถูกอุ้มหายไปจริงๆ”

“แล้วพ่อผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เชื่อข้อมูลนี้ เป็นการอุ้มตัวเอง ปลีกวิเวกตัวเอง ทุกคนก็ไม่เคยคิด แม่และน้องผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะถึงขั้นถูกอุ้มไป เพราะข้อมูลที่พ่อมีไม่ได้สำคัญหรือส่งผลกระทบกับรัฐได้ขนาดนั้น”

การแก้ไข พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย ถือเป็นทางออกเดียว

ลูกชายของชัชชาญ เล่าว่า แรกๆ หลังเกิดเหตุ เขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีความช่วยเหลือจากด้านใดเลย ซึ่งคนที่ช่วยเหลือเขาในด้านนี้ได้มากที่สุด ก็คือพี่ชายที่เป็นตำรวจ

“พี่ชายแนะนำให้ไปขอพิสูจน์ DNA เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีองค์กรไหน หรือกระบวนการใดในระบบรัฐมาช่วยเหลือเรา ไม่มีอะไรเลย ผมก็ค่อยๆ ทำทีละขั้นตอน จนถึงขั้นที่ว่าจะมีการคืนศพในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 หรือตอนเลือกตั้ง แต่กว่าจะได้คืนจริงๆ ก็ช่วงเมษายน”

เขาเล่าต่อ พอหลังจากได้ใบมรณบัตร จัดพิธีเผาศพเรียบร้อย พี่ชายก็แนะนำให้เขาไปร้องขอเงินเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมกับอัยการของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ทว่าหนังสือจากอัยการเขียนว่ายุติการสอบสวน จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ ก็คืออัยการไม่มีข้อมูล

“เราก็ค้างเติ่งอยู่ในกระบวนการนี้ว่า สรุปแล้วใครทำ หายไปหลายคน คนที่ถูกพบศพทำไมไม่มีหลักฐานใดๆ เราไม่สามารถไปถึงหลักฐานส่วนนั้นได้เลย”

เต๋อ ระบุว่า จนกระทั่งช่วงปี 2564 ถึง 2565 องค์กรมูลนิธิประสานวัฒนธรรม เข้ามาช่วยพูดคุยและดูแลคดีของพ่อเขา

นอกจากนี้ เขายังพูดถึงการเยียวยาจากภาครัฐว่า เวลาพูดถึงการเยียวยา ภาพแรกที่มองเห็นอาจจะเป็นเงิน แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เขามองว่าสำคัญที่สุดคือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐรู้หน้าที่ของตัวเอง มี mindset ว่าต้องรับผิดชอบสิ่งนี้ ไม่ใช่บอกปัดด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่น พิสูจน์ไม่ได้ว่าเจ้าที่รัฐเป็นคนกระทำ

“ส่วนนี้ผมว่าแม่งเป็นความรู้สึกที่โคตรควรจะเยียวยาเลย มันไม่ใช่เยียวยาแค่ตัวเรา สมมติถ้าเราไปแจ้งความว่าพ่อถูกอุ้มหาย แล้วเขาตอบกลับมาว่า “เออ คนเราก็ต้องตายวะ” แล้วก็ตบไหล่ เราจะรู้สึกทันทีว่าจะมีพวกมึงไว้ทำไม”

เขาเสริมว่า ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนที่ถูกอุ้มไป ประมาณ 9 ราย มักจะถูกพูดถึงไปในทางเดียวกันว่า คนกลุ่มนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน การกู้หนี้ยืมสิน หรือติดผู้หญิง

“สิ่งที่มันจะเยียวยาได้จริงๆ คือการจับคนผิดมาลงโทษ เพื่อเป็นการล้างมลทินให้กับเหยื่อ อีกทั้งการได้รับรู้ถึงแรงจูงใจในการฆ่าว่าเป็นในระดับบุคคล ระดับองค์กร หรือเป็นขบวนการ ได้รับเงินจากใคร แล้วทำทำไม ทำไปเพื่ออะไร ก็เป็นการเยียวยาที่สำคัญ”

“ดังนั้น ผมต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหามากกว่านี้ ถ้าภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ เข้าใจว่าข้างนอกมีกลุ่มบุคคล องค์กร และกระบวนการที่อุ้มฆ่าคน 9 คน พวกคุณก็ควรรักษาความปลอดภัย ใช้กลไกที่จะคลี่คลายคดีให้ได้”

ไม่เพียงเท่านั้น เต๋อยังพูดถึงการที่กระบวนการยุติธรรมต้องการหลักฐานจากการกรณีอุ้มหายว่า การอุ้มหายไปเฉยๆ มันไม่มีหลักฐานอะไร แล้วญาติที่เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นคนธรรมดา จะไปหาหลักฐานจากอะไร อำนาจก็ไม่มี เข้าถึงหลักฐานหรืออะไรที่เกี่ยวกับระบบราชการต่างๆ ก็ไม่ได้

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐอีกฝั่งหนึ่งที่คอยจะดูแลเรื่องนี้ในชื่อของศูนย์ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหาย บอกว่า ก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอุ้ม จึงเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้

“มันกลายเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์ ถ้าเราพูดถึงกฎหมาย มัน paradox มากๆ กับการที่บอกว่า มันจะต้องถูกพิสูจน์ให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนกระทำ คนที่อุ้มเลยเลือกใช้วิธีการอุ้มหาย เพราะจะได้ไม่มีหลักฐานไง”

ลูกชายของชัชชาญ กล่าวปิดท้ายว่า ผมคาดหวังว่าจะมีการปรับแก้ พ.ร.บ.โดยให้ญาติมีส่วนร่วมมากกว่านี้

การหายไปของพ่อ ที่พึ่งทางจิตใจก็ของเราก็หายไปด้วย

เต๋อ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ด้วยความที่พ่อเขาลี้ภัยไปประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะเจอเป็นศพ และก่อนหน้านั้นพ่อก็ไปอยู่ในกระบวนการคนเสื้อแดง เท่ากับว่าวิถีชีวิตของเขาและครอบครัวมันเซตไปอีกแบบหนึ่งแล้ว

“การหายไปของเขา การเจอศพเขา มันก็ไม่ได้กระทบกับวิถีชีวิตอะไรมากมาย เพราะว่าเราไม่ได้พึ่งพาเขาเยอะขนาดนั้น แต่กลายเป็นว่าที่พึ่งทางจิตใจของเราหายไป”

เขาพูดเสริมว่า ดังนั้นผมรู้สึกว่าสิ่งที่กระทบจริงๆ คือ เหมือน guardian angel ของผมหายไป เวลาที่เจอปัญหาอะไรสักอย่าง แล้วอยากจะเล่าให้ใครสักคนฟัง มันกลายเป็นว่าเขาหายไปแล้ว

ทั้งนี้ เขาย้ำว่าแต่เคสของพ่อผมมีการพบศพ จึงอาจไม่เหมือนหายไปเฉยๆ เรายังรู้สึกถึงการสิ้นสุดของการรอคอย ต่างกับกรณีที่ยังไม่เจอหลักฐานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็คงเป็นความเจ็บปวดอีกแบบหนึ่ง

“ด้านวิถีชีวิตไม่ได้กระทบ กระทบมากๆ เลย คือ ด้านจิตใจ ทุกวันนี้เวลาขับรถผ่านร้านของใช้ทหาร ผมก็คิดอยู่บ่อยครั้งว่าจะแวะดู เพราะเมื่อก่อนพ่อชอบให้ผมซื้อมีด ซื้ออะไรไปฝาก เพราะเขาคิดว่าเขาจะต้องเข้าป่าบ่อย แต่ผมก็จะคิดได้อีกสเต็ปหนึ่งว่า เราไม่ต้องซื้อแล้วนี่หว่า เขาตายไปแล้ว”

กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง

บี–พรพิมล มุกขุนทด ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงภาพรวมคดีที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมทนาย (CrCF) กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ว่า ส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับคดีที่ประชาชนถูกทรมาน ถูกอุ้มหาย ถูกกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยมีทั้งเคสที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว หรือแม้แต่การวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งมูลนิธิฯ จะนิยามคดีเหล่านี้ว่าเป็นฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะนี้กำลังให้ความช่วยเหลือเยอะพอสมควร โดยเฉพาะหลัง พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ ถูกบังคับใช้

แต่ถึงอย่างนั้นคดีส่วนใหญ่ที่มูลนิธิฯ ช่วยเหลือมักจะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับทหาร ซึ่งจุดสำคัญที่สังเกตเห็นระหว่างให้การช่วยเหลือทางคดีคือ ผู้เสียหายมักจะมีรูปร่างท้วม หรือมีการศึกษา สไตล์แบบหัวขบถในค่าย ตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังถูกสั่ง เช่น ทำไมเราต้องวิ่ง ทำไมเราต้องถูกแช่น้ำ

ส่วนกรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ถูกวิสามัญ หรือถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่นั่นต่างจากกรุงเทพฯ นอกเหนือจากนี้ ผู้เสียหายมักเป็นคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงกฎหมาย หรือว่าไม่ค่อยมีความรู้เรื่องข้อกฎหมาย คนเหล่านี้จะถูกละเมิดได้ง่าย

“ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย การต่อสู้คดี การรู้ถึงสิทธิของตัวเอง สำคัญมากสำหรับการดำเนินคดี บางครอบครัวตัดสินใจเซ็นยอมความ เซ็นประนีประนอมยอมความกัน จ่ายเงินแล้วก็จบ ผู้กระทำความผิดก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อ”

เธอเสริมถึงเรื่องการแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อไปศาล หน่วยงานรัฐ กระทรวง ที่กินเวลานาน คดีหนึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ครอบครัวผู้เสียหายหลายคนต้องทำงาน มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากมูลนิธิฯ

พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย ต้องถูกปรับแก้ให้ดีขึ้น

ทนายบี ระบุว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ บัญญัติขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีต เช่น เคสของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายวัย 18 ปี ที่ถูกตำรวจซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2552 เป็นกรณีที่พอไปแจ้งความ แล้วตำรวจไม่รับแจ้ง เนื่องจากผู้กระทำผิดอยู่สถานีตำรวจนี้

“ความอิสระในการตรวจสอบคดีนั่นยากมาก ดังนั้นพอเรามีตัวอย่างเคสนี้แล้ว ก็เลยนำมาสู่การบัญญัติ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน ที่ระบุว่า 4 หน่วยงานหลักที่สามารถรับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ได้ คือ อัยการ กรมการปกครอง DSI แล้วก็ตำรวจ”

เธอระบุต่อ อัยการมีหน้าที่รับเรื่อง และยังสามารถกำกับการสอบสวนของตำรวจได้อีกด้วย ฉะนั้นแล้วกลไกการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกัน เราคิดว่ามันยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างอัยการ ตำรวจ หรือกรมการปกครอง ที่ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.อยู่พอสมควร

บางหน่วยงานไม่กล้าใช้อำนาจของตัวเองตามที่มีใน พ.ร.บ.เลยด้วยซ้ำ และอย่างเคสทหารที่เกิดขึ้นในค่าย บางกรณีอัยการเป็นคนบอกให้เราไปหาพยานที่อยู่ในค่ายมา นึกภาพออกไหม ให้ประชาชนไปตามหาพยานที่อยู่ในการดูแลของค่าย แล้วเอาไปให้อัยการ ทั้งๆ ที่อัยการสามารถลงพื้นที่ไปเรียกหาคนที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนได้เลย แต่เขากลับไม่ทำ

“ถ้าถามว่ากลไกการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มันดีขึ้นไหม มันดีขึ้น แต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหละอยากจะทำ หรือใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ไหมมันก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สอดคล้องกับคำพูดของ สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโส และ พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่เสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานรัฐ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ที่งาน “Echoes of Hope: ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนานี้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การทรมานและอุ้มหายเป็นอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ 2 ปีผ่านมา พบว่ายังไม่มีกรณีใดที่นำเจ้าหน้าที่รัฐมารับโทษในกระบวนการยุติธรรมได้ (ยกเว้นกรณีของพลทหารวรปรัชญ์ ที่ปัจจุบันมีคำตัดสินแล้ว) แม้จะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

โดยในรายงานของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินคดีในประเทศไทยยังเต็มไปด้วยอุปสรรค การสอบสวนยังไม่มีความเป็นอิสระ ระบบคุ้มครองพยานยังไม่เข้มแข็ง จนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบได้ และยังพบวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงหยั่งรากลึกอยู่

“ที่ผ่านมาเราเห็นชัดว่าการทรมานและอุ้มหายยังเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ ขณะที่ครอบครัวของผู้เสียหายยังต้องอยู่กับความเจ็บปวดและคำถามที่ไม่มีคำตอบ ทางการไทยต้องพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่แค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศดูดีเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องทำให้เห็นว่ากฎหมายสามารถเป็นกลไกที่นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคืนความจริงให้กับผู้ที่ยังรอคอยได้”

ขณะที่ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ก็แสดงความกังวลเช่นเดียวกันว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สองปีผ่านไปแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติยังเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งด้านการนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ และการเยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัว

ทนายบีกล่าวในทำนองเดียวกันว่า อีกปัญหาสำคัญคือผู้เสียหายหลายคนไม่ได้รับค่าชดเชย หรือการเยียวยาภายใต้กรอบกฎหมายนี้ เนื่องจากความล่าช้าในการออกร่างข้อระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงเท่านั้นการตีความระเบียบเยียวยาใน พ.ร.บ.ยังมีปัญหาอยู่มากเช่นกัน อย่างเคสการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือเคสทรมาน เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานตาม พ.ร.บ.มีแนวทางในการให้เงินเยียวยาเราได้ มีเคสหนึ่งที่ได้รับมาแล้ว แต่ในส่วนของเคสอุ้มหายยังมีปัญหา

“เจ้าหน้าที่ยังไม่กล้าที่จะพิจารณาคดีอุ้มหาย ไม่กล้าฟันธงว่าเรื่องนี้สร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายจริงๆ เขาใช้วิธีการบอกปัดให้เรื่องนี้อยู่นอกกระบวนการเยียวยา หรืออาจไม่ได้นำมารับผิดชอบโดยตรงโดยสํานวน”

เธอพูดปิดท้ายว่า เพื่อป้องกันการเกิดกรณีทรมานอุ้มหาย อย่างแรกเลยรัฐต้องมีความจริงใจในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. กล้าที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดคนนั้นจริงๆ โดยไม่ใช้วิธีการโยกย้ายไปหน่วยงานอื่น หรือว่าพักราชการชั่วคราว

อ้างอิงจาก

thematter.co (1)

facebook.com

prachatai.com

crcfthailand.org

amnesty.or.th

Photographer: Channarong Aueudomchote
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editor: Thanyawat Ippoodom

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก The MATTER

พลังงานลม กับบทบาทใหม่ ที่จะเปลี่ยนอนาคตของการใช้พลังงาน

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

นักวิชาการบางกลุ่มซ่อน prompts ให้ AI อ่านแล้วรีวิวเชิงบวก ย้ำความกังวลต่อบทบาท AI ในแวดวงวิชาการ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

อดีตแม่ยก ปชป.-ลุงสุทิน อัดโฆษกเพื่อไทยหน้าหงาย ยันรัฐบาลชวนไม่เคยปรึกษาทักษิณ

ไทยโพสต์

“อิ๊งค์” เดินหน้าอุดหนุนวงการบันเทิงไทยขับเคลื่อน ศก.

THE ROOM 44 CHANNEL

ฝนเท ไม่ท้อ รอรำลึก 1 ปี 2 เดือน บุ้ง เทียบมาตรฐานทักษิณ ทวงนิรโทษปชช.

MATICHON ONLINE

‘อิ๊งค์’ เดินหน้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ชูมาตรการจูงใจภาษี-คืนเงืน

เดลินิวส์

กกต.สรุปวันแรก เพื่อไทย-ภูมิใจไทยส่ง 2 ผู้สมัครชิงเก้าอี้ สส.เขต 5 ศรีสะเกษ

เดลินิวส์

'อนุทิน' เมิน'ทักษิณ'ไม่เกิดประโยชน์ 'นายกฯ' อยากร่วมรัฐบาลแต่ไม่มั่นใจพ่อ

กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวและบทความยอดนิยม

โทษจำคุก 26 ปี 37 เดือน 20 วัน รวมคดี ม.112 ที่ ‘อานนท์ นำภา’ กำลังเผชิญ

The MATTER

‘ไทยถูกเก็บภาษี 36%’ ส่องภาษีทรัมป์กับประเทศเอเชีย ใครเพิ่ม ใครลด?

The MATTER

รัฐประหารไม่ใช่ทางออก และแก้ไขปัญหาไม่ได้ ฟังเหตุผลที่ไม่ควรเรียกร้องหารัฐประหาร

The MATTER
ดูเพิ่ม