แวดวงเฟมินิสต์เศร้า ! สูญเสีย รศ.จี๊ด สุชีวัน สาวแกร่ง 6 ตุลาฯ อดีตปธ.หญิงกลุ่ม 10 สถาบัน
อีกหนึ่งการสูญเสียบุคคลสำคัญ แวดวงวิชาการไปจนกลุ่มคนรักเฟมินิสต์ ร่วมอาลัย รศ.สุชีลา ตันชัยนันท์ นักต่อสู้สิทธิสตรี อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ถึงกายจากแต่วีรกรรมยังเป็นที่จดจำ สำหรับ รศ.สุชีลา ตันชัยนันท์ อดีตนศ.ผู้เรียกร้องสิทธิสตรี กับภาพจำความรุนแรงบนรถเมล์ใน “6 ตุลาฯ“
ทั้งนี้ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนสิทธิสตรี และหนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ “6 ตุลา” ที่ถูกคุมขังในคุกเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี ได้จากโลกนี้ไป ซึ่งจากรายงานของ October Network ระบุ “แจ้งข่าวเศร้า ! พี่จี๊ด สุชีลาตันชัยนัันท์ อดีต18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา เสียแล้วบุตรสาวบุญธรรมของ อ.สุชีลา ชื่อคุณมณฑาทิพย์ขอแจ้งมาเพื่อทราบตามความประสงค์ของคุณแม่ว่า ตอนนี้คุณแม่จากไปแล้ว พิธีรดน้ำจะจัดพรุ่งนี้ 6 ก.ค.บ่ายและเริ่มสวดคืนแรก ที่วัดปริวาส ถ.พระราม 3 คาดว่าจะสวด 3 คืนอยู่ระหว่างหารือกับทางวัด มีความคืบหน้าใดๆ จะแจ้งเพิ่มเติม
ล่าสุดทางบุตรสาวบุญธรรมแจ้งว่าช่วงบ่าย จะย้ายศพ
จาก รพ.ศิริราชมาที่วัดปริวาส ถ.พระราม3 ช่วงเย็น ราว 16.00 น. พิธีรดน้ำศพ ช่วง 18.00 น. สวดพระอภิธรรม
อัปเดตล่าสุดจากเฟซบุ๊ก สุนี ไชยรส ลงโพสต์วันนี้ (7 ก.ค.) จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมวันสุดท้าย ฌาปนกิจ พรุ่งนี้ 8 ก.ค. เวลา 11.00 น. ณ วัดปริวาส พระราม 3 ชวนเพื่อนพ้องพี่มิตรสหาย มาส่งจี๊ด สุชีลา ตันชัยนันท์ด้วยกันนะคะ
จากรายงานไม่ได้ระบุ ตัวเลขสิริอายุรวมที่แน่ชัด แต่อ้างอิงจากข่าวไทยรัฐ สมัยที่ รศ.จี๊ด ตกเป็นจำเลยที่ 10 เนื้อหาระบุ สุชีลา ตันชัยนันท์ (อายุ 22 ปี) นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รองเลขาธิการ ศนท. ฝ่ายสังคมและการศึกษา ปี 2519 ซึ่งจากข้อมูลนี้นับจนวันที่มีการแจ้งข่าวการสูญเสียจึงคาดว่า อายุน่าจะตกราว 70-71 ปี
ใน่สวนของประวัติที่ต้องจำนั้น อ้างอิงข้อมูล : เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ให้รายละเอียดว่า “สุชีลา” เกิดในครอบครัวเป็นชนชั้นกลางเชื้อสายจีน
เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2516 ซึ่งเป็นเวลาที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างเด่นชัด โดยสุชีลาเข้าร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน ปี 2516 จากกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้คัดชื่อนักศึกษาออก 9 คน แต่สุชีลาไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
ในเดือนต.ค.2516 ซึ่งอยู่ในช่วงการสอบ สุชีลาเดินทางมามหาวิทยาลัยเพื่อมาสอบตามปกติ แต่มีประกาศงดการสอบ เธอกับเพื่อน ๆ ก็ได้เป็นนักศึกษากลุ่มแรก ๆ ที่ไปฟังการอภิปรายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แล้วเข้าร่วมต่อสู้กับนักศึกษาเป็นครั้งคราว หลังผ่านเหตุการณ์ “14 ตุลา” สุชีลาจึงค่อย ๆ เริ่มมีบทบาทในขบวนการนักศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิก “กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์”
ปี 2515 มีการตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ขึ้นเป็นกลุ่มอิสระ เช่นเดียวกับกลุ่มสภาหน้าโดม โดยกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในสังคม ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การจัดกลุ่มศึกษาปัญหาการทำแท้ง ปัญหาโสเภณี รณรงค์ต่อต้านการประกวดนางสาวไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ การเข้าร่วมสัมนาค่ายอาสาพัฒนาชนบททั่วประเทศ ที่ขอนแก่น และเชียงใหม่ ฯลฯ
เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้สุชีลาหันสนใจ “เรื่องสิทธิสตรี” เนื่องจากเคยทำกิจกรรมร่วมกับโสเภณีจนทำให้เปลี่ยนความคิด สุชีลาเล่าว่า ในตอนที่เธอจัดโครงการสอนหนังสือให้ผู้หญิงโสเภณีบ้านปากเกร็ด เธอยังมีทัศนคติแบ่งผู้หญิงดีและเลวอยู่อย่างหนักแน่น และรู้สึกว่าไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนเหล่านั้น กลัวว่าหากที่บ้านทราบจะถูกดุ แต่เมื่อสุชีลาได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตของผู้หญิงโสเภณีด้วยตนเอง ความคิดของเธอจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนในที่สุดจึงเปลี่ยนความคิด และได้ข้อสรุปว่า “โสเภณี คือ การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ผู้หญิงโสเภณีจึงมีรากเหง้ามาจากระบบทาสในสังคมไทย”
สุชีลาจึงเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเพื่อสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น เธอมีแนวคิดว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงนั้นสอดคล้องกับการกดขี่ทางชนชั้น ที่ชนชั้นปกครองผู้กดขี่กระทำกับประชาชนของตน ในสังคมนั้น ผู้หญิงจึงถูกกดขี่ถึงสองชั้น คือ การกดขี่ทางชนชั้น และการกดขี่ทางเพศ
ในปี 2517 สุชีลาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ ปีต่อมากลุ่มนักศึกษาหญิงจากหลายสถาบันการศึกษารวมกลุ่มกันโดยมีสุชีลาเป็นผู้ประสานงาน ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสิทธิสตรี เช่น รณรงค์ให้ผู้หญิงไทยตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนต่อประเทศชาติ, ตีพิมพ์บทความเผยแพร่แนวคิดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหลายผลงาน และเข้าร่วมการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่กรรมกรหญิง เป็นต้น
ต่อมาปี 2518 เมื่อหมดวาระจากตำแหน่งประธานกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ สุชีลาได้เข้าร่วมกับ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” รับผิดชอบงานด้านวิเทศสัมพันธ์ และยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษาจากพรรคพลังธรรม ซึ่งมี “ธงชัย วินิจจะกูล” เป็นประธานสภานักศึกษา
ปีถัดมา สุชีลายังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฝ่ายสังคมและการศึกษา ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่งานหลักยังเป็นวิเทศสัมพันธ์ สุชีลาเล่าว่า ระยะเวลานี้ทำงานหนักขึ้น บางครั้งประชุมหามรุ่งหามค่ำกว่าจะเสร็จก็เป็นเวลาตีสี่ แล้วต้องแยกย้ายกันไปแจ้งมติการประชุมกับกลุ่มอิสระต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนบ้าง ไม่ได้เข้าเรียนบ้าง
จนเมื่อถึงเหตุการณ์ “6 ตุลา” สุชีลาเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกเจ้าหน้าที่ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .
อ่านข่าวเพิ่มเติม