วิทัย รัตนากร ลั่น ตัดสินใจได้อิสระ ปราศจากอำนาจครอบงำ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสิน ตัวเต็งที่คาดว่า จะได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โพสต์เฟชบุ้คส่วนตัว “Vitai Ratanakorn” ในหัวข้อ “จากใจ…ของผม”
นายวิทัยระบุว่า ที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็น CEO ในหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละตำแหน่งย่อมมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ประสบการณ์และตัวตนที่ชัดเจน ทำให้เชื่อมั่นว่า สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ บนหลักการ ยึดถือผล ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
“ปราศจากอำนาจ ครอบงำจากกลุ่มใดๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น และขอยืนยันในจุดยืนที่มั่นคงนะครับ - with humility & respect krub”
พร้อมแฮชแท็กซ์ #น้อมรับคำแนะนำครับ #รับทราบความกังวลครับ
การออกมาโพสต์ข้อความดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากนางธาริษา วัฒนาเกส อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2568 ที่ออกแสดงความกังวลว่า ถ้าท่านเลือกผู้ว่าการที่ประสบการณ์การทำงานเดิมต้องสนองนโยบายของรัฐจนเป็นความเคยชิน จึงยากที่จะคาดหวังให้ทำหน้าที่ของผู้ว่าการอย่างเป็นอิสระ
นางธาริษาระบุในจะดหมายเปิดผนึกว่า ขณะนี้ท่านมีรายชื่อแคนดิแดทผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในมือสองคน อยู่ที่ท่านว่าจะเสนอใครต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เรื่องความเหมาะสมมีการพูดกันมากแล้ว
ดิฉันใคร่ขอเตือนสติท่านเพียงประเด็นเดียวว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ว่าการธนาคารกลางคือ การทำนโยบายอย่างเป็นอิสระจากการเมือง หรือที่เราเรียกว่า Central Bank Independence ซึ่งเป็นสิ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายของธนาคารกลาง
และมีผลพวงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศด้วย ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางและรัฐบาลจะต้องขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายของการทำนโยบายระยะสั้นยาวไม่เท่ากัน
การทำนโยบายของธนาคารกลางซึ่งมุ่งเน้นผลในระยะยาว จึงเป็นการถ่วงดุลไม่ให้มีแต่นโยบายระยะสั้นจนเป็นผลเสียในระยะยาว การเป็นอิสระจากการเมือง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เราเคยเห็นตัวอย่างแล้วจากต่างประเทศว่าการขาดความอิสระของธนาคารกลางสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไร
เช่นในตุรกีในสมัยประธานาธิบดี Erdogan การแทรกแซงทางการเมืองทำให้นโยบายการเงินขาดความเป็นอิสระ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไปเป็นเวลานาน เป็นผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก
คนทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยซึมซับถึงหลักการสำคัญข้อนี้ดี ตรงกันข้าม ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจคุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหายรัฐบาล ก็ต้องชดเชยให้ (ตามกติกาการกันสำรองหนี้สูญหรือเพิ่มทุนของการกำกับดูแลของ ธปท.)
จึงไม่มีความเสี่ยงกับองค์กรในการรับนโยบายของรัฐบาลมาทำ ซึ่งต่างจากกรณีขององค์กรเช่น ธปท. อย่างมาก เพราะถ้าเกิดความเสียหายคือความเสียหายของประเทศชาติ
ดังนั้น ถ้าท่านเลือกผู้ว่าการที่ประสบการณ์การทำงานเดิมต้องสนองนโยบายของรัฐจนเป็นความเคยชิน จึงยากที่จะคาดหวังให้ทำหน้าที่ของผู้ว่าการอย่างเป็นอิสระ ที่จริงยังไม่ต้องทำนโยบายอะไร เพียงแค่ประวัติและประสบการณ์ที่ก่อให้เกิด perception ว่า
ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และเคยสนองนโยบายของรัฐบาลมาตลอดในฐานะผู้บริหารของธนาคารของรัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อสถาบันนี้ก็จะเสื่อมถอยไปทันที ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศก็เลือกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว
ท่ามกลางความท้าทายที่รุมเร้าจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงอยู่ที่ระดับ 87.5% และยังมีผลกระทบของสงครามการค้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 36%
ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อธนาคารกลางเสื่อมถอยไปอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศชาติหดหายไปมากยิ่งขึ้นอีก