พลังงานลม กับบทบาทใหม่ ที่จะเปลี่ยนอนาคตของการใช้พลังงาน
ทุกคนต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่นำไปสู่ภาวะโลกเดือดในทุกวันนี้ เกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศ
ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการมใช้ชีวิตของมนุษย์ การเผาไหม้จากการใช้พลังงานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเราอย่างหนัก
โดยเฉพาะในประเทศไทยเอง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิกว่า 300-400 ล้านตันต่อปี รวมถึงติดหนึ่งในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในลำดับที่ 20-25 ของโลก เรียกว่าสูงไม่น้อยเลยทีเดียว
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จึงเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นทางออกสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาโลกเดือด ด้วยการลดใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญคือ ‘พลังงานลม’ แหล่งพลังงานสะอาด ที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนในระหว่างกระบวนการผลิตไฟฟ้า ลองไปเปิดใจทำความรู้จัก บทบาทใหม่ของพลังงานที่จะเปลี่ยนอนาคตของการใช้พลังงาน
ทำไมต้องพลังงานลม
พลังงานลมเป็นหนึ่งในพลังงานจากธรรมชาติ ที่อาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดดันของบรรยากาศ และแรงจากการหมุนของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเร็วลมและกำลังลม จุดเด่นสำคัญคือเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดไป และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
ความน่าสนใจของพลังงานลม คือการมี Capacity Factor หรืออัตราส่วนของพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้ต่อปี เทียบกับขนาดกําลังการผลิตของโรงไฟฟ้า ซึ่งสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์เสียอีก นั่นหมายความว่า ด้วยขนาดกำลังการผลิตเท่ากัน โรงไฟฟ้าพลังงานลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะสามารถทำงานได้เกือบตลอดทั้งวัน ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ ทำงานได้เฉพาะกลางวันที่มีแดดมากระทบแผงโซลาเซลล์เท่านั้น
กลบจุดอ่อนด้วยนวัตกรรม
แม้ว่าพลังงานลมจะมี Capacity Factor ที่สูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่จุดอ่อนของพลังงานลม คือเป็นพลังงานธรรมชาติที่ไม่เสถียร เพราะในบริเวณหนึ่ง มักไม่ได้มีลมแรงคงที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
โรงไฟฟ้าพลังงานลมจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไข นั่นก็คือ ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Battery Energy Storage System (BESS) หรือเรียกง่ายๆ ว่าการใช้แบตเตอรี่มาช่วยเก็บพลังงานที่ผลิตได้ในช่วงที่ลมแรง และช่วงไหนที่ลมเบา ระบบก็จะปล่อยพลังงานออกมาช่วยเสริมเพื่อทดแทน จึงจะสามารถผลิตพลังงานได้คงที่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล
การร่วมมืออย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดอ่อนสำคัญของการใช้พลังงานลม คือบริเวณที่มีลมแรงมักอยู่ไกลจากแหล่งที่ใช้พลังงาน อย่างเช่นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ ทำให้การส่งต่อพลังงานไฟฟ้าไปใช้งาน จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานในการส่งพลังงานจากสถานที่ผลิตไปยังผู้บริโภคหรือโรงงาน ผ่านสายส่งของการไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว
การให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถซื้อไฟฟ้าได้โดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยใช้สายส่งของการไฟฟ้านี้ เรียกว่า Third Party Access หรือการอนุญาตให้เอกชนใช้ระบบสายส่งร่วมกัน จึงทำให้เกิดระบบ Wheeling Charge หรือการจ่ายค่าบริการให้กับการไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้ และช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างและบริหารระบบไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าต้องรับภาระอยู่นั่นเอง เรียกว่าเป็นธรรมทั้งสำหรับผู้ผลิตพลังงานที่เป็นเอกชน และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานอย่างหน่วยงานรัฐ ได้ร่วมกันสนับสนุนการใช้พลังงานลมอย่างยั่งยืน
ลองจินตนาการถึงสถานะที่แหล่งพลังงานลม สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลและผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถเลือกได้เองว่า จะใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานจากแหล่งเดิม ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี และผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน สร้างอนาคตที่ยั่งยืน และที่สำคัญคือการดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทระดับโลก ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Writer: Wichapol Polpitakchai
Graphic Designer: Phitsacha Thanawanichnam