ทางเลือก
การเมืองเดินมาสู่การตีความด้านกฎหมายอีกครั้ง แม้เราๆท่านๆจะได้เคยทราบและรับรู้ถึงความเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีว่าทำสิ่งใดได้บ้าง โดยในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พล.อ.ประยุทธ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรักษาราชการแทน “ทำได้ทุกอย่าง”
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ว่า “การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีและการยุบสภา เป็นอำนาจเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น”
โดยอธิบายว่า เป็นหลักการของกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภาแบบ Westminster เป็นไปตาม “หลักความไว้วางใจ”
“…คือ ประเทศไทยจะเห็นได้ชัดในประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความสรุปว่า ประธานสภา …. กราบบังคมทูลว่าสภาลงมติไว้วางใจให้ นาย/นางสาว … เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนกรณีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ชัดเจนว่า บัดนี้นาย/นางสาว … นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นรัฐมนตรี
จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความไว้วางใจมาเป็นทอดๆ และพระมหากษัตริย์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามที่สภาเสนอและประธานสภานำความกราบบังคมทูล หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลว่าสมควรไว้วางใจ
โดยนัยนี้เอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ จึงไม่มีอำนาจเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือเสนอให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพราะ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี นั้นเป็นเพียงรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก นายกรัฐมนตรี เฉกเช่นเดียวกับ รัฐมนตรี คนอื่น ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จึงจะแต่งตั้งหรือปลด รัฐมนตรี คนอื่นๆ มิได้
หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี จะเสนอให้ยุบสภา ถ้ายังมีผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อยู่ ยิ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากเป็นเพียงผู้ซึ่ง นรม. ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นผู้สมควรไว้วางใจ ให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น การยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะของ นายกรัฐมนตรี เท่านั้น…”
หากอ่านตามนี้ ในห้วงที่นายภูมิธรรมรักษาราชการแทนนากยรัฐมนตรี คงไม่อาจเพิกเฉยต่อความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ก็น่าสนใจว่านายวิษณุก็เป็นกรรมการกฤษฎีกาอยู่ด้วย รัฐบาลจะเลือกฟังใครเพราะนั่นหมายถึงทางเลือกในมือจะยิ่งตีบตัน