สันติธาร ชี้ 5 ข้อไทยต้องตอบตัวเอง หลังเวียดนามดีลภาษีจบ อาจเป็นมาตรฐานใหม่ให้ประเทศอื่น
สันติธาร ชี้ 5 ข้อไทยต้องตอบตัวเอง หลังเวียดนามดีลภาษีจบ อาจเป็นมาตรฐานใหม่ให้ประเทศอื่น
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศบรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม โดยกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามไปยังสหรัฐ 20% และภาษี 40% สำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านประเทศ
ล่าสุด ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต อดีตผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีและภาคการเงินระดับโลก ได้
โดยระบุข้อความว่า “เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าได้ “ดีล” กับเวียดนามสำเร็จ โดยมีหัวใจสำคัญคือ :
- 40% ภาษี สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่าเป็น “Transshipping”-สินค้าจากประเทศอื่น (เช่น จีน) ที่เพียง “ผ่าน” เวียดนาม แล้วแปลงร่างเป็นสินค้าจากเวียดนามก่อนส่งไปสหรัฐ
- 20% สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป
- 10% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด
- และเวียดนามจะเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ แบบ “ศูนย์ภาษี” (Zero Tariff) และศูนย์แบบไม่มีการกีดกันอื่นด้วย
แม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ แต่จริงๆ แล้วอาจกลายเป็นต้นแบบของแนวทางใหม่ที่สหรัฐฯ จะใช้ต่อประเทศที่ “เกินดุลการค้า” กับอเมริกา… ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น
แต่รายละเอียดของดีลนี้ ยังไม่ชัดเจน-และนั่นคือประเด็นสำคัญ
1.คำจำกัดความของ Transshipping มีผลชี้ขาด
ถ้าภาษี 40% ใช้เฉพาะกับการ “เลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน” ผลกระทบอาจจำกัด แต่ถ้าขยายความหมายให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่มี สัดส่วนชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนหรือประเทศอื่นมาก แม้จะแปรรูปในเวียดนามจริง ผลกระทบจะขยายวงกว้าง
2.ภาษีอาจ “แปรผันตามสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า”
รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ภาษีอาจขึ้นกับสัดส่วน foreign content ถ้านำเข้าชิ้นส่วนมาก → เสียภาษีสูง (ราว 20%) ถ้าผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด → อาจเสียแค่ 10%
3.ภาษีอาจลดลงในอนาคต สำหรับสินค้าบางประเภท
รายงานจาก Politico ชี้ว่า ทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างการร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ อาจลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าหลายหมวด เช่น เทคโนโลยี รองเท้า สินค้าเกษตร ของเล่น ถ้าเป็นจริง ภาษีเฉลี่ยที่เวียดนามต้องจ่ายอาจต่ำกว่าที่ประกาศไว้มาก
แล้วไทยควรถามตัวเองอะไรบ้าง?
1.สูตร 40-20-10-0 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ หรือไม่? หากเวียดนามกลายเป็นต้นแบบ และสหรัฐฯ นำแนวทางนี้ไปใช้กับประเทศอื่น ไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งในแง่การเจรจาเชิงนโยบาย และการปรับตัวเชิงโครงสร้าง
2.หากไทยต้อง ‘เปิดหมด’ ให้สินค้าสหรัฐแนวเดียวกับเวียดนาม ผลกระทบคืออะไร เรามีมาตราการเยียวยาอุตสาหกรรม และ ผู้ถูกกระทบโดยเฉพาะคนตัวเล็กพอไหม
3.ระบบพิสูจน์ “แหล่งที่มา” ของสินค้าจากไทย เข้มแข็งพอหรือยัง? ถ้าภาษีขึ้นกับสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า ประเทศที่ไม่มีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้ อาจถูกตีความให้ต้องเสียภาษีสูงเกินจริง แม้จะไม่ได้ทำผิด
4.ถ้าไทยต้องดีลแบบเดียวกัน “ใครได้–ใครเสีย” และภาษีจะหนักหรือเบาแค่ไหน? บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน บางอุตสาหกรรมในประเทศอาจโดนสินค้านำเข้าแย่งตลาด ส่วนภาษีที่ไทยจะเจอ จะขึ้นกับ 2 ปัจจัย : ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน โครงสร้าง supply chain ของเรามี foreign content และสินค้าปลอมตัวเป็นไทยมากแค่ไหน
5.ไทยพร้อมจะ “ยกเครื่องโครงสร้างการผลิต” เพื่อสร้างแต้มต่อหรือยัง?
สูตร 40-20-10-0 ไม่ใช่แค่ภาษีแต่มันสะท้อนว่าโลกการค้าใหม่อาจจะให้รางวัลกับประเทศที่สร้างมูลค่าในประเทศได้จริง (มากยิ่งกว่าเดิม) จึงต้องเร่งลงทุนและปรับฐานการผลิตใหม่ ไม่ให้ตกขบวนของโลกยุคใหม่
ข้อตกลงเวียดนาม–สหรัฐฯ ไม่ใช่จุดจบ แต่คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการค้าแบบใหม่ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ที่กำลังเจรจาครับ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สันติธาร ชี้ 5 ข้อไทยต้องตอบตัวเอง หลังเวียดนามดีลภาษีจบ อาจเป็นมาตรฐานใหม่ให้ประเทศอื่น
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th