สว.ชีวะภาพ บุกคลิตี้!พบกากแร่ตะกั่วเพียบ ชี้เป็นบทเรียนรัฐต้องแก้ถาวร
วันที่ 25 ก.ค.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะทำงานคนสำคัญ ได้แก่ นายกิติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง, นายสัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา โฆษกคณะกรรมาธิการ, นายกัมพล ทองชิว ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ, นายสมชาย นุ่มพูล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ, นายบุญเชิด ลีลาคุณากร อนุกรรมาธิการด้านทรัพยากรทางบก, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ , นายธีรวิทย์ โชติ อนุกรรมาธิการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มลพิษ และสิ่งแวดล้อม
ได้ลงพื้นที่ไปยังเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เก่า บริเวณบ้านห้วยคลิตี้บน ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยมีนายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี , นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ , นายอรรคนิตย์ กลางประพันธ์ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู , ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำคณะเข้าตรวจสอบความคืบหน้าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และการขนย้ายแร่ของกลางที่ได้จากการประมูลตามกฎหมาย โดยเฉพาะจุดทิ้งกองกากหางแร่ที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ชุมชนมากกว่า 8 จุด ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ริมลำห้วยคลิตี้เกิดความกังวลว่าในช่วงฤดูฝนของทุกๆปีจะเกิดการชะกากหางแร่ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วลงมายังพื้นที่อยู่อาศัยภายในชุมชน , พื้นที่การเกษตร และลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆของชาวบ้าน
นายชีวะภาพ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า คณะกรรมาธิการฯ มีความห่วงใยต่อแผนงานการฟื้นฟูที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการไปในระดับหนึ่ง พร้อมย้ำว่า กรณีหมู่บ้านคลิตี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศจะต้องไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกจากการทำเหมืองและอุตสาหกรรม แม้ว่าอุตสาหกรรมจะจำเป็นต่อการเติบโตของประเทศ แต่ต้องมีการควบคุมที่เข้มงวดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน
"หลายหน่วยงานได้ร่วมมือกันฟื้นฟูพื้นที่ แต่ยังต้องประเมินผลว่าแผนงานสัมฤทธิ์ผลหรือไม่" นายชีวะภาพกล่าว "ประชาชนในพื้นที่ยังต้องการให้กำจัดกากแร่ที่หลงเหลืออยู่หลายแสนตันออกไปจากชุมชนอย่างถาวร"
ประธานคณะกรรมาธิการฯยังได้เสนอให้กรณีคลิตี้เป็น "บทเรียนและแม่แบบ" สำหรับการจัดการปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักในลำน้ำกก จ.เชียงราย โดยมีการเสนอให้ปรับปรุงมาตรการ กฎระเบียบ และกฎหมาย เพื่อให้การทำเหมืองในอนาคตต้องมีการ "การันตีความรับผิดชอบและความโปร่งใส" โดยบริษัทที่ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทั้งหมด ไม่ใช่ภาระของงบประมาณภาครัฐ อีกต่อไป.