เจาะปม ‘เงินบาท’ ทำไมแข็งค่าต่อเนื่อง แม้ ‘ทรัมป์’ ประกาศเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36%
แม้มีความกังวลกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศจะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% แต่เงินบาทกลับยังแข็งค่าอยู่ได้ โดย Year to Date เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นเกือบ 6% เป็นเพราะอะไร
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ระบุว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยสูงถึง 36% และตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศดูอ่อนแอ แต่เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว
โดยมีปัจจัยหลักมาจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เนื่องจากความเชื่อมั่นในสินทรัพย์สหรัฐฯ ลดลง และตลาดมองว่าการประกาศขึ้นภาษีในอดีตที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ มักจะไม่เป็นไปตามที่พูดทั้งหมด โดยมีการตั้งฉายาให้ทรัมป์ว่า ‘Trump always chicken out’ ซึ่งหมายถึงการที่ทรัมป์มักจะประกาศแต่ไม่ดำเนินการจริง หรือมีการปรับลดเงื่อนไขลงในภายหลัง รวมทั้งตลาดการเงินเริ่มมีความคุ้นชินกับข้อมูลของสถานการณ์ภาษีสหรัฐฯ ไปแล้ว
ดังนั้น ปฏิกิริยาของตลาดต่อการประกาศภาษีจึงไม่รุนแรงมากนัก สกุลเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาท จึงไม่ได้รับผลกระทบให้บาทอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ มองว่าการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ โดยมีการประกาศอัตราภาษีเป็นรายประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศแบบ Across the Board ซึ่งสร้างความกังวลและส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าอย่างรุนแรง แต่ในครั้งนี้เป็นการประกาศเก็บภาษีทีละประเทศ ทำให้ปฏิกิริยาของตลาดไม่รุนแรงเท่าเดิม สินทรัพย์สหรัฐฯ ไม่ได้ถูกเทขายอย่างหนัก และดอลลาร์ยังคงทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้นได้ในบางวัน
แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปประมาณ 30 สตางค์ หรือคิดเป็น 1% ในช่วงแรกหลังการประกาศ แต่ด้วยความที่ตลาดมองว่าทรัมป์จะไม่ดำเนินการเก็บภาษี 36% จริงจัง ทำให้เงินบาทกลับมาที่ระดับเดิม และหากดูตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน (Year to Date) เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นเกือบ 6%
ปัจจัยหนุนบาทแข็งจากราคาทองคำขยับขึ้น-แรงหนุนเงินหยวนแข็งค่า
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ได้แก่
เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับอิทธิพลจากราคาทองคำค่อนข้างมาก โดยเมื่อราคาทองคำปรับสูงขึ้น เงินบาทก็มักจะแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ราคาทองคำมักจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย
เงินบาทมีความสัมพันธ์ (Correlation) กับเงินหยวนของจีนค่อนข้างสูง หรือประมาณ 60% และในช่วงที่ผ่านมา เงินหยวนก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น
คาดแนวโน้มเงินบาทครึ่งปีหลัง แข็งค่าต่อได้แต่ไม่มาก
วชิรวัฒน์ มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อไปได้อีกเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 โดยมีเหตุผลหลักมาจากแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่มองว่าเทร็นด์การลงทุนในปี 2025 แตกต่างจากปี 2023 – 2024 ที่นักลงทุนแห่ลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า แต่ในปีนี้ นักลงทุนพยายามกระจายความเสี่ยงออกจากสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางในเอเชียมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้การถือครองพันธบัตรเอเชียได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และยังมีโอกาสได้รับผลบวกจากค่าเงินเอเชียที่แข็งค่าขึ้นด้วย
นอกจากนี้ มุมมองต่อเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ที่ลดลงหลังมาตรการงบประมาณล่าสุดที่อาจทำให้ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคอื่น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง โดยกรอบที่คาดการณ์ไว้สิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 31.50 – 32 50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นได้สะท้อนในราคาไปพอสมควรแล้ว
แนะต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชี้นำทิศทางดอลลาร์
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไปคือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อที่จะประกาศในคืนนี้ หากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่น 0.3% เดือนต่อเดือน อาจส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้ แต่หากตัวเลขออกมาต่ำกว่าที่คาด เช่น 0% หรือ 0.1% ใกล้เคียงกับช่วงเดือนก่อนหน้านี้ จะยิ่งหนุนให้ดอลลาร์อ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อีกในระยะสั้น
นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 3.4 – 4 ล้านล้านดอลลาร์ ใน 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการงบประมาณล่าสุดที่ผ่านออกมา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ลดลง และนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์และโยกย้ายเงินลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้นทั้งในตลาดยุโรปกับเอเชีย
สำหรับกรณีที่หุ้นสหรัฐฯ ยังคงทำ New High แต่ดอลลาร์กลับไม่อ่อนค่า คำตอบคือ แม้จะมีเงินลงทุนบางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่นักลงทุนเหล่านี้มักจะทำประกันความเสี่ยง (Hedging) ด้วยการทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) เพื่อขายดอลลาร์ในอนาคต ทำให้ผลกระทบต่อตลาดเงินสด (Spot Market) ไม่เกิดขึ้นและดอลลาร์จึงไม่แข็งค่าตามไปด้วย