ชี้ช่องทางทำเงิน ตลาดผู้สูงวัย "เศรษฐกิจสีเงิน" สินค้าบริการโตแรง วัยเก๋าก็ทำงานได้
"เงิน" อยู่ในอากาศ เราจะคว้ามันมาได้รึเปล่า?
ทำความรู้จักเทรนด์แห่งอนาคตสำหรับประเทศไทยและทั่วโลก ช่องทางทำเงินที่ทุกคนต้องรู้ โอกาสทองสำหรับเศรษฐกิจไทย ด้วยมูลค่าตลาดที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะพุ่งไปถึง 3.5 ล้านล้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว
เศรษฐกิจสีเงิน หรือ Silver Economy คือ เศรษฐกิจผู้สูงวัย เศรษฐกิจที่เติบโตได้จากกำลังซื้อของวัยเก๋า ประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 20 % หรือคิดเป็นกว่า 14ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ ที่มีความท้าทายหลายด้านสำหรับการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติประเมินว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2643 (หรือปี 2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรรวมทั่วโลก ซึ่งนับเป็นความท้าทายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมของทุกประเทศทั่วโลก
ขณะที่ประเทศไทยของเราเองก็อยู่ในภาวะที่ต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน โดยข้อมูลจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าประเทศไทยกำลังจะยกระดับตัวเอง ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ภายในเวลาอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้แล้ว หรือภายในปี 2576 ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ส่วนวัยแรงงานลดลงเหลือ 58 % และวัยเด็กมีสัดส่วนอยู่ที่ 14% ก่อให้เกิดความท้าทายต่อเศรษฐกิจ ทั้งจากการขาดแคลนแรงงาน ผลิตภาพแรงงานที่ลดลง และยังมีภาระด้านสวัสดิการต่างๆที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ป่วยจากวัยชรา และการดูแลเมื่อสู่วัยเกษียน
แต่ในขณะเดียวกัน นี่เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสทองด้วยเช่นกัน สำหรับการพัฒนา "เศรษฐกิจสูงวัย” (Silver Economy) ที่มีตลาดรองรับและกำลังซื้อ ทั้งการผลิตสินค้าและบริการที่เหมาะสม และการปรับเปลี่ยน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีบทบาทมากขึ้นในฐานะแรงงานระบบเศรษฐกิจ
มีการศึกษายืนยันว่า ตัวเลขของตลาดผู้สูงวัยนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ ข้อมูลจากการศึกษาของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยTDRI พบว่าในปี 2566 รายจ่ายเพื่อการบริโภคของผู้สูงอายุมีมูลค่าสูงถึง 2.18 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.5 ล้านล้านบาท ภายใน 8 ปี หรือปี 2576 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านและอาหาร
นอกจากนี้รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจะเพิ่มจาก 6.4 แสนล้านบาท ในปี 2567 เป็น 8.8 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้สูงอายุทำงาน 6.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 37% ของผู้สูงอายุทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 36.6% ในปี 2566
อย่างไรก็ตามก็พบด้วยว่ามีปัญหาหลายด้านที่ต้องแก้ไข เช่น การมีเงินออมต่ำ หนี้สิน และการออกจากตลาดงานก่อนวัยอันควร ทั้งที่ยังมีสุขภาพดี นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มาฉุดรั้งการเติบโตของตลาดได้
สินค้าและบริการอะไรบ้างที่ตอบโจทย์ชาววัยสีเงิน
ข้อมูลจาก TDRI ระบุว่าศักยภาพและโอกาสของสินค้าและบริการในกลุ่มสังคมสูงวัยมี 4 กลุ่ม ได้แก่
1.ด้านที่อยู่อาศัย
เช่น การรวมกลุ่มของผู้สูงอายุเพื่อทำกิจกรรมในชุมชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในช่วงวัยต่าง ๆ และบริการปรับปรุงบ้านตามหลัก Universal Design
2.ด้านอาหาร
เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารเคี้ยวง่าย และอาหารเพื่อกลุ่มผู้เป็นโรค NCD
3.ด้านสุขภาพ
เช่น การบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ สินค้าทางการแพทย์ นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และบริการการวางแผนในช่วงสุดท้ายของชีวิต
4.ด้านนันทนาการ
เช่น แพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้และทำกิจกรรม และบริการรถรับ-ส่ง การเป็นเพื่อนและพาทำกิจกรรมที่สนใจ โดยสินค้าและบริการที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเข้าไปทำงานได้ เช่น การรวมกลุ่มพัฒนาสินค้าชุมชน การเป็น ผู้ดูแล คือ บุคคลที่ให้การดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (Caregiver) ที่ยังคงขาดแคลน การสร้างรายได้ออนไลน์จากงานอดิเรก หรือเป็น อินฟลูเอนเซอร์สูงวัย(Granfluencer)
ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่ามี 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย คือ
1.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2.การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม
3.การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
4.ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะสร้างโอกาสเติบโต
ทั้งนี้ทางสภาพัฒน์และTDRI มีข้อเสนอแนะสำหรับทุกภาคส่วนสำหรับรองรับการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้โดยแบ่งเป็น
ด้านอาหาร ควรกำหนดมาตรฐาน การให้ข้อมูลเพื่อการบริโภคที่เหมาะสม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมการแข่งขันของธุรกิจรายใหม่ขนาดเล็ก
ด้านที่อยู่อาศัย สนับสนุนภาคธุรกิจในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีกำลังซื้อหรือมีความจำเป็นเฉพาะด้าน และการใช้วัสดุและนวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย
ด้านการส่งเสริมสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยก่อนเกษียณ และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการผลิตสินค้าและอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพขั้นสูง
ด้านบริการ ส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การประกันภัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว และหากต้องการสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุ
แรงงานในระบบ ควรมีมาตรการ Second Job/Career โดยเตรียมการทั้งด้านทักษะและ Mindset เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางด้านอาชีพทั้งในวัยก่อนและหลังเกษียณ Re-employment โดยผลักดันการออกกฎหมายเพื่อการจ้างงานหลังเกษียณในตำแหน่งที่เหมาะสม และการยืดอายุเกษียณทั้งในภาครัฐและเอกชน
ส่วนแรงงานนอกระบบ ควรพัฒนาทักษะ Hard และ Soft skill การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ และการจับคู่งานในชุมชน เพื่อลดอุปสรรคด้านการเดินทาง ทั้งนี้ กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูงวัยต้องลดความเป็น Silo คือพฤติกรรมหรือความคิดที่หน่วยงานหรือแผนกต่าง ๆ ภายในองค์เดียวกันไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือความรู้ระหว่างกัน และปรับเปลี่ยนจากมุมมองการสงเคราะห์คนแก่ เป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
แรงงานสูงวัย คือ ทางเลือกและทางรอด
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยข้อมูลในปี 2567 ว่า ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นที่ทำงานอยู่ 5.26 ล้านคน คิดเป็น 37.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 5.11 ล้านคน หรือ 37.5% โดยส่วนใหญ่เป็น ผู้ทำงานส่วนตัว ไม่มีลูกจ้าง 64.4% ตามด้วย ผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง 19.7% ส่วนที่เหลือเป็นลูกจ้าง 12.4% และนายจ้าง 3.5%
สำหรับประเภทงานที่ผู้สูงอายุทำ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม 57.7% ตามด้วย ภาคบริการและการค้า 32.4% และ ภาคการผลิต 9.9% ที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 6,826 – 14,612 บาท
ส่วนอาชีพหลักของผู้สูงอายุ ส่วนมากยังเป็น ผู้มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง 55.4% ตามด้วยพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า 20.4% ผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน 8% ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 7.5% และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ อีก 8.7%
ซึ่งข้อมูลทั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยตอนนี้เรายังมีสัดส่วนการจ้างงานของผู้สูงอายุน้อยเกิดไป คือ มีอยู่เพียง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และปัญหาที่พบ คือ การประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ โดยส่วนมากยังกระจุกอยู่ในภาคใช้แรงกาย ไม่ได้ใช้ทักษะหรือประสบการณ์ แถมค่าตอบแทนก็ต่ำอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารกลางหลายประเทศ หันตุนทองคำจากเหมืองในประเทศ ชี้ราคาถูก-หนุนท้องถิ่น
- อัตราการเกิดน้อย คนแก่เยอะ ประชากรเกาหลีลดฮวบ อีก 100 ปี เหลือเพียง 15% ของปัจจุบัน
- "พาณิชย์" กางแผนครึ่งปีหลัง กันสวมสิทธิ - เยียวยาธุรกิจ ยกระดับดูแลส่งออกไทย
- ผลิตอเมริกากี่โมง "Trump Mobile" ธุรกิจใหม่ครอบครัวทรัมป์ ขายฝัน? "Made in USA"
- "พิชัย" เรียกถกด่วน เอกชน-รัฐ รับมือไทย-กัมพูชา ยึดความมั่นคง ลดกระทบเศรษฐกิจ