มุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อปัญหานิวเคลียร์ ระหว่างอิหร่านและเกาหลีเหนือ
ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
บนพื้นหลังความขัดแย้งทั้งอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ต่างมีความตึงเครียดทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกมายาวนาน โดยอิหร่านถูกคว่ำบาตรหลังการปฏิวัติอิสลามในปีค.ศ.1979 และสหรัฐฯพยายามที่จะทำการล้มรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนการจลาจลและการก่อการร้ายภายใน กับการกระตุ้นให้ซัดดัมฮุสเซน ทำสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน
ส่วนเกาหลีเหนือนั้นมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯในช่วงสงครามเกาหลี ที่เกาหลีเหนือยกกำลังบุกเกาหลีใต้เพื่อรวมชาติ ในขณะที่สหรัฐฯอาศัยมติของสหประชาชาติ เป็นผู้นำกองกำลังหลายชาติในนาม UN เข้าปกป้องเกาหลีใต้
สำหรับเป้าหมายในการพัฒนานิวเคลียร์นั้น อิหร่านได้ประกาศตนตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ค้างการก่อสร้างไว้ ตั้งแต่สมัยก่อนการปฏิวัติอิสลาม โดยเยอรมันถอนตัวออกไปและต่อมาอิหร่านได้พัฒนาด้วยตนเอง จนในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือจากรัสเซีย ดำเนินการจนสำเร็จ และเปิดดำเนินการเมื่อปีค.ศ.2011 คือโรงไฟฟ้าที่ BUSHEHR
อย่างไรก็ตามการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่าน กลับไปสร้างความกังวลกับอิสราเอล เพราะเกรงว่าอิหร่านจะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงหาทางขัดขวางและชักจูงให้สหรัฐฯ นำกลุ่มประเทศตะวันตกมากดดัน และทำการแซงก์ชัน จนในที่สุดก็มีการทำข้อตกลงในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ที่เรียกว่า JCPOA แต่พอทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก ก็ประกาศถอนตัวฝ่ายเดียวจาก JCPOA ในปีค.ศ.2018 ทั้งที่ทางอิหร่านมิได้ทำผิดเงื่อนไขของ JCPOA และยังคงให้องค์การนิวเคลียร์สากลของสหชาติ (IAEA) เข้าตรวจสอบตามปกติ ภายใต้ข้อบังคับของสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT)
ส่วนทางด้านเกาหลีเหนือหลังจากมีการหยุดยิงกับกองกำลังสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐฯแล้ว ก็มุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพด้านนิวเคลียร์เริ่มจากนิวเคลียร์เพื่อสันติ แต่จากแรงกดดันของสหรัฐฯและตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกาหลี ที่นายพลแมคอาเธอร์ มีแนวคิดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการสกัดจีนที่ให้การสนับสนุนสงครามกับเกาหลีเหนือ ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือมองว่าจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปราม และเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังถอนตัวจาก NPT ในปี 2003 และปฏิเสธการตรวจสอบจาก IAEA โดยสิ้นเชิง
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกาหลีเหนือได้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หลายครั้ง และยังมีการทดสอบขีปนาวุธรุ่นต่างๆจนถึงขีปนาวุธข้ามทวีป(ICBM)
ในขณะที่อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้จะมีขีดความสามารถในการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมถึง 60% ซึ่งก็ยังไม่ใช่ระดับที่จะทำหัวรบนิวเคลียร์ แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอิหร่านมีวัตถุประสงค์จะทำอาวุธนิวเคลียร์ เพราะการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมมันเกินกว่าระดับที่จะใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงของการผลิตกระแสไฟฟ้า
ทว่าอิหร่านก็อ้างว่าเหตุที่ทำเช่นนั้น ก็เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและที่สำคัญ มันเป็นสิทธิและอำนาจอธิปไตยของอิหร่านที่จะทำได้ ตราบที่ยังไม่มีการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการใช้เพื่อกิจการแพทย์
ดังนั้นการที่ UN หรือสหรัฐฯจะทำการแซงก์ชั่นเกาหลีเหนือในฐานะที่ฝ่าฝืนมติ UN โดยการแซงก์ชั่น จึงดูว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรม
แต่ในประเด็นนี้ก็มีประเด็นคำถามว่า แล้วทำไมบางประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างอินเดีย และปากีสถาน จึงไม่ถูกแซงก์ชั่น
นอกจากนี้ก็ควรจะพิจารณาการถืออภิสิทธิของมหาอำนาจทั้ง 5 คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
ครั้นจะอ้างว่าประเทศมหาอำนาจจะมีความยับยั้งชั่งใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากกว่า แต่ในอดีตก็ปรากฏมาแล้วว่าสหรัฐฯซึ่งเป็นชาติแรกที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ก็ได้ใช้อาวุธนั้นโจมตี ญี่ปุ่น ที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ จนผู้คนล้มตาย และเจ็บป่วย อีกจำนวนมาก
กรณีของอิหร่านยิ่งชัดเจนถึงอคติและการมีสองมาตรฐานนั่นคือ อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ถูกแซงก์ชั่น จากตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯอย่างรุนแรง แม้จะผ่านการเจรจาจนเกิด JCPOA มาแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีการเจรจากับสหรัฐฯ ถึง 5 ครั้ง สุดท้ายก่อนการเจรจาครั้งที่ 6 ก็ถูกอิสราเอลลอบโจมตีด้วยข้ออ้างของการพัฒนานิวเคลียร์ แม้ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
ในทางตรงกันข้ามอิสราเอลนั้นมีอาวุธนิวเคลียร์ที่มีหัวรบจำนวนเกินกว่า 100 ลูก และยังมีแร่พลูโตเนียมสกัดที่พร้อมทำหัวรบนิวเคลียร์อีกไม่ต่ำกว่า 200 ลูก แต่ไม่เคยยอมให้มีการตรวจสอบและไม่ยอมอยู่ในสนธิสัญญา NPT ทว่าไม่เคยโดนแซงก์ชั่นเลย
หากมีการวิเคราะห์ในแง่ของที่ตั้ง และมุมมองในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ เกาหลีเหนือตั้งอยู่ในพื้นที่มีหลังพิงที่มั่นคงนั่นคือ จีนและรัสเซีย
แต่อิหร่านนั้นนอกจากเป็นปราการด่านสุดท้ายของการสร้างอิทธิพลในตะวันออกกลางของอิสราเอล ในฐานะตัวแทนสหรัฐฯแล้วอิสราเอลยังมีแผนขยายดินแดนด้วย แผนการสร้าง THE GREATER ISRAEL
หากอิหร่านถูกทำลายลงอิสราเอลและสหรัฐฯ ก็จะสมประโยชน์ในการแผ่อิทธิพลในการครอบงำตะวันออกกลาง เพราะไม่มีอิหร่านเป็นก้างขวางคอ
แต่ในมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ตามทฤษฎี HEARTLAND ของแมคคินเดอร์ อิหร่านยังเป็นประตูไปสู่พื้นที่ HEART LAND ซึ่งถ้าใครได้ครอบครองหรือมีอิทธิพลต่อพื้นที่นั้นก็เท่ากับการครอบครองโลกทีเดียว นั่นคือพื้นที่เอเชียกลาง ประกอบด้วยเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิซสถาน ทาจีกิสสถาน คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน
เพราะพื้นที่นี้คือตัวเชื่อมยุโรป แอฟริกา และพื้นที่ขนาดใหญ่ของทวีปเอเชีย คือ รัสเซีย และจีน รวมทั้งอินเดีย
ดังนั้นทั้งนั้นรัสเซียและจีนจึงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้อิหร่านต้องถูกตะวันตกทำลายในฐานะด่านหน้า
กล่าวโดยสรุปไม่ว่าจะมีความพยายามเจรจาหรือไม่ ปัญหาการต่อสู้กันระหว่างตะวันตกกับตะวันออกก็ไม่อาจยุติได้ตามมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ของแมคคินเดอร์
ดังนั้นแม้สงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล จะมีการหยุดยิงแต่อีกไม่นานก็ต้องรบกันอีก และจะรุนแรงยิ่งขึ้นอีกมาก ถึงขนาดที่อิสราเอลอาจนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำลายอิหร่าน
ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามนิวเคลียร์และสงครามโลกครั้งที่ 3 ในที่สุด