นักวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมออสเตรเลียพบหลักฐานความขัดแย้งพื้นที่สู้รบระหว่างไทยกับกัมพูชา
นาธาน รูเซอร์ (Nathan Ruser) นักวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและ Open-Source Intelligence (OSINT) ทำงานให้กับสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute - ASPI) เผยข้อมูลสำคัญระบุว่า "ความขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งยกระดับในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มเริ่มต้นจากฝั่งกัมพูชา โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในพื้นที่ขัดแย้ง"
นายรูเซอร์เปิดเผยว่า เขาได้ตรวจสอบกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ชายแดนอย่างละเอียด และพบว่าทหารกัมพูชาได้เริ่มเสริมกำลังในหลายจุดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปะทุในรอบปัจจุบันที่ยังคงยืดเยื้อ โดยกัมพูชายังได้เร่งส่งทรัพยากรและยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมทันทีหลังเหตุการณ์นั้น ซึ่งแสดงถึงการเตรียมการล่วงหน้า
สิ่งที่สนับสนุนข้อสังเกตของเขา คือ แผนที่ความหนาแน่นของกิจกรรมทางทหาร (Heatmap) ที่แสดงการเคลื่อนไหวและการรวมกำลังของทหารกัมพูชาบริเวณชายแดนก่อนวันที่ 24 กรกฎาคม โดยภาพแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นในหลายพื้นที่ของฝั่งกัมพูชา ซึ่งไม่ได้พบลักษณะเดียวกันจากฝั่งไทยในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับนาธาน รูเซอร์ (Nathan Ruser) เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ครอบคลุมพื้นที่ขัดแย้งสำคัญทั่วโลก เช่น ยูเครน พม่า และตะวันออกกลาง ข้อมูลของเขามักถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลักระดับโลก ทั้ง CNN, BBC และ Al Jazeera ซึ่งยืนยันถึงความน่าเชื่อถือในกระบวนการวิเคราะห์ที่อิงหลักฐานภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถบิดเบือนได้
ในแถลงการณ์บางส่วนของนาธาน รูเซอร์ (Nathan Ruser) ระบุว่า "ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมลักษณะนี้ไม่สามารถดัดแปลงได้ และชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฝ่ายใดเริ่มการเคลื่อนไหวก่อน ขอให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"
ข้อค้นพบของนาธาน รูเซอร์จึงถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งในรอบปัจจุบันนี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากฝั่งไทยอย่างที่บางฝ่ายกล่าวอ้าง แต่มีการเคลื่อนไหวเชิงรุกจากกัมพูชาก่อนล่วงหน้า และมีการเตรียมยุทธศาสตร์สนับสนุนตามมาทันทีหลังเกิดเหตุการณ์
ในขณะที่สถานการณ์ตามแนวชายแดนยังคงตึงเครียด ข้อมูลจากนักวิเคราะห์อิสระระดับนานาชาติในลักษณะนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการชี้แจงต่อประชาคมโลก และอาจมีผลต่อท่าทีของนานาประเทศในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทบ. เชิญคณะกรรมการผู้ช่วยทูตทหารฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
- Save the Children กังวลการโจมตีไม่เลือกเป้าหมายบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พลเรือน-เด็กเสียชีวิต
- เปิดจดหมายผู้แทนไทย ชี้แจง UNSC กัมพูชาวางกับระเบิด เปิดฉากยิงก่อน
- กองทัพบก ชวนคนไทยร่วมประดับธงชาติ เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย
- ผู้แทนไทยยื่นหนังสือ UNSC จี้กัมพูชายุติสู้รบ - เข้าเวทีเจรจาอย่างจริงใจ