"แคนาดา" ถอนเสนอซื้อ 7-11 ญี่ปุ่น เจรจาไม่คืบ
ทั้งนี้ คูช-ตาร์ระบุในแถลงการณ์ว่า ไม่มีการเจรจาอย่างจริงใจหรือสร้างสรรค์จากเซเว่นแอนด์ไอที่จะช่วยให้สามารถเดินหน้าข้อเสนอใด ๆ ได้ ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างต่อสาธารณะของผู้แทนบริษัท
ด้านเซเว่นแอนด์ไอแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของคูช-ตาร์ และไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ที่ไม่ถูกต้องหลายประการ
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นของเซเว่นแอนด์ไอได้ถูกระงับในวันนี้ (17 ก.ค.) หลังจากคูช-ตาร์ประกาศถอนข้อเสนอซื้อกิจการเซเว่นแอนด์ไอมูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
เซเว่นแอนด์ไอ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) ในญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อปีที่แล้วว่า บริษัทได้รับข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านเยน (4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากคูช-ตาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซอร์เคิล เค (Circle K) ของแคนาดา
เซเว่นแอนด์ไอปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการจากคูช-ตาร์เมื่อปี 2567 โดยคูช-ตาร์เคยยื่นข้อเสนอครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค.ปีก่อนที่ 14.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากเซเว่นแอนด์ไอระบุว่า ราคาดังกล่าวเป็นการประเมินมูลค่าบริษัทต่ำเกินไป
ต่อมาในเดือนต.ค. คูช-ตาร์ปรับข้อเสนอเพิ่มขึ้นกว่า 22% เป็น 18.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมราว 7 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
คูช-ตาร์ระบุว่า ตามที่เราได้ย้ำหลายครั้ง เราเชื่อว่าการควบรวมบริษัททั้งสองอย่างเต็มรูปแบบเป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถเดินหน้าการควบรวมนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้นำเซเว่นแอนด์ไอและคณะกรรมการพิเศษ
นอกจากนี้ เซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิงส์ ได้เปลี่ยนตัวประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จาก เรียวอิจิ อิซากะ มาเป็น สตีเฟน ดาคัส กรรมการอิสระภายนอกในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไม่เปิด"ตลาดรถญี่ปุ่น"เตรียมโดนภาษีนำเข้าร้อยละ 25
- ญี่ปุ่นสร้างถ้ำลึก 94 เมตร หวังศึกษา “ต้นกำเนิดของสสาร”
- ฝึกงานญี่ปุ่น! เปิดรับ "สาวไทย" เงินเดือนดี สมัครออนไลน์ ฟรี 21-27 ก.ค. นี้
- บริษัท"รถยนต์ญี่ปุ่น" ยอมหั่นราคายนต์ส่งออกไปสหรัฐฯ หวังลดผลกระทบ"ภาษีทรัมป์"
- รัฐบาลญี่ปุ่น หนุนปลูกข้าวแก้ปัญหาราคาแพง